ไตรเพท (บาลีวันละคำ 3,477)
ไตรเพท
มาตรฐานความรู้ของผู้เป็นพราหมณ์
อ่านว่า ไตฺร-เพด
ประกอบด้วยคำว่า ไตร + เพท
(๑) “ไตร”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –
ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม
เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน
คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส
อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –
: ติ > ตรี
: เต > ไตร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”
(๒) “เพท”
บาลีเป็น “เวท” อ่านว่า เว-ทะ รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)
: วิทฺ + ณ = วิทณ > วิท > เวท แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องรู้ธรรมหรือการงาน” (คือ ต้องการรู้ธรรมก็ใช้สิ่งนี้ ต้องการรู้วิธีทำการงานก็ใช้สิ่งนี้)
“เวท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความรู้สึก (ยินดี), ความรู้สึกศรัทธา, ศรัทธาอย่างแรงกล้า, ความเกรงขาม, จิตตารมณ์, ความตื่นเต้น ([joyful] feeling, religious feeling, enthusiasm, awe, emotion, excitement)
(2) ความรู้, ญาณ, การเปิดเผย, ปัญญา (knowledge, insight, revelation, wisdom)
(3) พระเวท (the Veda)
ในภาษาไทย คำว่า “เวท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เวท, เวท– : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ทางศาสนา; ถ้อยคําศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นเป็นมนตร์หรือคาถาอาคม เมื่อนํามาเสกเป่าหรือบริกรรมตามลัทธิวิธีที่มีกําหนดไว้ สามารถให้ร้ายหรือดี หรือป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตามคติไสยศาสตร์ได้ เช่น ร่ายเวท, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ มนตร์ เป็น เวทมนตร์; ชื่อคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสนาพราหมณ์ยุคแรก มี ๔ คัมภีร์ ได้แก่ ๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย ตอนท้ายกล่าวถึงการสร้างโลก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบความเชื่อของชาวอินเดีย ๒. ยชุรเวท ว่าด้วยรายละเอียดการประกอบยัญพิธีและลำดับมนตร์ที่นำมาจากคัมภีร์ฤคเวทเพื่อสวดในขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธี ๓. สามเวท ว่าด้วยบทขับที่คัดเลือกมาจากประมาณหนึ่งในหกของฤคเวท และใช้เฉพาะในพิธีที่บูชาด้วยน้ำโสม ๔. อถรรพเวท หรือ อาถรรพเวท เป็นเวทมนตร์คาถาเพื่อให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายตนหรือผลร้ายแก่ฝ่ายศัตรู ตลอดจนการบันดาลสิ่งที่เป็นมงคลหรืออัปมงคล การทำเสน่ห์ การรักษาโรค และอื่น ๆ สามคัมภีร์แรกเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท ต่อมารับอถรรพเวทหรืออาถรรพเวทเข้ามารวมเป็นสี่คัมภีร์เรียกว่า จตุรเวท หรือ จตุรเพท, เรียกยุคแรกของศาสนาพราหมณ์จนถึงประมาณสมัยพุทธกาลว่า ยุคพระเวท มีวรรณกรรมหลักประกอบด้วยคัมภีร์พระเวท คัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารัณยกะและคัมภีร์อุปนิษัทรุ่นแรก. (ป., ส.).”
ติ + เวท = ติเวท (ติ-เว-ทะ) แปลว่า “เวทสาม”
ในคัมภีร์บาลีจะพบคำว่า “ติเวท” ได้ทั่วไป นักแปลไทยนิยมแปลทับศัพท์แบบแปลงศัพท์ว่า “ไตรเพท”
ติ > ไตร
เวท > เพท
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ไตรเพท : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ในสมัยพระเวท มี ๓ คัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท.”
ขยายความ :
“ไตรเพท” หรือ “เวทสาม” มีอะไรบ้าง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “เวท” บอกไว้แล้วดังที่ยกมาข้างต้น
ขอแยกออกมาให้เห็นชัดอีกที ดังนี้ –
๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
๒. ยชุรเวท ว่าด้วยการประกอบยัญพิธี
๓. สามเวท ว่าด้วยบทขับบูชา
ชื่อ “เวท” ทั้ง 3 นี้ พจนานุกรมฯ ยังได้เก็บแยกเป็นแต่ละคำไว้ด้วย ขอยกมาพร้อมทั้งเวทที่ 4 คือ อถรรพเวท หรือ อาถรรพเวท เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้ –
(1) ฤคเวท [รึกคะเวด] : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ที่ ๑ ของพระเวท ใช้ภาษาสันสกฤตรุ่นเก่าที่สุด ประพันธ์เป็นฉันท์ มีอายุประมาณ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล, อิรุพเพท ก็ว่า. (ส.; ป. อิรุพฺเพท).
(2) ยชุรเวท [ยะชุระ-] : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ ของพระเวท กล่าวถึงพิธีบูชาสำคัญหลายพิธี เช่น พิธีราชสูยะ พิธีอัศวเมธ รายละเอียดในการประกอบพิธีและเรื่องเล่าแต่งเป็นร้อยแก้ว ส่วนบทสวดเป็นฉันท์นำมาจากฤคเวท. (ส.).
(3) สามเวท [สามะเวด, สามมะเวด] : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ที่ ๓ ของพระเวท ประพันธ์เป็นฉันท์ ส่วนใหญ่คัดมาจากฤคเวท สำหรับขับในพิธีบูชาด้วยน้ำโสม. (ส.).
(4) อถรรพเวท, อาถรรพเวท [อะถับพะเวด, อะถันพะเวด, อาถับพะเวด, อาถันพะเวด] : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ที่ ๔ ของพระเวท ส่วนใหญ่ประพันธ์ขึ้นภายหลัง แต่มีบางบทที่เก่ามากซึ่งนำมาจากฤคเวทก็มี. (ส.).
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้ไตรเพทเจนพิภพจบสากล
: ใจของตนไม่รู้จักก็ดักดาน
#บาลีวันละคำ (3,477)
19-12-64
…………………………….