บาลีวันละคำ

มุขมนตรี (บาลีวันละคำ 302)

มุขมนตรี

(บาลีไทย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 กำหนดให้อ่านว่า มุก-ขะ-มน-ตฺรี และให้ความหมายว่า “ที่ปรึกษาราชการชั้นผู้ใหญ่”

มุขมนตรี” ประกอบด้วยคำว่า มุข + มนตรี

มุข” บาลีอ่านว่า มุ-ขะ แปลว่า ปาก, ใบหน้า, หัวหน้า ในที่นี้ “มุข” หมายถึงหัวหน้า หรือ ผู้เป็นประธาน

มนตรี” บาลีเป็น “มนฺตี” (มัน-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “คนมีความคิด” ใช้ในความหมายว่า ที่ปรึกษา, อำมาตย์, เสนาบดี

มุข” และ “มนฺตี” มีใช้ในคัมภีร์ทั่วไป แต่ที่รวมเป็นคำเดียวกันว่า “มุขมนฺตี” ไม่พบในคัมภีร์

พจนานุกรมไทย-อังกฤษ ของ สอ เสถบุตร แปล “มุขมนตรี” ว่า chief minister

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล chief minister เป็นคำบาลีว่า “มหามตฺต

มหามตฺต” (มะ-หา-มัด-ตะ) มีใช้ในคัมภีร์ทั่วไป นักบาลีไทยแปลทับศัพท์ว่า “มหาอำมาตย์” หมายถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้ปฏิบัติงานของพระเจ้าแผ่นดิน

ตามนัยนี้ “มุขมนตรี” ควรหมายถึง “หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดิน”

อินเดียซึ่งแบ่งการปกครองเป็นรัฐ เรียกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐต่างๆ ว่า “ประธานมนตรี” ซึ่งตรงกับ “มุขมนตรี” นั่นเอง (ประธานมุข = หัวหน้า)

เตือนความจำ :

มนฺตีมนตรี แปลว่า “คนมีความคิด

ดังนั้น ไม่ว่า “มุข–” ว่า “รัฐ–”, หรือ “นายกรัฐ–”

“–มนตรี” ระดับไหน ก็ขออย่าให้ไร้ความคิด

———

(เนื่องมาจากคำถามของ Supachoke Thaiwongworakool)

บาลีวันละคำ (302)

9-3-56

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย