บาลีวันละคำ

สี่สรรพ (บาลีวันละคำ 3,480)

สี่สรรพ

สรรพทาน สรรพรส สรรพรัติ สรรพทุกข์

อ่านว่า สี่-สับ

คำว่า “สี่” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำนิยามไว้ว่า “จํานวนสามบวกหนึ่ง” 

อันที่จริง “จำนวนสองบวกสอง” ก็เป็น “สี่” ทำไมพจนานุกรมฯ จึงไม่ใช้2 + 2 (สองบวกสอง) แต่เลือกใช้ 3 + 1 (สามบวกหนึ่ง) ไม่อาจทราบเหตุผลได้ เป็นแต่เพียงชวนคิดเท่านั้น

ส่วนคำว่า “สรรพ” ตรงกับคำบาลีว่า “สพฺพ” (สับ-พะ) นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ทั้งปวง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำนิยามไว้ว่า “ทุกสิ่ง, ทั้งปวง, ทั้งหมด”

เอาคำว่า “สี่” กับคำว่า “สรรพ” มาพูดรวมกันเป็น “สี่สรรพ” โดยเจตนาจะให้หมายถึงสิ่งที่คัมภีร์บาลีเรียกว่า “สพฺพ” และกล่าวถึงเป็นชุดในที่เดียวกันเป็น 4 “สพฺพ

ข้อความในคัมภีร์เป็นดังนี้ – 

…………..

เขียนแบบาลี :

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ 

สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ 

สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ 

ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

เขียนแบบคำอ่าน :

สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ 

สัพพะระสัง ธัมมะระโส ชินาติ 

สัพะพะระตึ ธัมมะระติ ชินาติ 

ตัณหักขะโย สัพพะทุกขัง ชินาติ.

ที่มา: ตัณหาวรรค ธัมมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 34

…………..

เป็นอันว่ามี “สพฺพ” ในข้อความที่ยกมานี้ 4 “สพฺพ” คือ “สพฺพทานํ” “สพฺพรสํ” “สพฺพรตึ” และ “สพฺพทุกฺขํ” 

(๑) “สพฺพทานํ

รูปคำเดิมเป็น “สพฺพทาน” (สพฺพ + ทาน) อ่านว่า สับ-พะ-ทา-นะ แปลว่า “การให้ทั้งปวง” หรือ “ทานทั้งปวง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สรรพทาน” (สับ-พะ-ทาน)

(๒) “สพฺพรสํ

รูปคำเดิมเป็น “สพฺพรส” (สพฺพ + รส) อ่านว่า สับ-พะ-ระ-สะ แปลว่า “รสทั้งปวง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สรรพรส” (สับ-พะ-รด)

(๓) “สพฺพรตึ

รูปคำเดิมเป็น “สพฺพรติ” (สพฺพ + รติ) อ่านว่า สับ-พะ-ระ-ติ แปลว่า “ความยินดีทั้งปวง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สรรพรัติ” (สับ-พะ-รัด)

(๔) “สพฺพทุกฺขํ” 

รูปคำเดิมเป็น “สพฺพทุกฺข” (สพฺพ + ทุกฺข) อ่านว่า สับ-พะ-ทุก-ขะ แปลว่า “ความทุกข์ทั้งปวง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สรรพทุกข์” (สับ-พะ-ทุก)

ทั้ง 4 คำ มี “สพฺพ” เหมือนกันทุกคำ คำที่ต่างกัน คือ “ทาน” “รส” “รติ” และ “ทุกฺข

ความหมายของแต่ละคำ :

(๑) “ทาน” แปลตามศัพท์ว่า (1) “การให้” (2) “สิ่งของสำหรับให้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

(๒) “รส” แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” (3) “สิ่งเป็นเหตุติดใจ” (4) “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รส” ไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้) 

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8 ) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

(๓) “รติ” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องยินดี” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รติ” ว่า love, attachment, pleasure, liking for; fondness of (ความรัก, ความผูกพัน, ความยินดี, ความชอบหรือพอใจ; ความชอบใจ)

(๔) “ทุกฺข” แปลตามศัพท์ว่า – 

(1) “สภาวะที่ทำได้ยากที่จะอดทน” (ทนนะทนได้ แต่ยากหน่อย หรือยากมาก) 

(2) “ความสุขที่น่ารังเกียจ” (เป็นการมองโลกในแง่ดี คือความทนได้ยากที่เกิดขึ้นนั้นมองว่า-ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่น่าเกลียด หรือน่ารังเกียจ) 

(3) “สภาวะที่ขุดจิตเป็นสองอย่าง” (คือจิตปกติเป็นอย่างหนึ่งอยู่แล้ว พอมีทุกข์มากระทบ ก็กระเทือนกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง)

(4) “สภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์” (แบบที่เราพูดว่า “ทุกข์ก็คือทุกข์”)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุกฺข” ว่า unpleasant, painful, causing misery (ไม่รื่นรมย์, เจ็บปวด, นำมาซึ่งทุกขฺ) 

คาถาข้างต้นนั้น หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลเป็นไทยและอังกฤษ ดังนี้ –

…………..

ธรรมทาน ชนะทานทุกอย่าง 

รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่าง 

ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทุกอย่าง 

ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทุกอย่าง 

All gifts the gift of Truth excels. 

All tastes the taste of Truth excels. 

All delights the delight in Truth excels. 

All sorrows the end of craving excels.

…………..

เรามักจะได้ยินคำบาลีที่มีผู้นิยมยกมาอ้างเมื่อกล่าวถึง “ธรรมทาน” นั่นคือ “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีแปลว่า “การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง

เรามักสนใจกันแค่นี้ ไม่ได้ตามไปศึกษาต่อไปอีกว่า นอกจาก “สพฺพทาน” (สรรพทาน) แล้ว ยังมี “สพฺพรส” (สรรพรส) “สพฺพรติ” (สรรพรัติ) และ “สพฺพทุกฺข” (สรรพทุกข์) อยู่พร้อมด้วยกันเป็นชุด ซึ่งแต่ละ “สรรพ” ล้วนมีแง่มุมที่น่าศึกษาเรียนรู้ และสมควรรู้จักให้ครบทั้ง “สี่สรรพ” แต่เราก็รู้จักกันอยู่แค่ “สรรพ” เดียว

ถ้านักเรียนบาลีของเราเรียนบาลีเพื่อมุ่งไปที่พระไตรปิฎกกันให้มากขึ้น การศึกษาธรรมะแบบขาดๆ วิ่นๆ เช่นนี้ก็คงจะไม่เกิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สร้างพระไตรปิฎก ควรแก่การอนุโมทนา

: ศึกษาพระไตรปิฎก ยิ่งควรแก่การอนุโมทนา

#บาลีวันละคำ (3,480)

22-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *