บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตีนลูบหน้า ขี้หมากองเดียว

ตีนลูบหน้า ขี้หมากองเดียว

—————————

สำนวนนักเลงปากท่อ

ผมเกิดที่อำเภอปากท่อ เจริญวัยถึงระดับที่รู้จักซึมซับข้อมูลได้ที่วัดหนองกระทุ่ม สมัยหลวงปู่ป๋อง 

สำนวน “ตีนลูบหน้า ขี้หมากองเดียว” นี้คนปากท่อไม่ได้พูดคล้องจองกันแบบนี้ เป็นคำพูดต่างกรณีกัน แต่สอดคล้องควบคู่กันอย่างกลมกลืน ผมจึงจับเอามาเข้าคู่กัน 

ตอนเป็นเด็ก ผมชอบฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน ได้ยินถ้อยคำที่ตอบโต้กัน ได้เห็นกิริยาท่าทาง ฟังน้ำเสียง เห็นสีหน้า-สายตา สนุก ออกรส แล้วก็ซึมซับเอาไว้

สำนวน “ตีนลูบหน้า ขี้หมากองเดียว” นี้ ผมได้มาจากการฟังผู้ใหญ่คุยกัน ไม่ใช่ได้มาจากการอ่านหนังสือ หรือดูหนังดูละคร จึงออกจะแน่ใจว่าสำนวนแบบนี้เป็นของชาวปากท่อ คือมีพูดกันในท้องที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และไม่แน่ใจว่าในท้องที่อื่นจะมีพูดกันหรือไม่

……………….

จะเข้าใจได้ชัด ควรจับหลักไว้ก่อนว่า สำนวนนี้ใช้ในกรณี – 

๑ ถ้าผิด จะต้องเสีย หรือโดนปรับ

๒ ถ้าถูก จะได้รับรางวัล 

กรณีก็จะเป็นอย่างนี้ครับ —

สมมุติว่าฝ่ายหนึ่งมั่นใจว่า เรื่องนั้นๆ จะต้องเป็นอย่างนั้นแน่ เช่น ผู้สมัครเบอร์นี้ต้องได้รับเลือกตั้งแน่ๆ – อย่างนี้เป็นต้น เมื่อมั่นใจว่าความคิดความเห็นความเชื่อของตนไม่มีทางผิด ต้องเป็นอย่างที่ตนเชื่อแน่นอน เขาก็จะประกาศออกมาว่า –

“ถ้าผิด กูยอมให้เอาตีนลูบหน้า” 

ปกติ อวัยวะที่เหมาะจะใช้กับกิริยา “ลูบ” เช่น ลูบหน้าลูบตา ลูบหลังลูบไหล่ ลูบหัว ลูบอก เป็นต้น ก็ควรจะเป็น “มือ” และต้องเป็นฝ่ามือเท่านั้นที่จะใช้ลูบ 

“ตีน” เป็นอวัยวะเบื้องต่ำ ตามวัฒนธรรมไทยถือว่าเป็นส่วนที่ไม่สุภาพ ไม่ใช่อวัยวะที่จะใช้ลูบอะไร แต่มักใช้ในทางต่ำหรือทางร้าย เช่นใช้เตะหรือถีบ ในการต่อสู้ เช่นชกมวยไทย ถ้าใช้ตีนถีบหน้าคู่ต่อสู้ ถือว่าเป็นการแสดงศักดิ์ศรีที่เหนือกว่าหรือดูถูกข่มขวัญคู่ต่อสู้อย่างร้ายแรง (นักเลงมวยคงยืนยันได้) 

สำนวน “ตีนลูบหน้า” นั้น สาหัสกว่าตีนถีบหน้า เพราะกิริยา “ถีบ” ทำได้ครั้งเดียว คือถีบแล้วต้องชักตีนออก แต่ “ตีนลูบหน้า” คือใช้ตีนคลึงบริเวณใบหน้าไปมาได้นานตามใจชอบ 

คำพูดว่า “ยอมให้เอาตีนลูบหน้า” จึงเป็นกิริยายอมให้ดูถูกเหยียดหยามเหยียบย่ำจนสาแก่ใจเลยทีเดียว ซึ่งตามปกติคนเราจะไม่ยอมให้ใครมาทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน

สำนวน “ถ้าผิด กูยอมให้เอาตีนลูบหน้า” จึงมีความหมายเท่ากับยืนยันว่า ความคิดความเห็นความเชื่อของตนไม่มีทางผิดอย่างเด็ดขาด ถึงกับลงทุนเอาศักดิ์ศรีของตนเป็นเดิมพันเลยทีเดียว

อนึ่ง เวลาพูด ถ้อยคำสำนวนก็ต้องเข้มขนาดนี้ ตีนก็ต้องพูดว่า “ตีน” ตรงๆ จะเปลี่ยนเป็น “เท้า” ไม่ได้ 

สรรพนามก็ต้องเป็น “กู” ถ้าเปลี่ยนเป็น “ฉัน” หรือ “ข้าพเจ้า” จะหมดอรรถรสทันที 

กรณีเช่นนี้ เขาจะยกความสุภาพหรือหยาบคายออกไปก่อน ไม่มีใครถือกัน เพราะเป็นอรรถรสของภาษา

ทำนองเดียวกับสำนวน “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” 

ถ้าไปเปลี่ยนเป็น “เห็นช้างอุจจาระ อุจจาระตามช้าง” ก็จะเสียอรรถรสทันที

นี่คือกรณี-ถ้าผิด จะต้องเสีย หรือโดนปรับ

แต่ถ้าเป็นกรณี-ถ้าถูก จะได้รับรางวัล คำพูดก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง 

คือในกรณีที่ยืนยันว่า ความคิดความเห็นความเชื่อของตนถูกต้องอย่างแน่นอน ต่างว่ามีการเดิมพันกันว่าถ้าถูกตนจะได้อะไรเป็นรางวัล เขาก็จะพูดว่า 

“กูเอาขี้หมากองเดียว” 

นั่นคือเขามองว่า “ขี้หมา” เป็นสิ่งที่ไร้ค่าที่สุดในบรรดาสิ่งที่ไร้ค่าทั้งหลาย การได้ขี้หมาเป็นรางวัลเป็นการได้รางวัลที่ต่ำต้อยที่สุด

ในกรณีนี้ “ขี้หมา” ไม่ได้มีความหมายในทางดูถูก แต่หมายความว่า แม้จะมีสิ่งที่ต่ำต้อยน้อยค่าที่สุดเป็นรางวัล เขาก็ยังคงยืนยันถึงความถูกต้องของตัวเอง มั่นใจถึงถึงขนาดที่ว่า-แม้จะไม่ได้อะไรตอบแทนเลย แต่ขอให้เป็นที่รู้หรือยอมรับกันว่า ความคิดความเห็นความเชื่อของตนถูกต้อง-เท่านี้ก็พอใจที่สุดแล้ว

……………….

ดูให้ดีจะเห็นว่า ทั้ง ๒ สำนวนนี้อาจใช้ในกรณีเดียวกันนั่นเอง เพียงว่ามองคนละมุม — 

มองในมุม “ไม่ผิดอย่างแน่นอน” (ผิด-โดนปรับ) รับประกันด้วย – “กูยอมให้เอาตีนลูบหน้า”

แต่ถ้ามองในมุม “ถูกอย่างแน่นอน” (ถูก-ได้รับรางวัล) รับประกันด้วย – “กูเอาขี้หมากองเดียว” 

นี่คืออรรถรสจากสำนวนภาษาของนักเลงปากท่อ ที่ผมซึมซับรับฟังมาตั้งแต่เป็นเด็ก 

วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของนักเลงปากท่อคือ แม้จะถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่พอเลิกวงก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม กินข้าวกินเหล้าด้วยกันเหมือนเดิม ไม่มีใครโกรธกัน การถกเถียงกันจึงมีลักษณะคล้ายกับ “กีฬา” ชนิดหนึ่ง เป็นที่ประลองฝีปาก บางทีก็เป็นการลองเชิงกันสนุกๆ ในหมู่ผู้ค่อนข้างอาวุโส

ยั่วให้แย้ง 

แกล้งให้เถียง 

ได้ฟังคารมโวหารกันเป็นที่ครึกครื้น ได้ทั้งปัญญา ได้ทั้งความบันเทิง ข้อสำคัญเป็นการฝึกให้รู้จักเคารพกติกาในการแสดงความคิดเห็น 

ในวง “วาทกรีฑา” ดังเล่ามานี้ มักจะเกิดคำคมๆ คารมเด็ดๆ เอาไปบอกเล่ากล่าวขานกันเป็นที่ครึกครื้นต่อมาอีกหลายเพลาอยู่เนืองๆ 

เด็กปากท่อรุ่นใหม่จะได้เคยเห็นบรรยากาศแบบนี้กันบ้างหรือเปล่าไม่ทราบ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๙:๓๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *