บาลีวันละคำ

อภิเษก (บาลีวันละคำ 3,759)

อภิเษก

ดูแปลกหน้าเมื่อมาคำเดียว

อ่านว่า อะ-พิ-เสก

“อภิเษก” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อภิเสก” (สันสกฤต -เษก ษ ฤษี บาลี -เสก ส เสือ) อ่านว่า อะ-พิ-เส-กะ รากศัพท์มาจาก อภิ + เสก

(๑) “อภิ”

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(๒) “เสก”

บาลีอ่านว่า เส-กะ รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = รด, ราด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(จฺ) เป็น เอ (สิจฺ > เสจ), แปลง จ เป็น ก

: สิจฺ + ณ = สิจณ > สิจ > เสจ > เสก แปลตามศัพท์ว่า “การรด” หมายถึง การประพรม (sprinkling)

ในภาษาไทยมีคำว่า “เสก” ซึ่งน่าจะมีมูลมาจากคำบาลี แต่ความหมายกลายไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เสก : (คำกริยา) ร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น เสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งผัดหน้า, ร่ายมนตร์เพื่อทำให้สิ่งหนึ่งกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เสกหญ้าให้เป็นหุ่นพยนต์ เสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตน, ร่ายมนตร์เพื่อให้เกิดพลังส่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทำร้ายศัตรู เช่น เสกหนังเข้าท้อง.”

อภิ + เสก = อภิเสก (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า “การรดน้ำอย่างยิ่งใหญ่” หมายถึง การเจิม, การอภิเษก, การทำพิธีสถาปนา [เป็นกษัตริย์] (anointing, consecration, inauguration [as king])

บาลี “อภิเสก” สันสกฤตเป็น “อภิเษก”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“อภิเษก : (คำนาม) การชำระกาย; การประพรม; bathing; sprinkling.”

นอกจากนี้ สันสกฤตยังมี “อภิเษจน” อีกคำหนึ่งซึ่งรากศัพท์คล้ายคลึงกับ “เสจ” ในบาลีก่อนจะแปลง จ เป็น ก (ดูข้างต้น)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“อภิเษจน : (คำนาม) การตั้งแต่ง; การประพรม; initiation or inauguration; sprinkling.”

ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อภิเษก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“อภิเษก : (คำกริยา) แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน. (ส.; ป. อภิเสก).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามบางคำเป็นดังนี้ –

“อภิเษก : (คำกริยา) แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์. (ส.; ป. อภิเสก).”

ข้อสังเกตนอกประเด็น :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ใช้คำนิยามว่า “พิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็น “พิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์”

คือปรับแก้คำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” เป็น “พระมหากษัตริย์”

เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำลองสุ่มตรวจดู พบว่า คำนิยาม (เท่าที่สุ่มดู) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่ใช้คำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จะปรับแก้เป็น “พระมหากษัตริย์” ทุกแห่ง

น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้อ่านหรือศึกษาเหตุผลของคณะกรรมการชำระพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาว่า ทำไมจึงแก้คำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” เป็น “พระมหากษัตริย์” ถ้ามีโอกาสศึกษา ความรู้ทางภาษาไทยของเราก็จะได้เพิ่มพูนขึ้น

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอผ่านทางหน้า “บาลีวันละคำ” นี้มานานแล้วว่า ราชบัณฑิตยสภาน่าจะเลือกสรรบรรดาบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แสดงหลักวิชาความรู้สาขาต่างๆ ที่น่ารู้ แล้วนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ แทนที่จะเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อันใด

ไม่ทราบว่าเมื่อใดหรือมีทางใดที่ข้อเสนอนั้นจะไปสู่การรับรู้ของราชบัณฑิตยสภา

ขยายความ :

ในภาษาไทยเรามักไม่ได้เห็นคำว่า “อภิเษก” ที่ใช้เดี่ยวๆ เห็นแต่ที่ใช้เป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น ราชาภิเษก ปราบดาภิเษก พุทธาภิเษก เป็นต้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ราชาภิเษก : (คำนาม) พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ส.).

(2) ปราบดาภิเษก : (คำวิเศษณ์) มีอภิเษกอันถึงแล้ว. (คำโบราณ) (คำนาม) พระราชพิธีขึ้นเสวยราชสมบัติหรือได้ราชสมบัติ. (ส. ปฺราปฺต + อภิเษก).

(3) พุทธาภิเษก : (คำนาม) ชื่อพิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางตำแหน่งต้องรอให้เขาแต่งตั้งเป็นรายปี

: แต่การลงมือทำความดีไม่ต้องรอให้ใครแต่งตั้ง

#บาลีวันละคำ (3,759)

27-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *