ธรรมดา (บาลีวันละคำ 303)
ธรรมดา
คำนี้มาจากบาลีว่า “ธมฺมตา” อ่านว่า ทำ-มะ-ตา
ใช้ในภาษาไทยว่า “ธรรมดา” เป็นคำที่เข้าใจกันทั่วไปจนไม่ต้องแปล
ธมฺม + ตา = ธมฺมตา
“ธมฺม – ธรรม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลายหลาก ความหมายกลางๆ ในที่นี้ คือ ธรรมชาติ ธรรมดา ปกติ
“ตา” เป็นคำทางไวยากรณ์ ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–”
เทียบกับภาษาอังกฤษอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น happy แปลว่า สุข สบาย happiness แปลว่า ความสุข “-ตา” ก็เหมือน -ness นั่นแหละ
พจนานุกรมไทย-อังกฤษ ของ สอ เสถบุตร แปล “ธรรมดา” ว่า n. adj.natural, universal (laws), ordinary (man, matter), routine (work), usual (habit)
(สำหรับคนรุ่นใหม่ คำอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจความหมายของคำบาลีได้ดีขึ้น)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “ธรรมดา” ว่า –
“อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ เช่น การกิน การถ่ายเท การสืบพันธุ์ และการเสื่อมสลาย; สามัญ, พื้น ๆ, ปรกติ, เช่น เป็นเรื่องธรรมดา”
สัจธรรม : เมื่อใด เข้าใจและเข้าถึง “ธรรมดา” เมื่อนั้น พ้นทุกข์
บาลีวันละคำ (303)
10-3-56