นะชาลีติ (บาลีวันละคำ 4,603)

นะชาลีติ
ตีความตามที่พอจะเข้าใจได้
อ่านว่า นะ-ชา-ลี-ติ
แยกศัพท์ตามที่เข้าใจ ไม่รับประกันว่าถูก เป็น นะ + ชาลี + อิติ
(๑) “นะ”
คำบาลี ถ้าเขียนว่า “น” ตัวเดียว อยู่คำเดียว อ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not) เขียนแบบไทยเป็น “นะ”
แต่ในที่นี้พึงทราบว่า “นะ” ไม่ใช่คำนิบาต และไม่ได้แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not) ดังที่แสดงมา แต่เป็นคำที่มีความหมายดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“นะ ๒ : (คำนาม) ชื่อตัวตั้งธาตุน้ำของเวทมนตร์คาถาทางเมตตามหานิยม เช่น เขาคงมีนะดี ใคร ๆ เห็นก็เมตตา.”
คำว่า “ชื่อตัวตั้งธาตุน้ำ” หมายถึง ธาตุน้ำในทางเวทมนตร์คาถามีชื่อเรียกเป็นคำตั้งว่า “นะ”
ทำไมธาตุน้ำจึงมีชื่อตัวตั้งว่า “นะ” หรือ “นะ” ย่อมาจากคำว่าอะไร ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้ศึกษา จะสันนิษฐานว่า “นะ” เป็นคำขึ้นต้นของคำบาลีคำใดคำหนึ่งที่แปลว่า “น้ำ” ก็ยังไม่พบคำนั้น
คำบาลีที่แปลว่า “น้ำ” เท่าที่พอจะรวบรวมได้มีดังนี้ –
อณฺณ (อัน-นะ)
อมฺพุ (อำ-พุ)
อาป (อา-ปะ)
อุทก (อุ-ทะ-กะ)
ชล (ชะ-ละ)
โตย (โต-ยะ)
ทก (ทะ-กะ)
นีร (นี-ระ)
ปานีย (ปา-นี-ยะ)
วาริ (วา-ริ)
สลิล (สะ-ลิ-ละ)

หากจะมีคำบาลีที่ลึกซึ้งหรือลึกลับคำใดอีกที่แปลว่า “น้ำ” หรือคำที่เหมือนเส้นผมบังภูเขาที่มองข้ามไป ตลอดจนปัญหาที่ว่า คำว่า “นะ” ที่เป็น “ชื่อตัวตั้งธาตุน้ำ” มีที่มาที่ไปอย่างไร ขอฝากท่านผู้รู้ช่วยบูรณาการให้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
(๒) “ชาลี”
คำเดิมมาจาก ชาล + อี ปัจจัย
(ก) “ชาล” (ชา-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ชล (น้ำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ช-(ล) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ชล > ชาล)
: ชล + ณ = ชลณ > ชล > ชาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในน้ำ”
(2) ช (แทนศัพท์ว่า “สีฆ” = เร็ว) + ลา (ธาตุ = จับ, ถือเอา) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ ช เป็น อา (ช > ชา), ลบสระที่สุดธาตุ (ลา > ล)
: ช + ลา = ชลา > ชล + อ = ชล > ชาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือจับเนื้อเป็นต้นที่วิ่งเร็ว”
“ชาล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ตาข่าย; ร่างแห, เครื่องกีดกัน (a net; netting, entanglement); หลุมพราง, การหลอกลวง (snare, deception)
(ข) ชาล + อี ปัจจัย : ชาล + อี = ชาลี แปลว่า “ผู้มีข่าย”
ในภาษาไทย คำว่า “ชาลี” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ชาลี” บอกไว้ว่า –
“ชาลี : (คำนาม) ผู้มีร่างแห, ผู้มีตาข่าย. (ป., ส. ชาล ว่า ร่างแห).”
“ชาลี” ที่คุ้นกันดีในแวดวงพระพุทธศาสนา เป็นชื่อพระโอรสของพระเวสสันดร เป็นพี่ของ “กัณหาชินา” เหตุที่ได้นามเช่นนี้นัยว่าเมื่อประสูตินั้นชาวพนักงานนำข่ายทองเข้าไปรองรับ
(๓) “อิติ”
อ่านว่า อิ-ติ เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม
เช่นในที่นี้ “อิติ” สนธิกับ “ชาลี” ที่อยู่ข้างหน้า คำว่า “อิ-” หายไป เหลือเพียง “-ติ”
: ชาลี + อิติ = ชาลีติ
ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย
: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป”
ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –
(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้
(2) ว่าดังนี้
(3) ด้วยประการนี้
(4) ชื่อ
(5) คือว่า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรง ๆ แต่บอกไว้ว่า –
(1) “thus” (เช่นนั้น)
(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)
(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

สรุปว่า “อิติ” จะแปลว่าอะไร ขึ้นอยู่กับบริบท
นะ + ชาลี + อิติ = นะชาลีติ แปลตามที่เห็นว่า “ขอให้ ‘นะ’ จงเป็นข่าย (ดักเอาสิริมงคลและโชคดีเป็นต้นมาไว้) ด้วยเทอญ”
“นะชาลีติ” เป็นส่วนหนึ่งของบทคาถาที่นับถือกันว่ามีอานุภาพในทางเมตตามหานิยมเป็นต้น บางทีเรียกว่า “หัวใจพระสีวลี” ต้นฉบับนิยมเขียนเป็นอักษรขอม (ดูภาพประกอบ)
ประกาศ :
ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่ง เมื่อจะพูดถึงคำว่า “นะชาลีติ” ขอความกรุณาอย่านำความคิดเห็นที่แสดงไว้นี้ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด ไปอ้างอิงเพื่อจะสนับสนุนหรือคัดค้านความเชื่อถือในประเด็นใด ๆ เป็นอันขาด ยกเว้นการอ้างอิงในฐานะหลักวิชาภาษาบาลี
ขอได้โปรดอ่านไว้ฟังไว้เพียงเพื่อเป็นการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนบาลีคนหนึ่งเท่านั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ควรเรียนรู้ทุกอย่าง
: แต่ไม่ควรเชื่อทุกอย่าง
: และอย่าปฏิบัติตามไปหมดทุกอย่าง
#บาลีวันละคำ (4,603)
18-1-68
…………………………….
…………………………….