บาลีวันละคำ

พระแว่นสูรยกานต์ (บาลีวันละคำ 3,485)

พระแว่นสูรยกานต์

ใช้คำเป็นสะพานคลำไปหาความรู้

อ่านว่า พฺระ-แว่น-สู-ระ-ยะ-กาน

คำที่ประสงค์ คือ “สูรยกานต์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สูรยกานต์ : (คำนาม) ชื่อแก้วชนิดหนึ่งถือกันว่าเมื่อถูกแสงพระอาทิตย์ทําให้เกิดไฟ, สุริยกันต์ หรือ สุริยกานต์ ก็ว่า. (ส. สูรฺยกานฺต; ป. สุริยกนฺต).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สูรยกานต์” รูปคำสันสกฤตเป็น “สูรฺยกานฺต” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สูรฺยกานฺต” บอกไว้ดังนี้ –

สูรฺยกานฺต : (คำนาม) ‘สูรยกานต์,’ มณี, แก้ว; a gem, a crystal.”

สันสกฤต “สูรฺยกานฺต” บาลีเป็น “สุริยกนฺต” ประกอบด้วยคำว่า สุริย + กนฺต

(๑) “สุริย

บาลีอ่านว่า สุ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุร (ความกล้า) + อิย ปัจจัย

: สุร + อิย = สุริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความกล้าให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลก

(2) สุ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิส ปัจจัย, ลง อาคมระหว่าง สุ + อิส (สุ + + อิส), แปลง ที่ อิส เป็น (อิส > อิย)

: สุ + + อิส = สุริส > สุริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนความกลัวของสัตวโลกด้วยการกำจัดความมืด

(3) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (ยะ) ปัจจัย, แปลง สรฺ เป็น สุริ

: สรฺ + = สรย > สุริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่โคจรเรื่อยไป

สุริย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun) ซึ่งนิยมทับศัพท์ว่า สุริยะ, สุริยา, สูรย์ ภาษาไทยใช้ว่า ตะวัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุริย-, สุริยะ : (คำนาม) พระอาทิตย์, ดวงตะวัน. (ป. สุริย; ส. สูรฺย); (คำที่ใช้ในโหราศาสตรฺ) ชื่อยาม ๑ ใน ๘ ยามในเวลากลางวัน. (ดู ยาม).”

(๒) “กนฺต” 

อ่านว่า กัน-ตะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา, รัก, ติดใจ) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น นฺต

: กมฺ + = กมฺต > กนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลปรารถนาแล้ว

กนฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (เป็นคำวิเศษณ์) พึงใจ, น่ารัก, น่าเพลิดเพลิน (pleasant, lovely, enjoyable)

(2) (เป็นคำวิเศษณ์) เป็นที่รัก, เป็นคนโปรด, น่ารักหรือมีเสน่ห์ (beloved by, favourite of, charming) 

(3) (เป็นคำนาม) คนที่เป็นที่รัก, สามี (the beloved one, the husband) ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ เป็น “กนฺตา” (กัน-ตา) หมายถึง สตรีที่เป็นที่รัก, ภรรยา (the beloved one, the wife) 

บาลี “กนฺต” สันสกฤตเป็น “กานฺต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กานฺต : (คำวิเศษณ์) อันเปนที่พอใจ, อันต้องอารมณ์, น่ารัก, งาม; อันเป็นที่รัก; pleasing, agreeable; lovely, beautiful; dear, beloved; – (คำนาม) นามของฤษณ; จันทร์; สามี; ฤดูวสันต์; พลอยอันมีค่า; กานดา หรือ ชายา, สตรีอันเป็นที่รักหรือน่ารัก; เหล็ก; หญ้าฝรั่น; name of Krishṇa; the moon; a husband; spring; a precious stone; a wife; any belovedor lovely woman; iron; saffron.” 

ในภาษาไทย ใช้ทั้ง “กันต์” แบบบาลี และ “กานต์” แบบสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) กันต์ ๑ : (คำกริยา) ตัด, โกน, เช่น เกศากันต์ (ตัดผม, โกนผม). (ป. กนฺต).

(2) กันต์ ๒ : (คำกริยา) ยินดี, พอใจ, เช่น สุนทรกันต์. (คำวิเศษณ์) น่าใคร่, น่าพอใจ, งดงาม. (ป. กนฺต, ส. กานฺต).

(3) กานต์ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เป็นที่รัก, โดยมากใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น จันทรกานต์ เป็นที่รักของพระจันทร์ ได้แก่แก้วผลึกที่ถูกแสงจันทร์แล้วมีเหงื่อ, คู่กับ สูรยกานต์ เป็นที่รักของพระอาทิตย์ ได้แก่แก้วที่รวมแสงอาทิตย์ให้เกิดไฟได้. (ส.).

สุริย + กนฺต = สุริยกนฺต (สุ-ริ-ยะ-กัน-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ปรารถนาแห่งดวงตะวัน

บาลี “สุริยกนฺต” 

สันสกฤต “สูรยกานฺต” 

ใช้ในภาษาไทยเป็น “สูรยกานต์

อธิบายขยายความ :

ความหมายของ “สูรยกานต์” ในสันสกฤตดังที่แสดงไว้ข้างต้น คือ มณี, แก้ว; a gem, a crystal ดังนั้น “สูรยกานต์” ในคำเดิมจึงหมายถึงมณีชนิดหนึ่ง

คัมภีร์มิลินทปัญหา ตอนมหาภูมิจลนปาตุภาวปัญหา แสดงรายชื่อแก้วมณีชนิดต่างๆ มีแก้วชื่อ “สุริยกนฺต” รวมอยู่ด้วย ข้อความเป็นดังนี้ –

…………..

ยถา  มหาราช  มหิยา  พหู  วิวิธมณโย  วิชฺชนฺติ  ฯ  ตํ  ยถา  อินฺทนีโล  มหานีโล  โชติรโส  เวฑุริโย อุมฺมารปุปฺโผ  มโนหโร  สุริยกนฺโต  จนฺทกนฺโต  วชิโร  กชฺโชปกฺกมโก  ปุสฺสราโค  โลหิตงฺโค  มสารคลฺโลติ  เอเต  สพฺเพ  อติกฺกมฺม  จกฺกวตฺติมณิ  อคฺคมกฺขายติ  จกฺกวตฺติมณิ  มหาราช  สมนฺตา  โยชนํ  โอภาเสน  ผรติ  ฯ  เอวเมว โข  มหาราช …

…………..

คัมภีร์มิลินทปัญหาแปลฉบับหนึ่ง แปลไว้ดังนี้ –

…………..

มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจแก้วทั้งหลายมีประการต่าง ๆ ในพื้นแผ่นดินนี้ คือ อินทนิล และมหานิล และโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วอุมมารบุปผา แก้วมโนหรา แก้วสุริยกันต์ แก้วจันทกันต์ แก้ววิเชียร แก้วบุษราคัม แก้วแดง แก้วลาย แก้วทั้งหลายนี้จะมีรัศมีดีขึ้นไปกว่าแก้วมณีของบรมจักรพรรดิราชหามิได้ ตกว่าแก้วมณีแห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราชนี้มีรัศมีแผ่ไปโดยรอบคอบสว่างไปโยชน์หนึ่ง แก้วทั้งหลายจึงไม่ดียิ่งกว่าจักรวรรดิมณี ความนี้จะเปรียบฉันใด ทานคนทั้งหลายซึ่งให้นั้นจะได้มีคุณเท่ากันกับทานพระเวสสันดรนี้ไม่มี เปรียบดุจมณีทั้งหลายในพื้นปฐพีอันจะดีล่วงไปจากจักรวรรดิรัตนะไม่มี หามิได้ …

…………..

หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “ศิลาหน้าเพลิง” กล่าวถึง “พระแว่นสูรยกานต์” มีข้อความดังนี้ – 

…………..

ศิลาหน้าเพลิง

คือ หินเหล็กไฟ ที่ใช้เหล็กสับกับหินให้เกิดประกายไฟ โดยมีดินปะทุเป็นเชื้อให้ติดไฟง่าย แล้วทรงจุดเทียนพระราชทานแก่เจ้าพนักงาน หากแต่การใช้หินเหล็กไฟไม่สะดวก ในสมัยต่อมาพระมหากษัตริย์จึงทรงใช้พระแว่นสูรยกานต์ส่องกับแสงอาทิตย์ให้เกิดไฟ แล้วจึงนำเอาเพลิงนั้นจุดถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ ซึ่งสันนิษฐานว่า การจุดเพลิงด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีเดียวกับการจุดเพลิงไฟฟ้าเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวยังคงปฏิบัติสืบมาในการถวายพระเพลิงเจ้านาย ดังในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงส่องพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ด้วยพระแว่นสูรยกานต์แล้วให้เจ้าพนักงานตั้งแต่งมณฑปสำหรับเลี้ยงเพลิงไว้ แล้วเชิญมายังพระเมรุมาศ ในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไฟที่เกิดจากพระแว่นสูรยกานต์ไปจุดเลี้ยงไว้ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อมีผู้มาขอไฟพระราชทานจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานสำนักพระราชวังเชิญ “ไฟหลวง” มาพระราชทานเพลิงศพผู้นั้นต่อไป

…………..

พระแว่นสูรยกานต์” คืออะไร ได้ความเท่าที่จะพึงหาได้ดังแสดงมา

พระแว่นสูรยกานต์” รูปร่างเป็นอย่างไร ยังหารูปมาให้ดูไม่ได้ 

อนึ่ง ใคร่กระซิบบอกนักเรียนบาลีว่า รายชื่อแก้วมณีตามคัมภีร์มิลินทปัญหาดังที่นำมาแสดงข้างต้นนั้นมี 13 ชนิด แต่มิลินทฉบับแปลที่นำมาแสดงแปลไว้ 12 ชนิด ตกไปชนิดหนึ่ง แก้วมณีที่ตกไปคือแก้วอะไร ขอแรงช่วยกันสอบทานดูเถิด

เรียนบาลีไม่ควรรู้แต่ภาษาบาลีอย่างเดียว 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีดวงตะวันก็หาวิธีจุดไฟได้

: มีปัญญาอยู่ในหัวใจ ก็จงหาทางไปพระนฤพานให้เจอ

#บาลีวันละคำ (3,485)

27-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *