บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ธัมมันเตวาสิก

ธัมมันเตวาสิก

—————

เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร

ตั้งแต่ราวๆ ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ผมมีโอกาสได้พบพระคุณเจ้าบางรูปที่เป็นนิสิต ป.เอก ของ มจร และซึ่งผมเคยได้รับความไว้วางใจให้ไปบรรยายถวายความรู้ตามหลักสูตรหลายครั้ง เรียกตามวัฒนธรรมสงฆ์-วัฒนธรรมไทยก็ว่า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน ทุกรูปจะบอกด้วยความยินดีว่า อาตมาสำเร็จแล้วโยมอาจารย์ 

ฟังแล้วปลื้มสุดๆ

หวนนึกไปถึงตอนผมสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ระลึกถึงสีหน้าท่าทีกิริยาอาการของพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระที่เคยเป็นครูสอนบาลีให้เรามา ท่านเหล่านั้นมีความสุขกันมากจริงๆ

ตอนนั้นยังไม่เข้าใจ

ตอนนี้เข้าใจซึ้งเลย

มีศิษย์เป็นประโยค ๙ ปลื้มใจฉันใด

มีศิษย์เป็นพระ ดร. ปลื้มใจฉันนั้น

ตอนนี้เพิ่งรับปริญญาบัตรกันไปแล้ว ผมไม่ได้ไปแสดงความยินดีด้วยเลยสักรูปเดียว ได้แต่ส่งใจปลื้มๆ ไปถวาย

นึกครึ้มๆ ไปถึงท่านอาจารย์นาวาอากาศเอกพิเศษ แย้ม ประพัฒน์ทอง อาจารย์สอนบาลีสำนักเรียนวัดสามพระยา ผู้ปั้น “กระจอก” อย่างพวกเราให้เป็น “พญาครุฑ” มานักต่อนัก ท่านเคยประกาศว่า ปีไหนมีพระเณรสอบประโยค ๙ ได้ถึง ๒๐ รูป ท่านจะถวายเพลทั้งหมด

ปีผมสอบได้ สอบได้ ๑๘ รูป หวิดๆ ไปทีเดียว 

เลยอดเพลท่านอาจารย์

นึกครึ้มๆ ว่า สะดวกดีเมื่อไรจะนิมนต์ศิษย์ที่เป็นพระ ดร. ทั้งหมดมาถวายเพลที่ราชบุรีสักมื้อ

………………

ตอนที่พระท่านบอกว่าอาตมาจบแล้วโยมอาจารย์ ผมกระซิบถามท่านไปว่า มีที่ยังไม่จบมั่งไหม 

ท่านบอกว่า มี 

ผมอุทานว่า อ้าว ทำไมล่ะ

คำตอบของท่านทำให้อึ้งกิมกี่ – บางรูปก็ยังไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน

ทีแรกก็นึกว่าท่านพูดเล่น แต่ท่านยืนยันว่าพูดจริง

ท่านลำดับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ต้นจนจบ ดร. ให้ฟัง สิริรวมแล้วเป็นล้านขอรับ

การต้องเสียค่าใช้จ่ายสารพัดสารพันนั้น ผมยืนยันแทนผู้บริหาร มจร มมร ได้เลยว่าเป็นเรื่องจำเป็น มีเหตุผล และสมเหตุสมผลทุกประการ ใครอย่าเถียงเป็นอันขาด

เพราะฉะนั้น บางรูปที่ยังขัดข้องด้วยปัจจัยอยู่ จึงยังไม่จบ ดร.

และเพราะฉะนั้นแหละที่ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “ธัมมันเตวาสิก”

………………

ผมว่าเราส่วนมากไม่คุ้นกับคำนี้ รวมทั้งผู้บริหาร มจร มมร ด้วย

“ธัมมันเตวาสิก” เป็นระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในตักสิลา (อ่านว่า ตัก-กะ-สิ-ลา เขียนเต็มตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila) เมืองมหาวิทยาลัยในสมัยพุทธกาล (ก่อนพุทธกาลและหลังพุทธกาลเล็กน้อยด้วย) และน่าจะใช้อยู่ทั่วๆ ไปในชมพูทวีปสมัยโบราณ

ระเบียบการรับคนเข้าศึกษาในตักสิลาคือ แต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอนจะมีศิษย์ ๒ ประเภท คือ –

๑ ประเภทเสียค่าเล่าเรียนเต็ม นักเรียนหาที่พักเอาเอง ได้เวลาก็มาเรียน 

๒ ประเภทธัมมันเตวาสิก คือไม่เสียค่าเล่าเรียน (เนื่องจากไม่มีจะเสียหรือไม่สะดวกที่จะเสีย) ประเภทนี้กินอยู่กับอาจารย์ ต้องทำงานทุกชนิดในบ้านเหมือนสมาชิกในครัวเรือน พูดง่ายๆ ว่าทำงานรับใช้แทนค่าเล่าเรียน

บุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เช่น องคุลิมาลและหมอชีวก สมัยไปศึกษาที่ตักสิลาก็ศึกษาในฐานะธัมมันเตวาสิก

ระบบธัมมันเตวาสิกสามารถนำมาใช้ในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ เช่น มจร มมร ได้หรือไม่?

เหตุผลที่ยังจบ ดร. ไม่ได้ “เพราะไม่มีเงิน” นั้น ฟังแล้วเสียดแทงความรู้สึกมากทีเดียว

ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยทางโลกก็พอว่า 

แต่เมื่อเกิดกับมหาวิทยาลัยของสงฆ์ นี่น่าคิดมาก 

ทางโลกกับทางธรรม ไม่ต่างอะไรกันเลย-เสียแล้วหรือ?

ไม่มีเงิน จบ ดร. ไม่ได้

ไม่อยากให้มีใครคิดตลบกลับ – มีเงิน เอาสักกี่ ดร. ก็ได้

แค่คิดก็ไม่ดีแล้ว

ผมยังคิดเตลิดต่อไปอีก – ในอนาคต ถ้าเกิดปัญหา “ไม่มีเงิน บวชไม่ได้” จะว่าอย่างไรกัน?

หรือว่า-ไม่ต้องรอในอนาคตหรอก ทุกวันนี้บางวัดบางสำนักก็เป็นอย่างนั้นแล้ว มีไหม มีที่ไหนเป็นอย่างนี้แล้วบ้าง?

ไม่อยากให้จบด้วยสำนวนที่มีคนนิยมพูดกัน – เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

แต่อยากเสนอให้ช่วยกันคิด – การศึกษาระบบธัมมันเตวาสิก – เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๕:๕๓

………………………………….

ธัมมันเตวาสิก

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *