ปัญหาเรื่องตั้งความปรารถนา
แค่ไหนอย่างไรคือสนใจเรื่องของคนอื่น
————————————
– ๒ –
อย่าใส่ใจเรื่องของผู้อื่น
…………………………
พระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอาชีวกชื่อปาฏิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ปเรสํ วิโลมานิ เป็นต้น
ชาวบ้านสรรเสริญธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
………………………………..
ดังได้สดับมา หญิงแม่เรือนคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี รับอุปัฏฐากอาชีวกชื่อปาฏิกะ รักอาชีวกนั้นเหมือนลูก คนทั้งหลายที่อยู่บ้านใกล้กันได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วมาพรรณนาพระพุทธคุณโดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า “เจ้าประคุณเอ๋ย! พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายน่าอัศจรรย์นัก”
อุบาสิกาอยากไปฟังธรรม แต่ไม่สมประสงค์
………………………………..
หญิงแม่เรือนนั้นฟังถ้อยคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้วอยากจะไปวัดเพื่อฟังธรรมบ้าง จึงบอกความประสงค์นั้นแก่อาชีวก แล้วกล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า”
อาชีวกห้ามว่า “อย่าไปเลย”
แม้นางจะพูดจาอ้อนวอนอยู่เป็นหลายครั้ง ก็ถูกห้ามเสียทุกครั้งไป
นางคิดว่า “ท่านผู้นี้ไม่ให้เราไปฟังธรรมที่วัด เราจะนิมนต์พระศาสดามาแสดงธรรมให้เราฟังที่บ้านนี้เลยทีเดียว” คิดดังนี้แล้ว ตกเย็นจึงเรียกบุตรชายมาสั่งว่า “เจ้าจงไปนิมนต์พระศาสดามาเพื่อเสวยภัตตาหารพรุ่งนี้”
ฝ่ายบุตรชาย เมื่อจะไปนิมนต์พระศาสดาตามที่มารดาสั่ง ก็ผ่านไปทางที่อยู่ของอาชีวกก่อน อาชีวกถามว่า จะไปไหน
“จะไปนิมนต์พระศาสดาตามคำสั่งของคุณแม่”
“อย่าไปเลย”
“ต้องไปขอรับท่าน ไม่ไปไม่ได้”
“เครื่องสักการะที่คุณแม่ของเธอทำถวายพระศาสดานั่น เราสองคนกินกันเองดีกว่า อย่าไปเลย”
“ไม่ไปไม่ได้หรอกขอรับท่าน คุณแม่ดุผมแย่เลย”
ในที่สุดอาชีวกจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ไปเถอะ ไปนิมนต์ แต่อย่าบอกว่าบ้านของเธออยู่ที่ถนนไหน บ้านหลังไหน จะต้องไปทางไหน ให้ทำเป็นรีรออยู่ใกล้ๆ แล้วหลบออกมาเสีย”
บุตรชายทำตามคำของชีวก
………………………………..
บุตรชายของหญิงนั้นทำตามที่อาชีวกแนะนำทุกอย่าง แล้วกลับมาแจ้งให้อาชีวกทราบ อาชีวกกล่าวว่า “เธอทำดีแล้ว ทีนี้เราสองคนก็จะได้กินเครื่องสักการะที่คุณแม่ของเธอทำไว้เพื่อพระศาสดานั้น”
วันรุ่งขึ้น อาชีวกไปยังบ้านของหญิงนั้นแต่เช้าตรู่ คนในบ้านก็เชิญให้ไปนั่งที่ห้องซึ่งอยู่ด้านหลังของห้องที่จัดไว้รับรองพระศาสดา
ห้องที่จัดไว้รับรองพระศาสดานั้นคนที่รู้ธรรมเนียมได้จัดเตรียมไว้เป็นอันดี กล่าวคือฉาบทาเรือนด้วยโคมัยสด โปรยดอกไม้สี่สีพร้อมทั้งข้าวตอก แล้วปูลาดอาสนะอันเลิศค่าสำหรับเป็นที่ประทับของพระศาสดา การจัดเตรียมดังนี้ถ้าไม่รู้ธรรมเนียมการรับเสด็จพระพุทธเจ้าก็จะทำไม่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยือนอุบาสิกา
………………………………..
ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะเสด็จไปยังสถานที่ใดๆ ก็ตาม ย่อมไม่จำเป็นต้องมีผู้ชี้หนทาง ทั้งนี้เพราะหนทางทั้งหมดย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วในวันที่ทรงยังหมื่นแห่งโลกธาตุให้หวั่นไหวแล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้มหาโพธินั่นแลว่า “ทางนี้ไปนรก ทางนี้ไปกำเนิดดิรัจฉาน ทางนี้ไปเปตวิสัย ทางนี้ไปมนุษยโลก ทางนี้ไปเทวโลก ทางนี้ไปอมตนิพพาน” ดังนั้น หนทางที่จะไปยังสถานที่ในหมู่บ้านหรือตำบลต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ใดมาอธิบายชี้นำถวายแต่ประการใด
ด้วยเหตุฉะนี้ วันรุ่งขึ้นพระศาสดาจึงทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังบ้านของมหาอุบาสิกาผู้นั้นแต่เช้าตรู่
นางออกมาจากเรือน ถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์ อัญเชิญให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ให้ประทับนั่งเหนืออาสนะแล้วถวายทักษิโณทก อังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
พระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว อุบาสิกาจึงรับบาตรไปชำระล้างเป็นสัญญาณว่าเจ้าภาพมีประสงค์จะให้ทรงกระทำอนุโมทนา
อุบาสิกาฟังธรรมถูกอาชีวกด่า
………………………………..
พระศาสดาทรงเริ่มธรรมกถาสำหรับอนุโมทนาด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ อุบาสิกาฟังธรรมพลางให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ
อาชีวกนั่งอยู่ห้องหลัง ได้ยินเสียงนางให้สาธุการไม่ขาดปาก ก็ไม่อาจจะอดทนอยู่ได้ คิดว่า ตอนนี้อุบาสิกาคงจะไม่เป็นคนของเราเสียแล้วละ คิดแล้วจึงออกไปด่าอุบาสิกาและพระศาสดาโดยประการต่างๆ เช่นว่า “อีกาลกิณี มึงเป็นคนฉิบหาย มึงจงทำสักการะแก่สมณะนั่นไปเถิด” ด่าเสร็จแล้วก็เปิดแน่บไป
อุบาสิกามีจิตฟุ้งซ่าน
………………………..
อุบาสิกาละอายเพราะถ้อยคำของอาชีวกนั้น คิดวุ่นวายใจไปต่างๆ ไม่อาจจะส่งจิตไปตามกระแสแห่งเทศนาได้
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า “อุบาสิกา เธอไม่อาจส่งจิตให้ไปตามกระแสเทศนาได้หรือ?”
อุบาสิกาทูลตอบว่า “พระเจ้าค่ะ เพราะถ้อยคำของอาชีวกนี้ จิตของข้าพระองค์จึงฟุ้งซ่านเสียแล้ว”
พระศาสดาตรัสว่า “ไม่ควรคำนึงถึงถ้อยคำของคนที่หวังร้ายต่อกัน การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเช่นนั้นแล้วตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้นจึงควร”
ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-
น ปเรสํ วิโลมานิ
น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโนว อเวกฺเขยฺย
กตานิ อกตานิ จ.
ไม่ควรเก็บคำเสียดแทงของคนอื่นไว้ในใจ
ไม่ควรแส่เรื่องที่คนอื่นเขาทำแล้วและยังมิได้ทำ
ควรเอาใจใส่เฉพาะเรื่องของตนเท่านั้น
ทั้งเรื่องที่ทำแล้วและยังมิได้ทำ
ขยายความ
…………….
บาทพระคาถาว่า น ปเรสํ วิโลมานิ (ไม่ควรเก็บคำเสียดแทงของคนอื่นไว้ ในใจ) หมายความว่า ไม่ควรเก็บเอาคำแสยงขน คือคำหยาบ คำตัดเสียซึ่งความรักของคนอื่นไว้ในใจ
บาทพระคาถาว่า น ปเรสํ กตากตํ (ไม่ควรแส่เรื่องที่คนอื่นเขาทำแล้วและยังมิได้ทำ) หมายความว่า ไม่ควรเพ่งเล็งเรื่องที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของคนอื่น อย่างเช่นว่า –
อุบาสกคนโน้นไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส แม้แต่ข้าวสักทัพพีหนึ่งก็ไม่เคยใส่บาตร สลากภัตก็ไม่เคยถวาย เรื่องที่อุบาสกคนนั้นจะถวายปัจจัยเช่นจีวรเป็นต้นเป็นอันว่าไม่มี
อุบาสิกาคนโน้นก็เหมือนกัน …..
ภิกษุรูปโน้นก็พอกัน ไม่น่าศรัทธา ไม่น่าเลื่อมใส ไม่เห็นปรนนิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อนภิกษุด้วยกันจะไปจะมาก็ไม่เอาใจใส่ ไม่กวาดวัดกวาดลานพระเจดีย์ โรงอุโบสถ หอฉัน ตรงนั้นตรงนี้ก็ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง ตัวเองก็ไม่เห็นประพฤติขัดเกลาอะไร ที่จะขยันบำเพ็ญจิตภาวนาให้เอิบอิ่มใจอะไรบ้างก็ไม่มี
(ดังว่ามานี้ คือเพ่งเล็งเรื่องที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของคนอื่น)
บาทพระคาถาว่า อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย (ควรเอาใจใส่เฉพาะเรื่องของตนเท่านั้น) หมายความว่า กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อมาระลึกถึงโอวาทนี้ว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่” (อัง.ทสก.๒๔/๙๒) ดังนี้แล้ว ก็พึงเอาใจใส่กิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนอย่างนี้ว่า “นี่เรายังไม่อาจจะยกจิตของตนขึ้นสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทำให้กิเลสเบาบางหรือหมดไปได้อีกหรือ?”
(นี่ยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องของชาววัด แม้เรื่องของชาวบ้านก็ทำนองเดียวกัน)
เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาจบลง อุบาสิกาผู้นั้นก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทั้งมหาชนก็ได้ประโยชน์จากพระธรรมเทศนา ดังนี้แล
…………………
ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๓ ปุปผวรรค เรื่องที่ ๓๘ (เรื่องปาฏิกาชีวก)
ในที่นี้ปรับปรุงสำนวนพอให้อ่านง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงให้มีกลิ่นอายสำนวนบาลีเพื่อรักษาอรรถรสเดิม
…………………..
ได้ความตามเรื่องนี้ว่า เมื่อจะทำกิจที่ถูกต้องดีงามก็ให้ตั้งใจแน่วแน่ มุ่งไปที่งานที่จะต้องทำเท่านั้น อย่าพะวงกับคำตำหนิติเตียนของใครอื่น พร้อมกันนั้นก็อย่าเสียเวลาไปกับเรื่องนอกตัว ใครจะทำหน้าที่ของเขาหรือไม่ได้ทำ ก็เป็นเรื่องของเขา เวลานี้เรามีหน้าที่จะต้องทำเรื่องนี้ก็ทุ่มเทกับเรื่องที่กำลังทำนี้ให้เต็มที่
จะเห็นได้ว่า หัวใจของเรื่องอยู่ที่ให้ตั้งใจทำหน้าที่ของตน
หัวใจของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ห้ามสนใจเรื่องของคนอื่น
เรื่องของคนอื่น-ถ้าเป็นเรื่องที่ตนควรเกี่ยวข้องด้วย หรือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องสนใจ
จะไม่สนใจ-โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น-อย่างนี้ไม่ถูก จะกลายเป็นความไม่รับผิดชอบไป
ตอนหน้า: ทำอย่างไรจะได้เป็นคู่ครองกันทุกชาติ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๗:๒๐
………………………………..
ทำอย่างไรจะได้เป็นคู่ครองกันทุกชาติ
………………………………..
ปัญหาเรื่องตั้งความปรารถนา