สมบัติสาม คำที่ 3 (บาลีวันละคำ 1,518)
สมบัติสาม คำที่ 3
นิพพานสมบัติ
………………………..
คำชุดนี้ ในคัมภีร์ใช้ว่า –
(1) มนุสฺสสมฺปตฺติ (มะ-นุด-สะ-สำ-ปัด-ติ)
(2) ทิพฺพสมฺปตฺติ (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ, บางทีใช้ว่า เทวสมฺปตฺติ)
(3) นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ)
………………………..
“นิพพานสมบัติ” อ่านตามหลักภาษาว่า นิบ-พา-นะ-สม-บัด
อ่านตามสะดวกปากว่า นิบ-พาน-สม-บัด
ประกอบด้วย นิพพาน + สมบัติ
(๑) “นิพพาน”
บาลีเขียน “นิพฺพาน” (มีจุดใต้ พฺ ตัวแรก) อ่านว่า นิบ-พา-นะ รากศัพท์มาจาก –
ก) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) + วาน (เครื่องร้อยรัด), แปลง ว เป็น พ (วาน > พาน), ซ้อน พฺ
: นิ + พฺ + วาน = นิพฺวาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากเครื่องร้อยรัด”
ข) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) + วา (ธาตุ = ดับ, สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน วฺ ระหว่าง นิ + วา (นิ + วฺ + วา), แปลง วฺว (คือ วฺ ที่ซ้อนเข้ามา และ ว ต้นธาตุ) เป็น พฺพ
: นิ + วฺ + วา = นิวฺวา + ยุ > อน = นิวฺวาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”
ค) น (ไม่ใช่, ไม่มี) + วาน (ตัณหา), แปลง ว เป็น พ (วาน > พาน), ซ้อน พฺ, แปลง อะ ที่ น เป็น อิ (น > นิ)
: น + พฺ + วาน = นพฺวาน > นพฺพาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา” (2) “สภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”
ความหมายรวบยอดของ “นิพฺพาน” –
(1) การดับของไฟหรือความร้อน (the going out of a lamp or fire)
(2) อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี (health, the sense of bodily well-being)
(3) การดับไฟทางใจ 3 กอง (The dying out in the heart of the threefold fire of rāga, dosa & moha)
(4) ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบาย, ความสุขสำราญ (the sense of spiritual well-being, of security, emancipation, victory and peace, salvation, bliss)
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “นิพฺพาน” –
(1) นิพพานไม่ใช่สถานที่ ซึ่งมีอยู่แล้ว ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะหรือคุณภาพของจิตใจ
(2) นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็เป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น
(3) นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือฟังคำบรรยาย หรือจินตนาการเอาเอง เหมือนรสอาหาร ต่อให้พรรณนาหยดย้อยก็รู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรส แม้ไม่ต้องพรรณนาก็รู้ได้เอง
(4) ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือนอกโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งบรรลุนิพพานแล้วท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ
(๒) “สมบัติ”
บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ
: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม”
ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”
“สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)
(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence)
(3) เกียรติ (honour)
(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)
“สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด
“นิพฺพาน + สมฺปตฺติ = นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ) > นิพพานสมบัติ (นิบ-พา-นะ-สม-บัด, นิบ-พาน-สม-บัด) แปลว่า “สมบัติคือนิพพาน” (successful attainment of Nibbāna)
ประมวลความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน –
(1) มนุษยสมบัติ เข้าใจไปว่า เกิดมาแล้วร่ำรวย มีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี
(2) สวรรคสมบัติ เข้าใจไปว่า ได้ไปเกิดในสวรรค์แล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้เหมือนในโลกมนุษย์ แต่เป็นของทิพย์ของวิเศษ
(3) พอมาถึง นิพพานสมบัติ จะว่าอย่างไร ?
ก็ต้องเข้าใจว่า สำเร็จนิพพานแล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้อุดมสมบูรณ์ จึงจะเข้าชุดกัน มิเช่นนั้นก็จะลักลั่น
เข้าใจอย่างนี้ก็ไปสอดรับกับลัทธิที่สอนว่า นิพพานเป็นโลกทิพย์ที่มีรออยู่แล้ว (บอกขนาดกว้างยาวไว้เสร็จ) บรรลุนิพพานแล้วก็ได้ไปเสวยสุขเป็นอมตะชั่วนิรันดร อันเป็น “นิรวาณ” หรือ “ปรมาตมัน” ในลัทธิพราหมณ์นั่นเอง เป็นอันดึงเอานิพพานของพระพุทธเจ้าเข้าไปซุกอยู่ใต้ปีกของพราหมณ์โดยสมบูรณ์
ความหมายที่ถูกต้องของ “สมฺปตฺติ–สมบัติ” เมื่ออยู่ในชุด 3 คำนี้ ก็คือ –
(1) มนุษยสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดเป็นมนุษย์” จะมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือแม้แต่เป็นขอทาน ก็คือได้ “มนุษยสมบัติ” ทั้งนั้น
(2) สวรรคสมบัติ หมายถึง “การได้เกิดในสวรรค์” จะเป็นสวรรค์ชั้นไหน มีของทิพย์ชนิดไหน เป็นไปตามฐานะของสวรรค์ชั้นนั้นๆ ประกอบกับความประณีตของบุญกรรมที่ทำมา
(3) นิพพานสมบัติ หมายถึง “การได้บรรลุนิพพาน” นิพพานไม่ใช่ภพภูมิที่ให้ผู้บรรลุไปสิงสถิตเป็นอมตะ ณ ที่ใดๆ แต่นิพพานคือการดับรอบสิ้นเชื้อ ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป (แม้ถ้าไปเกิดใน “นิพพานภูมิ” หรือ “อายตนนิพพาน” ตามลัทธิที่สอนเช่นนั้น ก็ยังต้องตายอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีอะไรที่มีเกิดแล้วจะไม่มีตาย)
…………
ดูก่อนภราดา!
: นิพพานเป็นอริยสมบัติอันประเสริฐสุด
: ดังฤๅจะต้องหอบสมบัติมนุษย์ไปเข้านิพพาน?
31-7-59