บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาเรื่องตั้งความปรารถนา

ข้อคิดท้ายเรื่อง

—————-

ได้เสนอหลักคิดเรื่องการตั้งความปรารถนาเป็นคู่ครองกันมาแล้ว ๓ ตอน

………………………………..

๑ ปัญหาเรื่องตั้งความปรารถนา

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4236836509743387

………………………………..

๒ แค่ไหนอย่างไรคือสนใจเรื่องของคนอื่น

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4236987153061656

………………………………..

๓ ทำอย่างไรจะได้เป็นคู่ครองกันทุกชาติ

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4239314029495635

………………………………..

ต่อไปนี้เป็นข้อคิดปิดท้ายเรื่อง

๑. นางปติปูชิกา ทั้งๆ ที่อยู่กับสามี แต่ก็ตั้งความปรารถนาไปเป็นภรรยาของชายอื่น นางทำผิดหรือไม่ จะถือว่าเป็น “ชู้ทางใจ” ได้หรือไม่

๒. เราจะมองแต่เพียงว่า เป็นคู่ครองกับคนหนึ่ง แต่ตั้งความปรารถนาให้ได้เป็นคู่ครองกับอีกคนหนึ่ง – มองแค่นี้ แล้วก็ตัดสินว่าเป็นความผิด ความชั่ว ยอมรับไม่ได้ หรือว่าควรจะมองต่อไปอีกว่า เมื่อตั้งความปรารถนาเช่นนั้นแล้ว ได้ประพฤติตัวเช่นไรต่อไป

นางปติปูชิกาตั้งความปรารถนาคู่ครองตั้งแต่ยังไม่มีสามี จนกระทั่งมีสามี เมื่อมีสามีแล้ว-ซึ่งเป็นคนละคนกับผู้ที่นางตั้งความปรารถนาไว้-นางก็ทำหน้าที่ภรรยาที่ดี คือแม้จะตั้งความปรารถนาให้ได้เป็นภรรยาของชายอื่น แต่ก็ไม่ได้ทรยศต่อสามี ไม่ได้ประพฤตินอกใจ คงอยู่กินกับสามีไปตามปกติ มีบุตรด้วยกันถึง ๔ คน จนนางตายไปก่อนสามี นี่คือตัวอย่างความประพฤติที่ถูกต้อง 

๓  ถ้าการตั้งความปรารถนาของนางปติปูชิกาเป็นความผิด เป็นบาป เป็นความชั่ว ทำไมนางจึงได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ และได้เป็นภรรยาของผู้ที่นางตั้งความปรารถนาไว้จริงๆ

๔. การที่เราจะได้เป็นคู่ครองกับใคร เป็นเรื่องของบุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีตชาติ หรือว่าเป็นเรื่องที่เราตัดสินใจเลือกของเราเองในชาตินี้ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุญกรรมในอดีตชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น?

ถ้าตอบว่า “เป็นเรื่องที่เราตัดสินใจเลือกของเราเองในชาตินี้ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุญกรรมในอดีตชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น” อย่างนี้ พระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในสมชีวิสูตรก็ไม่เป็นความจริง

ถ้าตอบว่า “เป็นเรื่องของบุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีตชาติ” ถ้าเช่นนั้น จะไม่เป็นการดีกว่าดอกหรือที่เราจะสร้างบุญกรรมคือตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่ชาตินี้ และบำเพ็ญคุณธรรมที่จะเป็นเหตุให้ได้เป็นคู่ครองกันในชาติหน้าตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในสมชีวิสูตรเสียตั้งแต่ชาติปัจจุบันนี้ไปเลยทีเดียว เพราะชาติปัจจุบันนี้ก็คืออดีตชาติของชาติหน้านั่นเอง

หรือเราจะรอให้บุญกรรมที่ไหนก็ไม่รู้มาเป็นผู้บันดาลให้ได้คู่ครองชนิดไหนก็ไม่รู้ โดยที่เราได้แต่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องตั้งความปรารถนาอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบุญกรรมอย่างเดียว

หลักกรรมในพระพุทธศาสนานั้น สอนว่า บุญกรรมนั้นเราต้องเป็นผู้ทำเอง ไม่ใช่รอให้ใครมาทำให้หรือบันดาลให้ แม้จะอ้างว่า “เป็นเรื่องของบุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีตชาติ” บุญกรรมในอดีตชาตินั้นเราก็ต้องทำด้วยตัวของเราเอง เมื่อเราจะต้องเป็นผู้ทำบุญกรรมด้วยตัวของเราเองเช่นนี้แล้ว ถ้าไม่ลงมือทำเสียตั้งแต่ชาตินี้แล้วจะรอไปทำเอาในชาติไหนจึงจะมี “บุญกรรมที่เราทำไว้ในอดีตชาติ” ให้เราอ้างได้

ถ้ามอบอนาคตไว้กับบุญกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนๆ อย่างเดียว ก็จะเป็นลัทธิ “ปุพเพกตวาท” คือเชื่อเฉพาะผลของกรรมเก่าล้วนๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าลัทธินี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ

และการที่จะได้เป็นคู่ครองกับคนที่เราพอใจว่ามีคุณธรรมที่จะสนับสนุนกันและกันได้นั้น ถ้าไม่ทำโดยการตั้งความปรารถนาร่วมกันในชาตินี้ จะให้ทำด้วยวิธีไหนจึงจะได้ไปเจอกับผู้มีคุณธรรมเช่นนั้น

นางปติปูชิกา ถ้าไม่ตั้งความปรารถนาในชาตินี้ จะได้ไปเกิดเป็นภรรยาของชายที่ตนปรารถนาหรือ นางอาจจะไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้ อาจไปเกิดเป็นภรรยาของใครก็ไม่รู้จนเปรอะไปหมด

บางท่านบอกว่า มีคู่ครองอยู่แล้ว ไปตั้งความปรารถนาเป็นคู่ครองกับคนอื่น แบบนี้รับไม่ได้ และเสนอความเห็นว่า ถ้าจะตั้งความปรารถนาก็ควรตั้งเป็นกลางๆ เช่นตั้งว่า เกิดชาติหน้าขอให้ได้คู่ครองที่เป็นคนดี ไม่ต้องไประบุว่าขอให้ได้เป็นคู่ครองกับคนนั้นคนนี้

เรื่องนี้จะเข้าใจได้ง่ายถ้าเปรียบเทียบกับการอุทิศส่วนบุญ 

คือ ถ้าเราทำบุญโดยมุ่งจะอุทิศให้แก่บิดามารดา แต่กลับอุทิศเป็นกลางๆ ว่า ขอส่วนบุญนี้จงถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ถามว่า บิดามารดาของเราจะได้รับส่วนบุญนี้หรือไม่

ตอบว่า ได้รับ แต่ได้รับในฐานะเป็นสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ความเป็นบิดามารดาก็ย่อมไม่มีความหมายอะไร ถ้าจะให้ได้รับในฐานะเป็นบิดามารดา ก็ต้องระบุลงไปว่า ขอส่วนบุญนี้จงถึงแก่บิดามารดาของข้าพเจ้า

การตั้งความปรารถนาคู่ครองนั้นก็ใช้หลักเดียวกับการอุทิศส่วนบุญนั่นเอง คือถ้าตั้งความปรารถนาเป็นกลางๆ เราก็จะได้คู่ครองที่เป็นใครก็ได้ สะเปะสะปะไปเรื่อยๆ 

ชาตินี้เป็นคู่ครองกับคนนี้ 

ชาติหน้าเป็นคู่ครองกับคนนั้น 

ชาติต่อไปเป็นคู่ครองกับคนโน้น 

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมาย

เราอยากเป็นแบบนั้นหรือ

บางท่านก็แสดงความเห็นว่า ถ้าจะตั้งความปรารถนา ก็ควรตั้งกับคู่ครองของเราในชาติปัจจุบันนี้ เป็นการแสดงความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ไปตั้งกับคนอื่น

ถ้ายึดตามความเห็นนี้ ถ้าคู่ครองของเราเป็นคนดี ก็รอดตัวไป 

แต่ถ้าคู่ครองของเราเป็นคนที่เบียดเบียนเรา ทำร้ายเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือเป็นคนที่คอยขัดขวางไม่ให้เราได้ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์โดยสะดวก 

เช่นวันพระแทนที่จะไปวัดได้ ก็ไปไม่ได้ 

หรือไปได้ ก็รักษาอุโบสถศีลไม่ได้ เพราะเรียกร้องให้ต้องปรนนิบัติให้ความสุขตอนกลางคืนแก่เขา 

หรือถึงจะไม่ขัดขวางแบบนั้น แต่ก็ไม่สนับสนุน เห็นคู่ครองไปวัดก็แสดงอาการหงุดหงิดบ่นว่าต่างๆ กลับจากวัดแบ่งส่วนบุญให้ก็ไม่อยากรับ อย่างนี้เป็นต้น 

เราก็จะต้องได้คู่ครองเป็นคนแบบนี้ทุกชาติไป เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (เดี๋ยวจะไม่ซื่อสัตย์!) 

เราอยากได้แบบนั้นหรือ

เราเลือกได้ เราจึงเลือก เราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการจริงๆ (ตั้งใจทำเหตุให้ตรงกับผล)

เราเลือกได้ แต่กลับไม่เลือก เราก็จะได้แบบเรี่ยราด (ต้องการผล แต่ไม่ทำเหตุ)

อยากได้แบบไหน?

อยากให้เป็นแบบไหน?

เมื่อเลือกได้ จึงควรเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด คือเลือกโดยมีธรรมความถูกต้องเป็นหลัก 

ไม่ใช่เกณฑ์ให้ฝ่ายหนึ่งปรับตัวให้ถูกใจอีกฝ่ายหนึ่ง 

แต่ทั้งสองฝ่ายต่างปรับใจให้ถูกธรรม-ธรรมที่เป็นเหตุให้ได้เป็นคู่ครองกัน

๔. มีตัวอย่างเป็นอันมากในพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้สิ่งที่ตนต้องการด้วยการตั้งความปรารถนา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะการตั้งความปรารถนา พระอัครสาวกและพระมหาสาวกทั้งหลายได้บรรลุตำแหน่งความเป็นเลิศในทางนั้นๆ ที่เรียกว่า “เอตทัคคะ” เช่น เลิศในทางมีปัญญา เลิศในทางมีฤทธิ์ เลิศในทางมีลาภ ฯลฯ ก็ด้วยการตั้งความปรารถนาทั้งสิ้น ไม่มีองค์ไหนได้มาโดยเลื่อนลอยเลยแม้แต่องค์เดียว 

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เมื่อตั้งความปรารถนาแล้วประพฤติตัวเช่นไร ตั้งความปรารถนาแล้วทำเหตุที่จะให้ได้ผลสมกับที่ตั้งความปรารถนาหรือเปล่า ตั้งความปรารถนาแล้วทำดีหรือทำชั่ว บกพร่องต่อหน้าที่หรือเปล่า ประพฤติผิดศีลธรรมหรือเปล่า ดูกันที่ตรงนี้ต่างหาก

๕. ชีวิตมนุษย์น้อยนัก กว่าจะเรียนรู้หลักเหตุผลในพระพุทธศาสนาก็เสียเวลาไปมาก แต่เหลือเวลาอีกเพียงนิดเดียว (พูดอย่างนี้ก็ถือว่าประมาท เพราะเราอาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ได้ทุกขณะ) เวลาเพียงนิดเดียวที่เหลืออยู่นี้คนส่วนมากยังใช้ให้หมดไปกับการดูแลร่างกายเพื่อไม่ให้ตายง่ายวันละครึ่งค่อนวันอีกเล่า

ถ้ายังไปมัวเพลิดเพลินอยู่กับการทำพูดคิดแต่เรื่องนอกตัว หรือเรื่องของคนอื่นว่าใครทำอะไร ใครยังไม่ได้ทำอะไร อย่างนี้เราจะเหลือเวลาสักเท่าไรกันที่จะได้ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๓:๒๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *