ภาวนามัย (บาลีวันละคำ 3,345)
ภาวนามัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 3)
“ทำบุญภาวนา”
…………..
วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:
ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –
1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ
4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
…………..
ทำบุญวิธีที่ 3 “ภาวนามัย”
อ่านว่า พา-วะ-นา-ไม
ประกอบด้วยคำว่า ภาวนา + มัย
(๑) “ภาวนา”
อ่านว่า พา-วะ-นา รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภู + ยุ > อน = ภูน > โภน > ภาวน + อา = ภาวนา แปลตามศัพท์ว่า “คุณชาตที่ยังกุศลให้มีขึ้น” หมายถึง การทำให้เกิด, การอาศัยบางสิ่ง, การพร่ำคิดถึง (อะไรบางอย่าง), การเอาใจใส่, การทำให้พัฒนาโดยความคิดหรือวิปัสสนา, การปลูกฝังด้วยจิตใจ, การเพาะใจ (producing, dwelling on something, putting one’s thoughts to, application, developing by means of thought or meditation, cultivation by mind, culture)
ความหมายในวงกว้าง “ภาวนา” หมายถึง วิธีการอย่างใดๆ ก็ตามเพื่อทำให้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมีขึ้น งอกงามขึ้นในใจ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาวนา : (คำนาม) การทําให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทางจิตใจ.ก. สำรวมใจให้แน่วแน่เป็นสมาธิ เช่น สวดมนต์ภาวนา, สำรวมใจตั้งความปรารถนา เช่น นั่งภาวนาขอให้พระช่วย. (ป.).”
(๒) “มัย”
บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –
(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)
(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)
(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)
(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)
(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)
(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)
กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ
ภาวนา + มย = ภาวนามย (พา-วะ-นา-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการอบรม” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยภาวนา” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญภาวนา” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีอบรมจิตใจให้สะอาด สงบ สว่าง
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาวนามัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยภาวนา, แล้วไปด้วยภาวนา, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา, ความดีที่ทำด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบมีคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา (จิตตภาวนา) และฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ปัญญาภาวนา); ดู ภาวนา (ข้อ ๓ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาวนามย” ว่า accomplished by culture practice; brought into existence by practice [of cultured thought] (ภาวนามัย, สำเร็จด้วยภาวนา; เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติภาวนา)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ –
…………..
3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา — Bhāvanāmaya: by mental development)
…………..
แถม :
เพื่อให้เข้าใจความหมายในทางธรรมกว้างขวางขึ้น ขอนำคำว่า “ภาวนา” จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
ภาวนา : การทำให้มีให้เป็น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ, การพัฒนา
1. สำหรับพระภิกษุ และบุคคลที่ดำเนินชีวิตดีงาม มีพื้นฐานในระดับศีลแล้ว โดยทั่วไปพูดกันถึงการฝึกอบรมหรือการเจริญพัฒนาที่มุ่งหน้าต่อไป คือ ภาวนา ๒ ได้แก่
๑. สมถภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้อยู่กับความดีงามเกิดความแน่วสงบ, การเจริญพัฒนาจิตใจให้งอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุข ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ
๒. วิปัสสนาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง, การเจริญพัฒนาปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์;
ภาวนา ๒ ที่กล่าวนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ๑. จิตตภาวนา ( =สมถภาวนา) ๒. ปัญญาภาวนา ( =วิปัสสนาภาวนา);
2. ภาวนา คือการฝึกอบรมพัฒนามนุษย์ ที่เต็มระบบครบกระบวนตลอดทั้งชีวิต ทุกส่วนทุกด้านทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นจนจบสมบูรณ์ ได้แก่ ภาวนา ๔ คือ
๑. กายภาวนา การพัฒนาเบญจทวารกาย อันเป็นด้านผัสสทวาร คืออินทรีย์ ๕ ให้รับรู้ดูฟังเป็นต้นอย่างมีสติได้ปัญญา ให้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกคือสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลและก่อกุศล
๒. ศีลภาวนา การพัฒนาด้านกรรมทวาร คือการใช้กายวาจาในการอยู่ร่วมโลกร่วมสังคม โดยประพฤติปฏิบัติมีพฤติกรรมกระทำการอันไม่เบียดเบียน แต่สร้างสรรค์เกื้อกูล
๓. จิตตภาวนา การพัฒนาจิตใจให้งอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน ผ่องใส สงบสุข พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ
๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา ให้รู้เข้าใจมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงเท่าทันสภาวะและเหตุปัจจัย รู้จักคิดรู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา จัดทำดำเนินการทั้งหลายให้เกิดผลดี โดยข้างในมีจิตใจเป็นอิสระเสรี พ้นจากอำนาจของกิเลสและความทุกข์
ภาวนาบุคคลที่พัฒนาแล้ว เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้าน คือเป็น ภาวิตกาย (มีกายที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตศีล (มีศีลที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตจิต (มีจิตที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตปัญญา (มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว) จึงเป็นผู้จบการศึกษา (อเสขะ-ผู้ไม่ต้องศึกษา) เรียกว่าพระอรหันต์ ดังมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ
3. การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิ มี ๓ ขั้น คือ
๑. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน
๒. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ
๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาน
4. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็นการท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆ ให้ขลัง ก็มี
…………..
กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ภาวนามัย” คือ อวิชชา (ความไม่รู้) หรือมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชีวิตเลือดเนื้อที่อยู่เปล่าๆ ร้อยปี
: ไม่ประเสริฐเท่าที่ใช้ทำความดีเพียงวันเดียว
#บาลีวันละคำ (3,345)
9-8-64