ธัมมันเตวาสิ (บาลีวันละคำ 3,473)
ธัมมันเตวาสิ
ใครจะพลิกระบบการศึกษา
อ่านว่า ทำ-มัน-เต-วา-สิก
ประกอบด้วยคำว่า ธัมม + อันเต + วาสิก
(๑) “ธัมม”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ธัมม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (7)
(๒) “อันเต”
บาลีเป็น “อนฺเต” (อัน-เต) ตำราไวยากรณ์บาลีบอกว่าเป็นศัพท์จำพวกอุปสรรค คงรูปเป็น “อนฺเต” และไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ แปลว่า ใกล้, ข้างใน, ภายใน (near, inside, within) เช่น “อนฺเตปุร” (อัน-เต-ปุ-ระ) แปลว่า “ภายในเมือง”
(๓) “วาสิก”
บาลีอ่านว่า วา-สิ-กะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณิก = วสณิก > วสิก > วาสิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พำนักอยู่” หมายความว่า อาศัยอยู่ใน- (dwelling in)
การประสมคำ :
(๑) อนฺเต + วาสิก = อนฺเตวาสิก > อันเตวาสิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติอยู่ใกล้อาจารย์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺเตวาสิก” ว่า one who lives in, i. e. lodges or lives with his master or teacher, a pupil (ผู้อาศัยอยู่ในนั้นด้วย, คือพักอยู่หรืออยู่กับนายหรือครูของเขา, นักเรียน)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อันเตวาสิก” (Antevāsika) เป็นอังกฤษว่า one who lives in; a monk who lives under his teacher; a pupil; apprentice.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันเตวาสิก : (คำนาม) ‘ชนผู้อยู่ในภายใน’ หมายถึง ศิษย์ที่อยู่ในปกครองหรือที่อาศัยอยู่กับอาจารย์ จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้, คู่กับ อาจารย์. (ป.).”
(๒) ธมฺม + อนฺเตวาสิก = ธมฺมนฺเตวาสิก > ธัมมันเตวาสิก แปลว่า “อันเตวาสิกโดยธรรม”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “อันเตวาสิก” ไว้ดังนี้ –
…………..
อันเตวาสิก : ผู้อยู่ในสำนัก, ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก, ศิษย์ (ภิกษุผู้รับให้อยู่ร่วมสำนักเรียกอาจารย์); อันเตวาสิกมี ๔ ประเภทคือ
๑. ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา
๒. อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท
๓. นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย
๔. ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม
…………..
ไขความอันเตวาสิก 4 ประเภท :
ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา คือเป็นศิษย์โดยการบรรพชาเป็นสามเณร
อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท คือเป็นศิษย์โดยการอุปสมบทเป็นภิกษุ
นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย คือเป็นศิษย์โดยการมาอยู่ในปกครอง
ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม คือเป็นศิษย์โดยการมาศึกษาเล่าเรียนด้วย
อาจจำเป็นหลักไว้ว่า “อันเตวาสิก” ย่อมคู่กับ “อาจารย์” เสมอไป เช่นเดียวกับ “สัทธิวิหาริก” คู่กับ “อุปัชฌาย์”
ขยายความเฉพาะ “ธัมมันเตวาสิก” :
“ธัมมันเตวาสิก” ที่แสดงมาข้างต้นเป็นเรื่องของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา แต่ “ธัมมันเตวาสิก” ที่ประสงค์ในที่นี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของสำนักศึกษาในชมพูทวีปสมัยโบราณ
กล่าวคือ สำนักศึกษาในชมพูทวีปสมัยโบราณ เช่นสำนักตักสิลาเป็นต้น ศิษย์ที่สมัครเข้าศึกษาจะมี 2 ประเภท คือ –
(1) ประเภท “อาจริยภาคทายก” (อา-จะ-ริ-ยะ-พาก-คะ-ทา-ยก) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้ส่วนของอาจารย์”
คำว่า “อาจริยภาค” แปลว่า “ส่วนของอาจารย์” ความหมายโดยทั่วไปหมายถึง สิ่งตอบแทนที่บุคคลหนึ่งมอบให้แก่ผู้ที่แนะนำสั่งสอน หรือบอกกล่าว หรือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ตน อาจเป็นเงินหรือทรัพย์สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อใช้กับสำนักศึกษา “อาจริยภาค” ย่อมหมายถึง ค่าเล่าเรียน หรือที่คำไทยเรียกว่า “ค่าครู” หรือค่ายกครู (the teacher’s fee)
ศิษย์ประเภท “อาจริยภาคทายก” นี้ อาจพักอยู่ต่างหากหรือพักอยู่กับอาจารย์แบบโรงเรียนประจำ มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบอย่างอื่น
(2) ประเภท “ธัมมันเตวาสิก” ที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือศิษย์ที่ไม่มี “อาจริยภาค” ให้อาจารย์ ใช้วิธีทำงานรับใช้อาจารย์แทนค่าเล่าเรียนได้ โดยปกติมักพักอยู่กับอาจารย์และทำงานต่างๆ เหมือนคนในครอบครัว
ศิษย์ประเภท “ธัมมันเตวาสิก” นี้ ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “เอกํ กาลํ อุปชฺฌายสฺส กมฺมํ กโรติ เอกํ กาลํ สิกฺขติ” แปลว่า “ทำงานให้อาจารย์เวลาหนึ่ง เรียนเวลาหนึ่ง” (สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 247 [จีวรกฺขนฺธกวณฺณนา]) อีกแห่งหนึ่งระบุว่า “ธมฺมนฺเตวาสิกา หิ ทิวา อาจริยสฺส กมฺมํ กตฺวา รตฺตึ อุคฺคณฺหนฺติ” แปลว่า “พวกธัมมันเตวาสิก กลางวันทำงานให้อาจารย์ กลางคืนเรียน” (ติลมุฏฐิชาดก ติกนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 12)
บุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เช่น องคุลิมาลและหมอชีวก สมัยไปศึกษาที่ตักสิลาก็เป็นนักศึกษาประเภทธัมมันเตวาสิก
สังคมไทยยังมีบุคคลที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่อีกมาก มีใครคิดจะจัดการศึกษาระบบ “ธัมมันเตวาสิก” บ้างหรือไม่?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เงินอาจซื้อปริญญาบัตรได้
: แต่ซื้อปริญญาไม่ได้
#บาลีวันละคำ (3,473)
15-12-64
…………………………….