บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่รู้เรื่อง “จำนำพรรษา”

ความไม่รู้เรื่อง “จำนำพรรษา”

—————————-

คำว่า “จำนำพรรษา” เป็นคำเดียวกับ “จำพรรษา” 

คือ “จำ” แผลงเป็น “จำนำ”

แบบเดียวกับ –

จง แผลงเป็น “จำนง”

จน > “จำนน”

จ่าย > “จำหน่าย”

แจก > “จำแนก”

เพราะฉะนั้น จำ > “จำนำ”

คำว่า “พรรษา” ภาษาบาลีว่า “วสฺส” (วัด-สะ) แปลว่า “ฝน” หรือ “ฤดูฝน” ถ้าใช้เป็นพหูพจน์ก็เป็น “วสฺสา” เสียงเดียวกับ “พรรษา” พอดี (“พรรษา” เป็นรูปคำอิงสันสกฤต)

ถ้าหมายถึงอะไรสักอย่างที่- “เกี่ยวกับพรรษา” (เกี่ยวกับฤดูฝน) ภาษาบาลีใช้ว่า “วสฺสิก” (วัด-สิ-กะ) 

เช่น “วสฺสิกสาฏก” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ) เขียนแบบไทยเป็น “วัสสิกสาฎก” อ่านว่า วัด-สิ-กะ-สา-ดก แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันเขาใช้ในฤดูฝน” คำนี้คือที่เราเอามาแปลและเรียกกันว่า “ผ้าอาบน้ำฝน”

“จำพรรษา” ถ้าเป็นคำนามที่หมายถึง “การอยู่จำพรรษา” หรือที่เราคุ้นกับคำว่า “เข้าพรรษา” ภาษาบาลีมีคำเรียกหลายคำ คือ :

“วสฺสวาส” = วสฺส+วาส (วัด-สะ-วา-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ตลอดฤดูฝน”

“วสฺสาวาส” = วสฺส+อาวาส (วัด-สา-วา-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ตลอดฤดูฝน”

“วสฺสูปคมน” (วัด-สู-ปะ-คะ-มะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปสู่ฤดูฝน”

“วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “การใกล้เข้ามาของฤดูฝน”

ถ้าหมายถึงพระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาเสร็จแล้ว (One who has kept Lent or finished the residence of the rains) คือ อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนจนกระทั่งออกพรรษาแล้ว (ไม่ใช้กำลังอยู่ในระหว่างเข้าพรรษาหรือก่อนเข้าพรรษา) ภาษาบาลีใช้คำว่า “วสฺสวุตฺถ” (วัด-สะ-วุด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีฤดูฝนอันตนอยู่เสร็จแล้ว” หรือ “วสฺสํ วุตฺถ” (วัด-สัง-วุด-ถะ) แปลว่า “ผู้อยู่เสร็จแล้วตลอดฤดูฝน” = ผู้จำพรรษาครบสามเดือนแล้ว หรือ ผู้ออกพรรษาแล้ว

มีอยู่คำหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ “วสฺสาวาสิก” = วสฺส+อาวาสิก (วัด-สา-วา-สิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวกับการอยู่จำพรรษา” (belonging to the spending of the rainy season) 

“วสฺสาวาสิก” ก็เอาคำว่า “วสฺสาวาส” (ดูข้างต้น) นั่นเองมาประกอบปัจจัยตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ 

แบบเดียวกับ “วสฺส” = ฝน, ฤดูฝน เป็น “วสฺสิก” = เกี่ยวกับพรรษา, เกี่ยวกับฤดูฝน

“วสฺสาวาส” = การอยู่จำพรรษา เป็น “วสฺสาวาสิก” = เกี่ยวกับการอยู่จำพรรษา

“วสฺสาวาสิก” หมายถึงอะไร 

พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๖๑ เป็นพระวินัยปิฎก กล่าวถึงอำมาตย์ผู้หนึ่งจะต้องไปราชการสงคราม ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะรอดตายกลับมาได้หรือไม่ ก็อยากจะถวาย “วัสสาวาสิก” เป็นการล่วงหน้า จึงนิมนต์พระไปรับที่บ้าน พระไม่ไปรับ อ้างเหตุผลว่า

วสฺสํ  วุตฺถานํ  ภควตา  วสฺสาวาสิกํ  อนุญฺญาตํ

แปลว่า “วัสสาวาสิก” เป็นสิ่งที่พระผู้พระภาคทรงอนุญาตสำหรับภิกษุผู้ออกพรรษาแล้ว

ได้ความตามเรื่องนี้ว่า “วัสสาวาสิก” ก็คือ ผ้าสำหรับทำจีวร หรืออาจเป็นจีวรสำเร็จรูปก็ได้ เป็นผ้าสำหรับถวายพระเมื่อออกพรรษาแล้ว

ได้ความรู้อีกว่า พระสงฆ์ในครั้งพุทธกาลผลัดเปลี่ยนจีวรกันปีละครั้งในช่วงเวลาหลังจากออกพรรษาแล้ว

ผ้า “วัสสาวาสิก” นี้ท่านแปลกันมาว่า “ผ้าจำนำพรรษา” คือผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษาครบกำหนดเวลาแล้ว

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความว่า ผ้าจำนำพรรษากับผ้ากฐินมีคติอย่างเดียวกัน คือเป็นผ้าที่ถวายเพื่อให้พระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนจีวรชุดใหม่

กฐิน เราทอดกันเมื่อออกพรรษาแล้ว ฉันใด

ผ้าจำนำพรรษาก็ถวายเมื่อออกพรรษาแล้ว ฉันนั้น

แต่เป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่งในสังคมไทยเรา เราทอดกฐินกันเอิกเกริกมาก แต่ไม่มีใครถวายผ้าจำนำพรรษา และแทบจะไม่มีคนรู้จักผ้าจำนำพรรษาเอาด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่เป็นผ้าที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อให้พระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนจีวรชุดใหม่

ต่างกันเพียงแค่-

ผ้ากฐิน ถวายแก่สงฆ์

ผ้าจำนำพรรษา ถวายแก่สงฆ์ก็ได้ ถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นส่วนตัวก็ได้

————-

แต่ที่แปลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีคนเอาคำว่า “จำนำพรรษา” ไปเรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาว่า “เทียนจำนำพรรษา”

โปรดเข้าใจหลักภาษาอันเป็นหลักวิชาการนะครับว่า “จำนำพรรษา” แปลมาจากคำว่า “วสฺสาวาสิก” ซึ่งหมายถึง “ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว”

เงื่อนไขสำคัญอยู่ตรงที่ว่า 

๑ เป็น “ผ้า”

๒ ถวายเมื่อออกพรรษาแล้ว 

อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “จำนำพรรษา” คือ “ผ้าจำนำพรรษา”

แต่นี่กลับตาลปัตร 

๑ ถวายก่อนเข้าพรรษา 

๒ แล้วก็ไม่ใช่ผ้า แต่เป็น “เทียน”

แต่ไพล่ไปเรียกว่า “-จำนำพรรษา”

เหตุผลในการที่เรียกเช่นนี้มีเพียงข้อเดียว คือ เพราะไม่รู้

แต่ที่ลึกลงไปอีกก็คือ เพราะรู้ผิด

ไม่รู้นั้น แก้ง่าย บอกให้รู้หรือแนะให้ไปหาความรู้ พอรู้แล้วก็หาย คือต่อไปก็ใช้ถูก พูดถูก

แต่รู้ผิดนี่แก้ยาก หรือน่าจะแก้ไม่ได้ คือ แม้บอกให้รู้หรือแนะให้ไปหาความรู้ ก็ไปหาความรู้จนถึงขั้นรู้แล้ว แต่ก็ไม่หาย คือก็ยังคงยืนยันหัวชนฝาว่า ใช้ว่า “เทียนจำนำพรรษา” นั้นถูกต้องแล้ว และจะขอใช้อย่างนี้ต่อไปชั่วฟ้าดินสลาย

แบบเดียวกับคำว่า “จำวัด”

แม้จะบอกแล้วว่า “จำวัด” หมายถึงพระเณรนอนหลับ ไม่ได้หมายถึงพระอยู่ประจำวัดนั่นวัดนี่ แล้วยังบอกแหล่งที่มาให้ไปหาความรู้ที่ถูกต้องให้ด้วย ก็ตามไปดู ไปอ่านจนรู้แล้ว แต่พอจะเอ่ยถึงว่าพระ ก พระ ข อยู่วัดนั่นวัดนี่ ก็ยังคงใช้คำว่า พระ ก พระ ข “จำวัด” อยู่ที่วัดนั่นวัดนี่-อยู่นั่นเอง และคงจะใช้อย่างนี้ต่อไปชั่วฟ้าดินสลายอีกคำหนึ่ง

————-

ล่าสุดก็มีผู้อ้างหนังสือเก่า เรื่อง ประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาล ของท่านพระยาอนุมานราชธน 

ในหนังสือที่อ้าง ได้ยกข้อความในหนังสือเรื่องนางนพมาศตอนหนึ่งมาแสดงไว้ว่า

………….

ประทีปจำนำพระวรรษา

“ฝ่ายมหาชนประชาชนชายหญิงในตระกูลต่างๆ ทั่วไปทั้งพระราชอาณาเขตขัณฑสีมา ประชุมกันเป็นพวกเป็นเหล่าตามวงศ์คณาญาติ ต่างตกแต่งกรัชกายประกวดกันแห่เทียนจำนำพระวรรษาของตน ไปทางบกบ้าง เรือบ้าง เสียงพิณพาทย์ฆ้องกลองสนั่นไปทุกแห่งตำบล เอิกเกริกด้วยประชาชนคนแห่คนดู ทั้งทางบกทางน้ำ เป็นมหานักขัตฤกษ์

“แล้วเชิญประทีปจำนำพระวรรษาเข้าไปตั้งในอุโบสถวิหาร จุดตามบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือนทุกๆ อารามราษฎร์ ..

……………

ต่อจากนี้เป็นคำของท่านพระยาอนุมานราชธนเรียก “เทียนจำนำพรรษา” อีก ๓ แห่ง 

ผู้อ้างหนังสือเล่มนี้คงมีความตั้งใจจะยืนยันว่า นักปราชญ์ระดับท่านพระยาอนุมานราชธนยังใช้คำว่า “เทียนจำนำพรรษา” และแม้หนังสือเก่าขนาดนางนพมาศก็ยังใช้คำว่า “..จำนำ..” เพราะฉะนั้น คำว่า “เทียนจำนำพรรษา” จึงต้องเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว

————-

โปรดสังเกตว่า แม้หนังสือนางนพมาศนั่นเองก็เรียกต่างกันเป็น ๒ คำ คือแห่งหนึ่งเรียก “เทียนจำนำพระวรรษา” อีกแหน่งหนึ่งเรียก “ประทีปจำนำพระวรรษา”

แม้คำของท่านพระยาอนุมานราชธนเองก็ควรสังเกต เมื่อกล่าวต่อมาจากหนังสือนางนพมาศ ท่านเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” เข้าใจว่าเป็นการเรียกตามหนังสือนางนพมาศนั่นเอง แต่เมื่อกล่าวถึงการหล่อเทียนทางภาคอีสาน ท่านใช้คำว่า “เทียนเข้าพรรษา” (ดูภาพประกอบ) 

อนึ่ง ถ้าจะยึดตามหนังสือนางนพมาศ หนังสือนั้นเรียก “…จำนำพระวรรษา” ไม่ใช่ “..จำนำพรรษา” 

ถ้าเรียกตามหนังสือนางนพมาศต้องเรียก “เทียนจำนำพระพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพรรษา”

ท่านพระยาอนุมานราชธน เมื่อพูดต่อจากหนังสือนางนพมาศท่านก็เรียก “เทียนจำนำพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพระพรรษา”

ตกลงว่าท่านพระยาอนุมานราชธนท่านก็ไม่ได้เรียกตรงตามหนังสือนางนพมาศ แล้วพอกล่าวถึงการหล่อเทียนทางภาคอีสาน ท่านใช้คำว่า “เทียนเข้าพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพรรษา”

————-

ตกลงว่า เราจะเรียกตามใคร 

เรียกตามหนังสือนางนพมาศก็ไม่ใช่ 

เรียกตามท่านพระยาอนุมานราชธน ท่านก็เรียกเป็น ๒ คำ (“เทียนจำนำพรรษา” และ “เทียนเข้าพรรษา”)

ในหนังสือของท่านพระยาอนุมานราชธน ท่านบอกว่า “อยากทราบเรื่องต้องดูในหนังสือ พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน”

พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนพระราชพิธีเดือน ๗ มีเรื่องการพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา

ตลอดเรื่องตอนนี้ พระราชนิพนธ์ใช้คำว่า “เทียนพรรษา” ทุกแห่ง (ดูภาพประกอบ)

————-

ดังได้แสดงหลักวิชาแล้วว่า คำว่า “จำนำพรรษา” แผลงมาจาก “จำพรรษา” แปลมาจากศัพท์ว่า “วสฺสาวาสิก” และหมายถึง “ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว” 

ถ้าอ้างว่า “เทียนจำนำพรรษา” ใช้ตามหนังสือนางนพมาศ ก็ต้องเรียกว่า “เทียนจำนำพระพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพรรษา” เฉยๆ 

และต้องอธิบายได้ว่า “จำนำพรรษา” ที่เป็นคำเรียก “เทียน” นี้มีหลักฐานที่มาอย่างไร เมื่อรากเดิมท่านใช้เรียก “ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว” ไม่ใช่เรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษา

ถ้าหาที่มาไม่ได้ ชนเพดานอยู่แค่หนังสือนางนพมาศ ก็ต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของหนังสือนางนพมาศ

ถ้าอ้างว่าเรียกตามคำของท่านพระยาอนุมานราชธน ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าท่านพระยาอนุมานราชธนท่านเรียกตามใคร

ก็เห็นได้ว่าท่านเรียกตามหนังสือนางนพมาศ แต่ท่านก็ไม่ได้เรียก “เทียนจำนำพรรษา” คำเดียว ท่านเรียก “เทียนเข้าพรรษา” ด้วย

ถ้าเราเรียก “เทียนจำนำพรรษา” ตามท่าน ก็ต้องตอบได้ว่าทำไมจึงไม่เรียก “เทียนเข้าพรรษา” ตามท่านด้วยอีกคำหนึ่ง

————-

ระหว่างหนังสือของท่านพระยาอนุมานราชธน กับพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ข้างไหนน่าจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ท่านพระยาอนุมานราชธนท่านบอกเองว่า “อยากทราบเรื่องต้องดูในหนังสือ พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน”

พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนใช้คำว่า “เทียนพรรษา” ทุกแห่ง ไม่มีคำว่า “เทียนจำนำพระพรรษา” “เทียนจำนำพรรษา” หรือ “เทียนเข้าพรรษา”

อนึ่ง หนังสือของสำนักพระราชวัง ณ ปัจจุบันนี้ ก็ใช้คำว่า “เทียนพรรษา” ไม่ใช่ “เทียนจำนำพระพรรษา” “เทียนจำนำพรรษา” หรือ “เทียนเข้าพรรษา” (ดูภาพประกอบ)

————-

ที่ว่ามานี้ ฟังดูเหมือนกับว่าจะลบล้างคำของนักปราชญ์ แต่หาใช่มีเจตนาเช่นนั้นไม่ ในทางวิชาการเราย่อมมีสิทธิ์สงสัยและศึกษาสืบค้นหลักวิชาอย่างใดอย่างหนึ่งได้เสมอ นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะลบล้างของเดิม ที่ถูกควรเรียกว่าเราช่วยกันบูรณาการหรือต่อยอดให้หลักวิชานั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ถ้าท่านพระยาอนุมานราชธนยังมีชีวิตอยู่ ผมเชื่อว่าท่านจะต้องยินดีที่คนรุ่นหลังเอาใจใส่สืบค้นศึกษาเรื่องที่ท่านได้เคยศึกษาไว้ก่อนแล้ว และสามารถนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นกว้างขวางออกไป

เราท่านที่เป็นคนร่วมสมัยในเวลานี้และคนรุ่นต่อๆ ไปก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะศึกษาสืบค้นให้กว้างขวางต่อๆ ไปอีกได้เช่นกัน และด้วยอาการเช่นนี้แลสิ่งที่เรียกว่าความจำเริญทางวิชาการจึงจะเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และแผ่ขยายออกไปได้เรื่อยไป

และด้วยพื้นฐานแห่งความจำเริญเช่นนั้น เราก็จะสามารถทำถูก พูดถูก และคิดถูกตามที่ควรจะเป็น มิใช่สักแต่ว่าทำตามๆ กันไปอย่างเดียว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘

————————–

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *