ปัญหาเรื่องตั้งความปรารถนา
ทำอย่างไรจะได้เป็นคู่ครองกันทุกชาติ
————————————–
– ๓ –
ทำอย่างไรจะได้เป็นคู่ครองกันทุกชาติ
…………………………………..
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ไว้ ขอยกมาเฉพาะตัวพระพุทธพจน์ดังนี้
—————
อากงฺเขยฺยุํ เจ คหปตโย อุโภ ชานิปตโย ทิฏฺเฐ เจว ธมฺเม
อญฺญมญฺญํ ปสฺสิตุํ อภิสมฺปรายญฺจ อญฺญมญฺญํ ปสฺสิตุํ.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบันและในสัมปรายภพ
อุโภว อสฺสุ สมสทฺธา สมสีลา สมจาคา สมปญฺญา.
ภรรยาและสามีทั้งสองนั่นแลพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน
เต ทิฏฺเฐ เจว ธมฺเม อญฺญมญฺญํ ปสฺสนฺติ อภิสมฺปรายญฺจ อญฺญมญฺญํ ปสฺสนฺตีติ
ภรรยาและสามีทั้งสองนั้นย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ
อุโภ สทฺธา วทญฺญู จ
สญฺญตา ธมฺมชีวิโน
เต โหนฺติ ชานิปตโย
อญฺญมญฺญํ ปิยํ วทา.
ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา
รู้ความประสงค์ของคู่สนทนา
มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม
เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกัน
อตฺถา สมฺปจุรา โหนฺติ
ผาสุกํ อุปชายติ
อมิตฺตา ทุมฺมนา โหนฺติ
อุภินฺนํ สมสีลินํ.
ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
มีความผาสุก
รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน
ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน
อิธ ธมฺมํ จริตฺวาน
สมสีลพฺพตา อุโภ
นนฺทิโน เทวโลกสฺมึ
โมทนฺติ กามกามิโนติ.
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน
ย่อมเป็นผู้เสวยสุขสมปรารถนา
เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลกแล
ที่มา: ปฐมสมชีวิสูตร จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๕๕
—————
– ๔ –
เหตุเกิดแห่งความรัก
………………………
ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า
………………………………
โก นุ โข ภควา เหตุ
เอกจฺเจ อิธ ปุคฺคเล
อตีว หทยํ นิพฺพาติ
จิตฺตญฺจาปิ ปสีทติ.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ –
บางคนในโลกนี้พอเห็นกันเข้า
จิตก็เลื่อมใส
หัวใจก็สงบเย็น
………………………………
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสว่า
………………………………
ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน
ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา
เอวนฺตํ ชายเต เปมํ
อุปฺปลํว ยโถทเก.
ความรักย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ
(ประการใดประการหนึ่ง) คือ
การอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน ๑
ความเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน ๑
เหมือนดอกบัวอาศัยน้ำและเปือกตมเกิดขึ้นได้ฉะนั้น
ที่มา: สาเกตชาดก ทุกนิบาตชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๒๓-๓๒๔
………………………………
คาถานี้ท่านนำมาอ้างไว้อรรถกถาธรรมบท สามาวตีวัตถุ (เรื่องนางสามาวดี) ตอนโฆสกเศรษฐี (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒)
เรื่องย่อมีว่า –
เศรษฐีคนหนึ่งไปเฝ้าพระราชาตามหน้าที่ ได้ฟังโหรหลวงบอกว่าเด็กที่เกิดวันนี้จะได้เป็นเศรษฐีใหญ่ในอนาคต พอดีภรรยาเศรษฐีท้องแก่ แต่ก็ยังไม่ได้คลอดในวันนั้น เศรษฐีจึงให้คนไปเที่ยวสืบหาเด็กชายที่เกิดในวันนั้นแล้วซื้อตัวมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมไว้คนหนึ่ง วางแผนว่า ถ้าตนได้ลูกสาวก็จะให้แต่งงานกับลูกบุญธรรม แต่ถ้าได้ลูกชายก็จะฆ่าลูกบุญธรรมเสีย
ต่อมาไม่กี่วันภรรยาเศรษฐีคลอดลูกเป็นชาย เศรษฐีจึงวางแผนฆ่าลูกบุญธรรม ซึ่งตั้งชื่อว่า “โฆสก”
แต่ใช้แผนกี่แผนก็ฆ่าไม่สำเร็จ เพราะเด็กเป็นคนมีบุญ มิหนำซ้ำแผนล่าสุดยังเกิดผิดพลาดอย่างร้ายแรง คนที่ถูกฆ่ากลับเป็นลูกชายของตัวเอง
ในที่สุดเศรษฐีก็ใช้แผนสุดท้าย เขียนจดหมายถึงลูกน้องมือขวาที่ไว้ใจได้ซึ่งดูแลธุรกิจอยู่อีกเมืองหนึ่งให้เป็นคนฆ่า โดยให้นายโฆสกถือจดหมายไปเอง ที่เศรษฐีกล้าใช้วิธีนี้ก็เพราะนายโฆสกอ่านหนังสือไม่ออก เนื่องจากเศรษฐีไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก
แต่วิธีนี้กลายเป็นความผิดพลาดอย่างสุดเจ็บปวดของท่านเศรษฐี!
ตามเส้นทางที่จะไปยังเมืองที่ลูกน้องเศรษฐีอยู่ผ่านบ้านเศรษฐีที่เป็นเพื่อนกัน ตามแผนการเดินทางนายโฆสกจะต้องไปแวะพักที่บ้านเศรษฐีคนนี้
เศรษฐีคนนี้มีลูกสาวคนหนึ่ง พอได้ยินชื่อนายโฆสกเท่านั้นก็เกิดหลงรักทันที ทั้งนี้เพราะเคยเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ปางก่อน
ระหว่างที่นายโฆสกนอนหลับ ลูกสาวเศรษฐีก็แอบเปิดจดหมาย อ่านรู้เรื่องแล้วก็ฉีกทิ้งแล้วเขียนจดหมายปลอมขึ้นใหม่ จากใจความเดิม “ถึงเช้าให้ฆ่าเช้า ถึงเย็นให้ฆ่าเย็น” เปลี่ยนเป็นให้ลูกน้องมือขวาคนนั้นเป็นผู้ใหญ่จัดการแต่งงานนายโฆสกกับลูกสาวเศรษฐี ประมาณว่า “ถึงเช้าให้แต่งเช้า ถึงเย็นให้แต่งเย็น” -ทำนองนี้
แถมด้วยให้ปลูกเรือนหออย่างอลังการ และยกทรัพย์สินที่เมืองนั้นทั้งหมดให้เป็นสินสอดอีกด้วย
ในที่สุดนายโฆสกก็ได้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐี และได้เป็นเศรษฐีใหญ่ในเวลาต่อมา
—————
ในพุทธภาษิต พระพุทธองค์ตรัสเหตุที่ทำให้คนเรารักกันไว้ ๒ เหตุ คือ –
(๑) “ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน” ที่ภาษาไทยเอามาพูดว่า “บุพฺเพสันนิวาส” คือเคยเกี่ยวข้องผูกพันกันมาแต่ในอดีตชาติ ครั้นมาพบกันในชาตินี้จึงถูกชะตากันและได้ครองคู่กัน
(๒) “ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน” คือได้ทำคุณหนุนเกื้อกันในชาตินี้ จนเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และได้ครองคู่กัน
จะเห็นได้ว่า เหตุให้รักกันไม่ได้มีแต่ “บุพฺเพสันนิวาส” อย่างเดียว แม้ “ปัจจุบันหิต” การเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันนี่เองก็มีอิทธิพลและมีผลด้วยไม่แพ้กัน
น่าประหลาดที่เราเอาแต่ “บุพฺเพสันนิวาส” มาพูด มาเชื่อกัน
แต่ “ปัจจุบันหิต” กลับไม่มีใครนึกถึงเลย
สมัยเรียนประโยค ๓ (ตอนนั้นยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒) เมื่อแปลถึงคาถานี้ครูที่สอนวิชาแปลท่านเอาโคลงบทหนึ่งที่แปลจากคาถานี้มาอ่านให้ฟัง คล้ายกับจะอยู่ในหนังสือที่ใช้เป็นแบบประกอบการเรียนบาลีเล่มใดเล่มหนึ่ง ผมเคยอ่าน จำชื่อหนังสือไม่ได้ แต่จำโคลงบทนั้นได้
โคลงว่าดังนี้
๏ ความรักย่อมเกิดด้วย…..สองพรรณ
รักหนึ่งบุพเพสัน-………….นิวาสสร้าง
รักสองอนุกูลกัน…………..เกิดชาติ นี้นา
ดังอุบลดอกสล้าง…………เกิดซ้อนกลางสินธุ์๚ะ๛
-ประมาณนี้ คลาดเคลื่อนบ้างก็คงไม่มาก ขอนำมาบันทึกไว้เพื่อมิให้สูญเสีย
ตอนหน้า: ข้อคิดท้ายเรื่อง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๑:๑๑
………………………………..
ข้อคิดท้ายเรื่อง
………………………………..
แค่ไหนอย่างไรคือสนใจเรื่องของคนอื่น