บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากระบบทาส มาเป็นทาสของระบบ

จากระบบทาส มาเป็นทาสของระบบ

——————–

ท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านเล่าความหลังให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ วันหนึ่งไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เพชรบุรี ค้างคืนหนึ่ง ตื่นเช้าขึ้นมา มองไปที่หลังคาบ้าน เห็นพืชชนิดหนึ่งมีฝักห้อยย้อยอยู่บนหลังคาก็เอ่ยขึ้นว่า ที่นี่เขาปลูกถั่วฝักยาวบนหลังคาหรือ 

เจ้าของบ้านบอกว่า ไม่ใช่ถั่วฝักยาว นั่นมันคือมะรุม 

แล้วก็หัวเราะกันด้วยความขบขันใน “ความไม่รู้” ของคนกรุงเทพฯ 

ท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านท่านเป็นเด็กกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้จักต้นมะรุม ซึ่งก็เหมือนคนกรุงเทพฯ ทั้งหลายที่ไม่เคยรู้จักต้นพืชผักผลไม้อีกเป็นอันมากที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ตามท้องไร่ท้องนาในชนบท 

แล้วก็เลยเอ่ยถึงหลาน คุยกันว่า รุ่นหลานเรานี่ก็จะไม่รู้จักวัวควายตัวจริง จะเห็นแต่ในรูป 

ผมก็เลยเอ่ยขึ้นถึงเกวียน-ที่คนรุ่นใหม่ได้เห็นแต่ที่เขาเอาล้อมันมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งอาคารร้านค้า 

แต่ไม่เคยเห็นตัวเกวียนจริงๆ 

ผมโชคดีที่เคยเห็น ไม่ใช่เคยเห็นอย่างเดียว เคยขี่และเคยขับด้วย

ขี่คือนั่งไปในเกวียน

ขับคือถือเชือกบังคับวัวที่กำลังลากเกวียน 

และไม่ใช่ขับขี่ในงานแสดง แต่เป็นการขับขี่ในชีวิตจริง ชีวิตประจำวัน 

ส่วนประกอบต่างๆ ของเกวียนมีชื่อแยกเรียกเป็นส่วนๆ เช่น ทูบ เท้าแขน ตะพอง เฉพาะล้อมีส่วนประกอบสำคัญคือ ดุม กำ กง 

อย่าไปถามเด็กรุ่นใหม่ว่า ตรงไหนคือดุม คือกำ คือกง เขาไม่รู้จัก อาจบอกได้แต่เพียงว่านั่นเป็นล้อเกวียน แต่รายละเอียด ไม่รู้ 

ผมโชคดีที่รู้จัก ไม่ใช่แค่รู้จัก แต่เคยจับ เคยคลำ เคยใช้ เคยเห็นว่าเขาทำมันขึ้นมาอย่างไร 

เรื่องอย่างนี้ คนรุ่นใหม่จะบอกว่า-ไม่เห็นจำเป็นจะต้องรู้

…………………..

เรื่องที่อยากจะชวนให้คิดก็คือ ชีวิตคนรุ่นใหม่นับวันจะห่างไกลจากระบบที่แท้จริงของธรรมชาติ 

โฟกัสกันเรื่องเดียวก็พอ คือเรื่องกิน 

ในคัมภีร์มีเรื่องบันทึกไว้ว่า พระสารีบุตรอัครสาวกเคยโต้วาทีกับปริพาชิกา-นักบวชหญิงนอกศาสนาคนหนึ่ง 

ปริพาชิกาผู้นี้เรียนวิชาโต้วาทีมาโดยเฉพาะ เป็นแชมป์ระดับชาติ มีชื่อระบือทั่วชมพูทวีป ท้าแข่งที่ไหน หาคู่แข่งไม่ได้ 

วันหนึ่ง มาเจอพระสารีบุตร ท้าโต้วาทีกัน พระสารีบุตรให้นางเป็นฝ่ายเสนอญัตติก่อน 

ทุกญัตติพระสารีบุตรตีตกหมด 

ถึงวาระพระสารีบุตรเสนอญัตติบ้าง ท่านถามคำเดียวว่า “เอกํ นาม กึ” (เอกัง นามะ กิง) 

หมัดเดียวจอด เพราะไม่เคยเรียนญัตติแนวนี้มาก่อน ยกธงขาว ยอมเป็นศิษย์ ภายหลังได้บวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือตรัสรู้ได้ฉับพลัน 

อยากรู้รายละเอียด ไปหาอ่านเอาเองบ้างนะครับ

กลับมาเข้าประเด็น

เอกํ นาม กึ” แปลว่า “ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร” หรือ “อะไรชื่อว่าหนึ่ง

ความหมายของคำถามนี้คือต้องการถามว่า อะไรที่นับว่าเป็นหนึ่ง คือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

พระสารีบุตรเฉลยว่า – “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา” (สับ-เพ สัด-ตา อา-หา-รัด-ถิ-ติ-กา) (ที่มา: สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๒๒๖)

สพฺเพ สตฺตา” แปลว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

อาหารฏฺฐิติกา” แปลว่า “ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา” 

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

ถอดความสั้นๆ ฟังง่ายๆ ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่กินอยู่ไม่ได้

…………………..

ชีวิตในกรุงหรือชีวิตในเมือง เมื่อก่อนนี้ทุกบ้านยังตอบคำถามได้ว่าข้าวสารซื้อร้านไหน ถ่านหุงข้าว (หรือแก๊ส) ซื้อร้านไหน กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม ซื้อตลาดไหน ผักปลาซื้อตลาดไหน 

นั่นคือสมัยที่ทุกบ้านยังหุงข้าวทำกับข้าวกินเอง 

งานนี้เป็นหน้าที่ของผู้หญิง จึงทำให้โยงไปถึงคุณสมบัติของหญิงไทยที่จะแต่งงานออกเรือนมีครอบครัวได้ จะต้องรู้จักงานบ้านงานเรือน หุงข้าวต้มแกงเป็น 

วิทยาลัยการเรือน วิชาคหกรรมศาสตร์ ก็มีที่มาจากเหตุนี้ 

แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องบอกว่า-เป็นชีวิตประจำวันที่ยังเข้าไม่ถึงต้นตอรากเหง้าของธรรมชาติเดิม คือถึงแม้จะหุงข้าวทำกับข้าวกินเอง แต่ทุกอย่างก็ยังต้องใช้วิธี “ซื้อ” 

อาจจะมีบ้างก็เป็นส่วนเล็กน้อยเต็มที-เช่นที่พูดกันว่า ผักสวนครัวรั้วกินได้ ตะไคร้ ใบกระเพราะ อาจปลูกเอง แต่หลักๆ แล้วต้องใช้สตางค์ ไม่ได้ผลิตเอง 

แต่ครั้นตกมาถึง พ.ศ.นี้ ปรากฏว่าครอบครัวที่หุงข้าวทำกับข้าวกินเองลดลงไปแทบไม่เหลือแล้ว แต่ละบ้านหันมาใช้ระบบ “ทุกมื้อซื้อกิน” อ้างความสะดวกสารพัด 

ณ วันนี้ ไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อเองกันแล้วด้วยซ้ำ แค่กดเบอร์แล้วนั่งรออยู่กับบ้าน บริการส่งถึงที่ 

เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ พอจะ “กินข้าว” อันเป็นปัญหาพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต (“เอกํ นาม กึ” – “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา”) เขาจะนึกถึงร้านอาหารและสตางค์ในกระเป๋าเท่านั้น 

เวลานี้เด็กรุ่นใหม่ (และคนทั่วไปด้วย) คิดอยู่เรื่องเดียวว่า ทำอย่างไรจึงจะมีเงิน เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เห็นอยู่แต่ว่า-ทุกอย่างที่ต้องกินต้องใช้ ใช้เงินซื้อเอา 

คนรุ่นใหม่รู้อย่างเดียวว่า อาหารที่จะกินทุกมื้ออยู่ที่ร้านอาหาร ซึ่งต้องจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นงานสำคัญของชีวิตจึงมีเรื่องเดียวคือ หาเงิน 

คนรุ่นใหม่ไม่สนใจว่า อาหารมาอยู่ในร้านอาหาร (รวมทั้งร้านสะดวกซื้อต่างๆ) ได้อย่างไร เขารู้อย่างเดียวว่า เมื่อหิวก็ไปที่ร้าน จ่ายเงิน ได้อาหาร 

เมื่อระบบเป็นอย่างนี้ เงิน-จึงคือคำตอบของทุกปัญหา 

ร้านอาหารไม่ใช่แหล่งผลิตอาหาร แต่ต้องเอาสิ่งที่เรียกกันว่า “วัตถุดิบ” มาจากที่อื่น และที่อื่นก็เอามาจากที่อื่นอีกต่อหนึ่ง ต้นทางหรือแหล่งผลิตจริงๆ อยู่ที่ไหน คนรุ่นใหม่ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่สนใจ 

“ไม่เห็นจำเป็นจะต้องรู้ต้องสนใจ หาเงิน ได้เงิน มีเงินก็ได้ทุกอย่างที่ต้องการ” นี่คือความคิดของคนรุ่นใหม่ 

ชีวิตมีเรื่องคิดเรื่องเดียว – หาเงิน 

ถ้าไม่มีวัตถุดิบมาส่งให้ร้านอาหาร มีเงินก็ซื้ออาหารไม่ได้ 

กินกระดาษ กินเหรียญแทนอาหารก็ไม่ได้ 

ถ้าทุกร้าน ทุกแห่ง ไม่มีอาหารขาย คนกรุงจะอยู่กันอย่างไร 

ปัญหาแบบนี้ยังไม่เกิดหรอก แต่อย่าประมาทว่ามันจะไม่เกิด 

เคยสังเกตนกที่มันอาศัยอยู่ใกล้บ้านเราไหม 

นกมันไม่ได้คาบเงินไปที่ร้านอาหาร แล้วคาบอาหารกลับมาเลี้ยงลูกหรือเลี้ยงตัวเอง 

มันไปตัวเปล่า ปากเปล่า ไปที่แหล่งอาหารตามธรรมชาติธรรมดาของมัน หาอาหารเอาด้วยปากเปล่าๆ 

มันไม่ต้องมีปัญหาเรื่องหาเงิน แล้วเอาเงินไปซื้อสิ่งที่ต้องการอีกต่อหนึ่ง-เหมือนระบบที่มนุษย์คิดขึ้นมา 

ระบบใช้เงินแทนวัตถุที่ต้องการที่มนุษย์คิดขึ้นมา อาจดูสะดวกดี แต่เป็นระบบที่ทำให้มนุษย์กับวัตถุที่จำเป็นสำหรับชีวิตอยู่กันคนละโลก 

เป็นระบบที่ผิดธรรมชาติ 

คนกินข้าวควรจะรู้วิธีผลิตข้าวจริงๆ 

ไม่ใช่รู้เพียงวิธีหาเงินเอาไปซื้อข้าว 

เวลานี้มนุษย์ทั่วโลกแทบจะไม่รู้ว่า ปัจจัยจำเป็นสำหรับชีวิตผลิตที่ไหน ผลิตอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดแคลน และทำอย่างไรจึงจะถนอมแหล่งผลิตทั้งหลายให้ยั่งยืนสืบต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน 

คนรุ่นใหม่ไม่คิดเรื่องนี้

คนรุ่นใหม่คิดเรื่องเดียว-ทำอย่างไรจึงจะมีเงิน 

เพราะถูกครอบงำมาตั้งแต่เกิดว่า มีเงินก็สามารถมีทุกอย่างที่จำเป็น 

…………………..

มื้อกลางวันวันนี้ ควักเงินใส่จานกินแทนข้าวกันสักมื้อนะครับ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ กันยายน ๒๕๖๒

๑๒:๐๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *