บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๘)-จบ

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๘)-จบ

—————————–

ถึงตอนนี้ก็น่าจะจบชุดได้แล้ว 

สรุปเป็นภาพรวมว่า เรื่องคำพยากรณ์สังฆมณฑลนี้นำมาจากพระไตรปิฎก คือคัมภีร์เถรคาถา เป็นถ้อยคำที่พระปุสสเถระกล่าวตอบคำถามของฤๅษีปัณฑรส 

ประมวลความในคำตอบของพระเถระแล้ว ผมจึงตั้งชื่อว่า “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” 

ถ้าจะจัดกลุ่มกันแล้ว ก็น่าจะรวมอยู่ในเรื่องศาสนาอันตรธาน

เรื่องศาสนาอันตรธานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น –

เอกธัมมาทิปาลิ เอกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๑๕-๑๓๐

จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๓-๕๐

ทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๗๑๓ มีพระพุทธพจน์ตรัสถึงภิกษุกาสาวกัณฐะ (ผ้าเหลืองน้อยห้อยห้อยคอ, ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู) 

คัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ภาค ๓ อธิบายทักขิณาวิภังคสูตร หน้า ๘๖๑-๘๖๒ นำไปอธิบายขยายความแสดงให้เห็นถึงเรื่องศาสนาอันตรธาน

อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๕๑-๗๒ พระสูตรนี้ไม่ได้แสดงเรื่องศาสนาอันตรธานโดยตรง แต่แสดงเรื่องกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ ศีลธรรมของมนุษย์ และความผันแปรแห่งศีลธรรม บอกถึงร่องรอยแห่งความเสื่อมของพระศาสนาได้เป็นเงาๆ

สัทธัมมปฏิรูปกสูตร สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๑-๕๓๕

อาณิสูตร (ชื่อพระสูตรตามอรรถกถา) สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๖๗๒-๖๗๓

ในพระวินัยปิฎก ภิกขุนีขันธกะ จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๘ มีพระพุทธพจน์ตรัสว่าพระสัทธรรมจักดำรงอยู่ ๑๐๐๐ ปี 

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๓ หน้า ๔๔๘-๔๔๙ นำไปอธิบายขยายความแสดงให้เห็นถึงเรื่องศาสนาอันตรธาน (คัมภีร์ฉบับนี้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย)

………………..

เรื่องศาสนาอันตรธานในพระไตรปิฎกมีตรงไหนบ้าง นำมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง ถ้าตรวจดูให้ทั่วถึงทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็คงจะพบเรื่องศาสนาอันตรธานได้อีก ท่านที่รักและห่วงพระศาสนาและมีอุตสาหะลองช่วยกันตรวจหาดูเถิด

หนังสือชั้นหลังเรื่องหนึ่งที่แสดงเรื่องศาสนาอันตรธานไว้ คือพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนอันตรธานปริวรรต ปริจเฉทที่ ๒๙ เก็บความในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาบรรยายไว้ครบถ้วนตลอดสายจนถึงพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากโลก ท่านผู้ประสงค์จะทราบพึงแสวงหามาอ่านดูเถิด

………………..

กล่าวเฉพาะปุสสเถรคาถาอันเป็นที่มาของ “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้ว คงไม่มีใครแย้งได้ว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่จริง

ดูกันแค่ข้อเดียว –

………………………

อิสฺสุกี นานาวาทา จ

ภวิสฺสนฺติ อนาคเต ฯ

ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมาก –

… จักถือลัทธิต่างๆ กันออกไป

………………………

เวลานี้ก็เห็นกันแล้ว สำนักนั้นสอนอย่างนี้ สำนักนี้สอนอย่างนั้น ต่างยืนยันว่าคำสอนของสำนักตนถูกต้อง

ความเห็นต่าง เห็นแย้งกับพระไตรปิฎก ถูกอธิบายว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ คือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

“พระนิพพานมีทางไปได้หลายทาง” – เป็นเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมารองรับ และมีผู้เห็นด้วยอยู่ทั่วไป – ใครปฏิบัติอย่างไรถูกต้องทั้งหมด

๒๖๐๐ ปีผ่านมา ขนาดนี้

อีก ๒๕๐๐ ปีข้างหน้าจะขนาดไหน

………………..

ศึกษาเรื่องศาสนาอันตรธานแล้ว ได้ประโยชน์อะไร?

ประโยชน์ที่ประสงค์ก็คือ “สตึ  ปฏิลภิตุํ = เพื่อกลับได้สติ” พูดคำไทยว่า เฉลียวใจ ฉุกคิด

เมื่อมองเห็นภาพที่ท่านบรรยายไว้ในพระสูตรตามที่มาต่างๆ จะได้นำมาเทียบกับของจริงที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเราในปัจจุบันนี้ แล้วก็จะได้ข้อสรุปว่า-แบบนี้คืออย่างนั้น แบบนั้นคืออย่างนี้-ใช่ไหม

ต่อจากนั้นก็จะได้ย้อนถามตัวเองว่า —

………………………………..

ที่ใครๆ รวมทั้งตัวเราเองกำลังคิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ นี่ใช่ไหม-คือฟันเฟืองตัวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่กำลังช่วยกันหมุนพระศาสนาให้ดำเนินไปสู่ความอันตรธานที่ท่านแสดงไว้ 

ท่าทีแบบนี้ๆ ของใครๆ รวมทั้งของเราเองด้วยนี่ใช่ไหม คือก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งที่กำลังนำพาพระศาสนาก้าวไปสู่ความสูญสลายในอนาคต

………………………………..

ต่อจากนั้น เราก็คงมีสำนึกที่ถูกต้องเพื่อตอบตัวเองได้ว่า-ควรจะทำอย่างไรต่อไป

………………..

ผมเชื่อว่าจะต้องมีญาติมิตรหลายๆ ท่านกำลังจะพูดคำว่า “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง”

เรื่อง “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง” นี้ เรารู้ทั่วกันอยู่แล้ว

ก็ทำนองเดียวกับที่เรารู้ทั่วกันว่า “ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย” 

ถ้าคนที่รู้ความจริงว่า “ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย” เช่นนี้แล้ว นั่งนอนรอความตายอยู่ตรงที่เกิดนั่นเอง จะเป็นอย่างไร

ก็เมื่อรู้แล้วว่า “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง” เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นใช่ไหม อยู่กันนิ่งๆ เฉยๆ แบบเดียวกับคนที่รู้ว่า “ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย” แล้วนั่งนอนรอความตายอยู่ตรงนั้น – ท่านต้องการให้ทำอย่างนั้นหรือ

บอกแทนได้เลยว่า-ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำอย่างนั้น – แน่นอน ใครก็ต้องเข้าใจเจตนา เพราะฉะนั้น เมื่อเตือนสติเพื่อจะได้ไม่ลืมไปว่า “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง” เช่นนั้นแล้ว เราก็ควรจะมีสำนึกที่ถูกต้องเพื่อตอบตัวเองได้ว่า-ควรจะทำอย่างไรต่อไป

ใครที่ถือคติ “ศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว” ก็มีสิทธิ์ช่วยคิดได้นะครับ-ควรจะทำอย่างไรต่อไป

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๗:๔๒

………………………………….

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………….

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *