บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พระ ดร. มาแรงกำลังแซงพระ ป.ธ.๙

พระ ดร. มาแรงกำลังแซงพระ ป.ธ.๙

————————————–

แต่น่าเศร้า พระศึกษาคัมภีร์บาลียังไม่ติดอันดับ

ผมแสดงความยินดีไปกับพระที่จบปริญญา-โดยเฉพาะที่จบ ดร. ไปเมื่อวันก่อน แต่ความในใจยังไม่จบครับ ขออนุญาตเขียนต่อ

……………….

เมื่อก่อนนี้ พระเรียนจบ ป.ธ.๙ ถือว่าสูงสุดในคณะสงฆ์

เมื่อก่อน พระที่จบ ป.ธ.๙ แล้ว ไปเรียนต่อในระบบการศึกษาทางโลกในเมืองไทยยังไม่ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงที่เรียนจนจบ ดร. 

ยังไม่ได้ตรวจสอบสืบค้นว่ามหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่รับพระเข้าศึกษาร่วมกับนักศึกษาปกติคือมหาวิทยาลัยอะไร และรับมาตั้งแต่ พ.ศ.ไหน

ตอนนั้นการจัดการศึกษาของ มจร มมร ยังไม่โลดแล่นไปถึงปริญญาเอกเหมือนทุกวันนี้

ต่อมา พระที่จบ ป.ธ.๙ แล้วไปเรียนต่อในระบบการศึกษาทางโลกในต่างประเทศจนจบ ดร. ก็เริ่มมีขึ้น

จบ ป.ธ.๙ ด้วย จบ ดร. ด้วย ถือว่ายอดของสุดยอด

ต่อมา พระที่จบ ป.ธ.๙ แล้วไปเรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศจนจบ ดร. ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการจัดการศึกษาของ มจร มมร โลดแล่นทะลุไปถึงปริญญาเอกแล้วอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

พระที่จบ ป.ธ.๙ ลาสิกขา แล้วไปเรียนต่อจนจบ ดร. ในเมืองไทยมีเป็นจำนวนมาก

……………………………………

น่าสังเกตว่า —

ชาววัดที่จบ ป.ธ.๙ แล้วไปเรียนต่อจนจบ ดร. มีเป็นจำนวนมาก

แต่ชาวบ้านที่จบ ดร. แล้วมาเรียนจนจบ ป.ธ.๙ ยังไม่เคยมีแม้แต่คนเดียว 

จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้ น่าอัศจรรย์จริงๆ

(หรือว่าตอนนี้มีแล้ว ใครทราบช่วยบอกด้วยนะครับ)

……………………………………

เมื่อก่อน มจร มมร มีแต่พระเณรเรียน และยุคต้นๆ นั้น มีเกณฑ์ตายตัวว่าพระเณรที่จะเรียน มจร มมร จะต้องเป็นเปรียญ คือต้องเรียนบาลีมาก่อนและสอบได้อย่างต่ำ ป.ธ.๓ หรือ ป.ธ.๔ (ป.ธ. ไหนนี่ไม่แน่ใจ โปรดตรวจสอบ)

พูดง่ายๆ ไม่ใช่มหา เรียนมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ ไม่ได้

ทำให้มองเห็นจุดยืนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่ยึดเอาการศึกษาบาลีเป็นรากฐาน แปลว่าไม่ต้องการให้พระเณรทิ้งการเรียนบาลี

พูดให้ดุเดือดว่า มจร มมร ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจะฆ่าการเรียนบาลี

แต่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เกณฑ์ที่กำหนดว่าเรียน มจร มมร จะต้องเป็นเปรียญก็เปลี่ยนไป

กลายเป็นว่า ทุกวันนี้ไม่เป็นเปรียญก็เรียนได้

ดังที่ปรากฏว่า พระที่จบ มจร มมร ในปัจจุบันนี้ ที่เป็น “พระ” ธรรมดา มีมากขึ้น และที่เป็น “พระมหา” เริ่มจะน้อยลงไป

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ จากเดิม มจร มมร มีแต่พระเณรเรียน เดี๋ยวนี้มีชาวบ้านเข้ามาเรียนด้วยแล้ว และนับวันจะมีมากขึ้น

ที่ว่ามานี้ยังไม่ได้มองว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ดีหรือเสีย หรือไม่เสียแต่ดี หรือไม่ดีแต่เสีย หรืออะไรอย่างไรทั้งสิ้นนะครับ มองเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และมองอย่างเป็นกลางเท่านั้น

ตามความเห็นของผม แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ พระเณรที่จบ ป.ธ.๙ ด้วย จบ ดร.ด้วย จะเริ่มอิ่มตัว จะพูดว่า-จะเริ่มลดลงก็ได้

พร้อมกันนั้น พระเณรที่จบ มจร มมร ที่ไม่เป็นเปรียญจะมีมากขึ้นจนท่วมท้นพระเณรที่เป็นเปรียญ 

อาจถึงระดับที่มองกันว่า พระเณรที่จบ มจร มมร และเป็นเปรียญด้วยนั้นเป็นเรื่องแปลก หรือเป็นตัวตลกไปเลยก็ได้ ต้องจับตาดูกันต่อไป

ถึงตอนนั้น พระเณรที่จบ ดร. แต่ไม่เป็นเปรียญก็จะท่วมท้น และถึงตอนนั้น ศักดิ์ศรีของพระที่จบ ดร. จะสูงส่งกว่าพระที่จบ ป.ธ.๙ อย่างเทียบกันไม่ติด

ดังที่เริ่มปรากฏแล้วในเวลานี้ก็คือ อักษรย่อต่อท้ายชื่อพระ จะเห็นว่า ดร. ผศ.ดร. รศ.ดร. ศ.ดร. เริ่มจะปรากฏชุกชุมแซงพระที่ต่อท้ายด้วย ป.ธ.๙ 

เปรียญที่ต่ำกว่า ป.ธ.๙ แทบจะไม่มีความหมายอีกแล้ว 

ดร. (ที่ไม่เป็นเปรียญ) … มาแรงกว่า

เป็นอันว่า ระหว่าง ป.ธ.๙ กับ ดร. ในที่สุดเราก็มี –

๑ พระที่จบ ป.ธ.๙ แต่ไม่จบ ดร.

๒ พระที่จบ ป.ธ.๙ ด้วย จบ ดร. ด้วย

๓ พระเปรียญที่ไม่จบ ป.ธ.๙ แต่จบ ดร.

๔ พระที่ไม่เป็นเปรียญ แต่จบ ดร.

และด้วยกระแสค่านิยมเช่นนี้ ในที่สุดการเรียนบาลีก็จะแผ่วลง และจะแผ่วลงไปเรื่อยๆ 

ถึงตอนนั้น ที่บอกว่า-มจร มมร ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจะฆ่าการเรียนบาลี ก็คงจะพูดไม่ได้อีกแล้ว

มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบ-หลับไปคืนนี้ยังดีๆ อยู่ ตื่นขึ้นเช้าพรุ่งนี้ … ไปเสียแล้ว

อาจไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วชีวิตเดียวของใครคนหนึ่ง

ก็ทำนองเดียวกับที่ผมพยากรณ์ไว้ว่า-ในอนาคต อธิการบดีของ มจร มมร จะเป็นฆราวาสนั่นแหละ 

ปีนี้ปีหน้ายังไม่เกิดหรอก

อีกนาน

และนานพอที่เราจะมีเวลาหาเหตุผลมาสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ว่า-

แบบนั้นมันก็น่าจะดีนะ

ก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลยนี่นะ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ดีกว่าแบบเดิมด้วยซ้ำไปนะ

ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ เพื่อจะบอกอะไร และทำไม?

ก็เพื่อจะบอกว่า จะเรียนอะไรจนจบอะไรก็เรียนเข้าไปเถิด ดีทั้งนั้น ขออนุโมทนา

เมื่อก่อนนี้ เรียน มจร มมร รู้สึกกันชัดเจนว่า “พระเรียนทางโลก” ผู้คนส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจ ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของการบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาที่เด่นชัดในความเข้าใจของชาวโลกก็คือ-เพื่อศึกษาและปฏิบัติทางธรรม ผู้ต่อต้านการที่ “พระเรียนทางโลก” มีอยู่มาก แม้เวลานี้ก็ยังคงมีอยู่บ้าง

จนถึงเวลานี้ ความรู้สึกว่าเรียน มจร มมร เป็นการเรียนทางโลก ค่อยแผ่วลงไปมากแล้ว แต่พร้อมกันนั้น การบริหาร มจร มมร ก็มีความโน้มเอียงเข้าไปสู่ความเป็นสถาบันการศึกษาแบบทางโลกมากขึ้น เป้าหมายของการบวชก็เริ่มเคลื่อนที่-จากเพื่อศึกษาและปฏิบัติทางธรรม เคลื่อนที่ไปเป็น-เพื่อศึกษาแบบทางโลก คือเพื่อให้ได้วุฒิ เพื่อใช้ศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากวุฒินั้นไปทำประโยชน์แบบเดียวกับทางโลก

ตามสภาพที่เรากำลังช่วยกันทำให้เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่นี้ ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราควรจะหาเวลาย้อนไปทบทวนเจตนาของการตั้ง มจร มมร ขึ้นมากันอีกสักที

จากเจตนาเดิม-เพื่อเอาความรู้ที่ได้จาก มจร มมร มาสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติทางธรรม (โปรดทบทวนคำว่า “วิชาชั้นสูง” ตามพระราชปณิธานของ ร.๕ และคำอธิบายของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ)

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่า-เพื่อจัดการศึกษาให้แก่พลเมืองส่วนหนึ่งที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา แบบเดียวกับที่สถาบันการศึกษาของทางบ้านเมืองดำเนินการให้แก่ผู้มีโอกาสทางการศึกษาตามปกตินั่นเอง

ผู้จบการศึกษาจาก มจร มมร ไปเป็นกำลังให้คณะสงฆ์หรือให้แก่การบริหารการพระศาสนา กลายเป็นเพียงผลพลอยได้-ทำนองเดียวกับการศึกษาบาลี

การศึกษาบาลีนั้นเจตนาคือให้ผู้จบการศึกษาก้าวขึ้นไปศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี คือพระไตรปิฎก หรือคือพระธรรมวินัย

แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ผู้จบการศึกษาบาลีแล้วจะไปทำอะไรย่อมเป็นไปตามอัธยาศัย

เหมือนจบ มจร มมร แล้วจะไปเป็นกำลังของพระศาสนาหรือจะไปทำอะไรก็ย่อมเป็นไปตามอัธยาศัยเช่นกัน

เวลานี้นิยมอ้างเหตุผลหรือแก้แทนให้กันว่า-ก็ช่วยให้พระเณรมีการศึกษา มีวุฒิ เรียนไปเขาก็ต้องรู้ธรรมะได้ธรรมะไปในตัว จบไปเขาก็เป็นชาวพุทธที่ดีมีคุณภาพ ก็เท่ากับเป็นกำลังของพระศาสนาอยู่แล้ว ทำได้อย่างนี้ยังไม่ดีอีกหรือ จะเอายังไงกันอีก จะเอาให้ถึงขนาดไหนกันอีก

เรื่องนี้ เกณฑ์ที่จะใช้วัดย่อมไม่ใช่เพียงแค่ “ทำได้เท่านี้ก็ดีแล้ว” แต่ต้องวัดกันที่-สนองเจตนารมณ์หรือเป้าหมายของการศึกษาชนิดนั้นๆ ที่ตั้งไว้หรือเปล่า 

ทำได้ดี แต่ไม่เป็นไปตามเจตนาที่ตั้งไว้ ก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่า นั่นยังไม่ใช่ดีที่ต้องการ

เทียบให้เห็นง่ายๆ กับการออกบวชในพระพุทธศาสนา เป้าหมายหรือเจตนาอยู่ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ (ดูแนวคิดในการออกบวชจากสามัญญผลสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒ เป็นต้น) แต่ทุกวันนี้มีผู้แสดงแนวคิดว่า บวชเพื่อให้มีพระไว้เฝ้าวัด มีพระไว้ให้ชาวบ้านทำบุญ แค่นี้ก็พอแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา

มีพระไว้เฝ้าวัด มีพระไว้ให้ชาวบ้านทำบุญ เป็นเรื่องดีอย่างแน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธ แต่นั่นยังไม่ใช่ดีที่ต้องการตามเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา

ฉันใดก็ฉันนั้น

หลักของเราก็คือ คงมาตรฐานเดิมไว้ แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นไปหามาตรฐาน

ถ้าปรับเปลี่ยนมาตรฐานไปเรื่อยๆ ตามค่านิยมของสังคมหรือตามศักยภาพที่ค่อยๆ เตี้ยลง ในที่สุดเราจะจมดินอยู่ที่เดิม

แต่อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในพระศาสนา หน้าที่หลักของพวกเราก็คือ –

……………………………………

๑ ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเพื่อให้รู้ชัดว่าอะไร-อย่างไรคือคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา เวลานี้สนามศึกษาอยู่ที่คัมภีร์บาลี แต่ใครแน่ใจมั่นใจว่าตนมีหนทางเข้าถึงพระธรรมวินัยที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องอาศัยคัมภีร์บาลี ก็เชิญดำเนินโดยหนทางนั้นได้เลย

๒ เมื่อได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว เอาความรู้นั้นมาปฏิบัติขัดเกลาพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปในพระธรรมวินัย

๓ แล้วประกาศแสดงเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปยิ่งๆ ขึ้น

……………………………………

ไม่ว่าจะจบ ป.ธ.๙ หรือจบ ดร. ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่หลักดังกล่าวนี้ ก็คือยังไม่ได้เข้าถึงสาระของการศึกษาในพระพุทธศาสนา

แต่ถ้าได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้อยู่แล้วอย่างขะมักเขม้น แม้จะไม่จบอะไรเลยสักอย่าง นั่นคือได้เข้าถึงสาระของการศึกษาในพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าจบ ป.ธ.๙ หรือจบ ดร. ด้วย ก็ยิ่งประเสริฐขึ้นไปอีก

ขอกราบอนุโมมทนาคารวะถวายกำลังใจ ให้กำลังใจ ขอให้เจริญในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๕:๑๕

…………………………………..

พระ ดร. มาแรงกำลังแซงพระ ป.ธ.๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *