อปรโคยานทวีป (บาลีวันละคำ 3,472)
อปรโคยานทวีป
“ดินแดนแห่งคนขับเกวียน”
อ่านว่า อะ-ปะ-ระ-โค-ยาน-นะ-ทะ-วีบ
ประกอบด้วยคำว่า อปร + โคยาน + ทวีป
(๑) “อปร”
บาลีอ่านว่า อะ-ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก น + ปร
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “ปร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “ปร” อ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ว่า “เบียดเบียน”) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ มฺ ที่สุดธาตุ
: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ความหมายเดิมคือ “ปรปักษ์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่อีกข้างหนึ่ง หรืออยู่คนละข้างกัน ซึ่งตามปกติย่อมพอใจที่จะเบียดเบียนคือทำร้ายกัน
จากความหมายเดิมนี้ “ปร” จึงหมายถึง อีกข้างหนึ่ง, โพ้น; เหนือ, อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (on the further side of, beyond; over, another, other)
น + ปร = นปร > อปร แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ใช่ฝ่ายอื่น” หมายความว่า ฝ่ายอื่นก็ไม่ใช่ ฝ่ายตัวเองก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็น “อีกฝ่ายหนึ่งนอกไปจากฝ่ายอื่น” หมายถึง อีกอันหนึ่ง, คือ เพิ่ม, ต่อไป, ถัดไป, ที่สอง (another, i. e. additional, following, next, second)
(๒) “โคยาน” บาลีอ่านว่า โค-ยา-นะ ประกอบด้วยคำว่า โค + ยาน
(ก) “โค” รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค
: คมฺ + อ = คม > โค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งสัตวโลกทั้งหลาย” (2) “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ”
“โค” ในบาลีหมายถึง (1) แผ่นดิน (the earth) (2) วัว (a cow, an ox, bull)
(ข) “ยาน” บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป”
“ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –
(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding)
(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)
โค + ยาน = โคยาน (โค-ยา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่เทียมด้วยโค”
(๓) “ทวีป”
บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป > ป)
: ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง
(2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + อ (อะ) ปัจจัย,
: ทีปฺ + อ = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ”
ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)
“ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –
(1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma)
(2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)
(3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)
(4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).
(2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).
บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น: ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean: the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra; a tiger’s skin.”
คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ ๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”
การประสมคำ :
๑ โคยาน + ทีป = โคยานทีป (โค-ยา-นะ-ที-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทวีปที่ผู้คนเดินทางด้วยยานเทียมโค”
๒ อปร + โคยานทีป = อปรโคยานทีป (อะ-ปะ-ระ-โค-ยา-นะ-ที-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทวีปที่ผู้คนเดินทางด้วยยานเทียมโคซึ่งเป็นอีกทวีปหนึ่ง” (คือเป็นทวีปที่อยู่ตรงข้ามกับบุพวิเทหทวีป)
“อปรโคยานทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อปรโคยานทวีป”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อมรโคยานทวีป, อปรโคยานทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป.”
ขยายความ :
ชื่อทวีปนี้ มักเรียกด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “อมรโคยาน-” คือเรียกเป็น อมร– (อมร- ม ม้า) ที่หมายถึง “ผู้ไม่ตาย” คือเทวดา แต่คำที่ถูกต้องคือ “อปรโคยาน-” คือ อปร– (-ป– ป ปลา) ไม่ใช่ “อมร-” (-ม– ม ม้า)
“อปร” เมื่อขยายสถานที่ ทำให้สถานที่นั้นมีความหมายว่า ไกลออกไป, ไปทางตะวันตก (further away, westward)
ในกรณีที่กล่าวถึงฝ่ายหนึ่งมาแล้ว “อปร” จะหมายถึง ฝ่ายที่ตรงกันข้าม หรือสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายหรือสิ่งที่กล่าวมาก่อนแล้ว
ในที่นี้ ขยายคำว่า “โคยานทีป” เป็น “อปรโคยานทีป” จึงมีความหมายว่า “ทวีปโคยานที่ไปทางตะวันตก” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “บุพวิเทหทวีป” ที่อยู่ทางตะวันออก
และนี่คือข้อยืนยันว่า ชื่อนี้เป็น “อปร-” (อะ-ปะ-ระ-, –ป– ป ปลา) ไม่ใช่ “อมร-” (อะ-มะ-ระ-, –ม– ม ม้า)
คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของภพภูมิทั้งหลายคือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย ได้อธิบายย้ำถึงชื่อ “อปรโคยานทีป” เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ดังข้อความว่า –
…………..
… ก็โดยสามารถแห่งการบังคับด้วย ปุพฺพ ศัพท์ในคำว่า ปุพฺพวิเทห นี้ จำต้องปรารถนา อปร ศัพท์เท่านั้นในคำว่า อปรโคยาน นี้ ประดุจในคำว่า ปุพฺพาปร; จะเข้าใจว่าเป็น อมร ศัพท์ ดุจในคำว่า “อชโร ตฺวํ อมโร ภว (ท่านจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย)” ดังนี้ไม่ได้. …
…………..
สันนิษฐานว่า ต้นฉบับคัมภีร์เขียนเป็นอักษรขอมซึ่งอักษร ป (ป ปลา) กับ ม (ม ม้า) โครงร่างเหมือนกัน ต่างที่ขีดไส้กลาง (ทำนองเดียวกับอักษรไทย บ ใบไม้ กับ ษ ฤๅษี โครงร่างเหมือนกัน ต่างกันที่ขีดกลาง) ผู้จารอาจพลั้งเผลอหรือเข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด ต้นฉบับเป็น ป แต่จารเป็น ม จึงทำให้ อปร- กลายเป็น อมร-
อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาสอบทานคัมภีร์ฉบับอักษรอื่น เช่นอักษรพม่า และสิงหฬเป็นต้น เพื่อเป็นความรู้ในทางอักขรวิธีของบาลีต่อไป ท่านผู้มีคัมภีร์ฉบับอักษรพม่าและสิงหฬอยู่ใกล้มือคงช่วยกันทำงานนี้ได้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ก็เก็บคำนี้ไว้ชื่อเดียว คือ “อมรโคยานทวีป” (อมร- ม ม้า) เข้าใจว่าคณะกรรมการฯ คงได้เห็นข้อมูลจากคัมภีร์ที่ปรากฏ เมื่อชำระพจนานุกรมเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จึงได้ปรับแก้โดยเพิ่มคำว่า “หรืออปรโคยานทวีป” เข้าไปทุกคำนิยามที่กล่าวถึงชื่อ “อมรโคยานทวีป” ในทวีปทั้ง 4 ตามคัมภีร์
ถ้าจะพูดเป็นคำขาดแล้ว ชื่อ “อมรโคยานทวีป” นั้นไม่มี ควรยกมาอ้างเฉพาะชื่อ “อปรโคยานทวีป” เท่านั้น อีกทั้งชื่อ “อมรโคยานทวีป” ก็ไม่มีคำอธิบายว่ามีความหมายว่าอย่างไร
“อปรโคยานทวีป” มีอาการเช่นเดียวกับ “บุพวิเทหทวีป” คือแทบไม่มีรายละเอียดใดๆ กล่าวไว้ในคัมภีร์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าวัดความเจริญกันที่ขับเกวียนหรือขับรถ
: ถ้าขับไปทำเรื่องทรยศ ขับรถก็แย่ยิ่งกว่าขับเกวียน
#บาลีวันละคำ (3,472)
14-12-64
…………………………….