บาลีวันละคำ

อาทิเช่น (บาลีวันละคำ 1,539)

อาทิเช่น

บาลีประสมไทย

อ่านว่า อา-ทิ-เช่น

(๑) “อาทิ” เป็นบาลีสันสกฤต รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือลบ อา ที่ ทา : ทา > )

: อา + ทา = อาทา > อาท + อิ = อาทิ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขาถือเอาทีแรก

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take)

อาทิ” เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง จุดเริ่มต้น, เบื้องแรก (starting-point, beginning)

อาทิ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า (beginning, initially, first, principal, chief)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของ “อาทิ” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ไว้ว่า –

beginning with, being the first (of a series which either is supposed to be familiar in its constituents to the reader or hearer or is immediately intelligible from the context), i. e. and so on, so forth. (เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง (พูดถึงลำดับอะไรก็ได้ที่เป็นของคุ้นแก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง หรือพอเป็นที่เข้าใจได้จากบริบท), นั่นคือ- และอื่น ๆ, และต่อๆ ไป)

อาทิ” สันสกฤตก็เป็น “อาทิ” เช่นกัน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาทิ : (คำคุณศัพท์) ต้น, ประถม, แรก; ก่อน; เปนเอก; อื่น; first, primary; prior; pre-eminent; other; – (วลี) และอื่นๆ; et cetera, and the rest, and so forth.”

อาทิ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อาทิ : (คำนาม) ต้น ในคําว่า เป็นอาทิ, เป็นเบื้องต้น, ทีแรก, ข้อต้น. (ป., ส.).”

(๒) “เช่น” เป็นคำไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เช่น : (คำนาม) อย่าง, ชนิด, เช่น รู้เช่นเห็นชาติ เช่นนี้ เช่นใด. (คำวิเศษณ์) เหมือน, ใช้นําหน้าคําประสมได้ แปลว่า อย่าง เช่น เช่นนี้ ว่า อย่างนี้, เช่นใด ว่า อย่างใด.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

เช่น : (คำนาม) อย่าง, ชนิด, เช่น รู้เช่นเห็นชาติ เช่นนี้ เช่นใด, คำที่แสดงว่าคำหรือความที่ตามมาเป็นตัวอย่าง. (คำวิเศษณ์) เหมือน เช่น เฉกเช่นชนชาติร้าย นอกนั้นนวลงาม (โลกนิติ).”

อาทิ + เช่น = อาทิเช่น เป็นคำประสม คือเอาคำ “อาทิ” ในบาลีสันสกฤตมาประสมกับ “เช่น” ในภาษาไทย

อันที่จริงควรจะกล่าวว่า “อาทิเช่น” เป็นคำ 2 คำ แต่เอามาพูดควบกัน

อภิปราย :

บางท่านบอกว่า “อาทิเช่น” เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง เพราะ “อาทิ” มีความหมายเท่ากับ “เช่น” อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น –

(1) อาทิ : ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม

(2) เช่น : ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม

อาทิเช่น” ไม่ควรถือว่าเป็นคำผิด เพราะเป็นคำซ้ำซ้อนแบบเดียวกับคำอื่นๆ อีกหลายคำที่นิยมใช้ในภาษาไทย เช่น ถ้วยชาม บ้านเรือน เสื่อสาด ถนนหนทาง

แต่ที่ควรระวัง เพราะมักใช้กันผิดก็คือ เมื่อใช้คำว่า “อาทิ” แล้ว ไม่ต้องมีคำว่า “เป็นต้น” มาต่อท้าย เพราะ “อาทิ” แปลว่า “เป็นต้น” อยู่แล้ว เช่น –

“ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น” – อย่างนี้ไม่ถูก ถือว่าซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น และไม่เข้าลักษณะคำซ้ำซ้อนในภาษาไทย

แต่ถ้าใช้คำว่า “เช่น” ควรจะลงท้ายด้วยคำว่า “เป็นต้น” ความจึงจะสมบูรณ์ เช่น –

“ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น

………….

: ฝรั่งว่า เริ่มต้นดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่ไม่พึงเชื่อฝรั่งทั้งหมด และอย่าประมาท

: เพราะโอกาสที่จะล้มเหลวก็ยังมีอีกตั้งครึ่งหนึ่ง

21-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย