วิธีคิดของผม
วิธีคิดของผม
————-
เวลาฟังใครพูด หรืออ่านที่ใครเขียน ญาติมิตรทั้งหลายใช้หลักอะไรในการฟังหรือในการอ่าน?
ถามให้แคบเข้ามาอีกหน่อย – เวลาฟังใครพูดหรืออ่านที่ใครเขียน แล้วเราบอกว่าเขาพูดดีเขียนดี หรือพูดไม่ดีเขียนไม่ดี เราเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน?
ผมมีวิธีคิดส่วนตัว ขออนุญาตเล่าสู่กันฟัง
เวลาฟังหรืออ่าน ผมตั้งเป้าหมายไว้ ๓ แบบ คือ
๑ เพื่อเรียนรู้ศึกษา
คือฟัง/อ่านเพื่อหาความรู้ เก็บเกี่ยวข้อมูล ชอบหรือไม่ชอบรับไว้ทั้งหมด ยังไม่ต้องวินิจฉัยถูกผิด วางใจเป็นกลาง ไม่ตั้งตัวเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับคนพูดคนเขียน
ฟัง/อ่านแบบนี้เราจะได้ข้อมูลเต็มกระเป๋า ทั้งเรื่องที่เราชอบ ทั้งเรื่องที่เราไม่ชอบ ได้ครบ ได้ความรู้เต็มๆ แม้จะเป็นเรื่องที่พูดผิดเขียนผิด เราก็ยังได้ความรู้อยู่นั่นเอง คือได้รู้ว่าเรื่องแบบนี้มีคนคิดแบบนี้มีคนเข้าใจแบบนี้ ซึ่งนี่ก็คือ “ความรู้” อย่างหนึ่ง
๒ เพื่อหาวิธีปฏิบัติ
คือเรากำลังจะทำอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องรู้วิธีทำ เมื่อยังไม่รู้ก็ต้องพยายามหาความรู้ในเรื่องนั้น เมื่อรู้แล้วจะได้เอามาลงมือทำได้ถูก
วิธีนี้ต่างจากวิธีแรก วิธีแรกเก็บเกี่ยวเอาทุกอย่าง แต่วิธีนี้เก็บเอาเฉพาะที่ต้องการ อะไรที่ไม่ต้องการหรือไม่ตรงกับที่เราต้องการ เราก็ผ่านไปเฉยๆ ไม่ชอบไม่ชัง ไม่เข้าไปวินิจฉัยว่าดีไม่ดี เพราะไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการ
๓ เพื่อขจัดความคลาดเคลื่อน
ไม่ใช่ฟัง/อ่านเพื่อหาความรู้หรือเพื่อเลือกเอาสิ่งที่ต้องการเหมือน ๒ วิธีข้างต้น แต่เมื่อใดก็ตามได้เห็นอะไรที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักของเรื่องนั้นๆ และเรารู้ว่าที่ถูกต้องคืออะไร ก็พยายามหาทางขจัดความคลาดเคลื่อนนั้นเท่าที่จะสามารถทำได้
วิธีนี้ไม่ใช่ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาสอดส่องแสวงหาฟัง/อ่านเฉพาะเรื่องที่คลาดเคลื่อน คือที่พูดผิดเขียนผิด อย่างที่มักเรียกกันคลุมๆ ไปว่า “จับผิดชาวบ้าน”
แต่หมายความว่า เราก็ฟัง/อ่านไปตามปกตินั่นแหละ เพียงแต่ว่า ถ้าไปเจออะไรที่คลาดเคลื่อน ก็จะไม่ปล่อยผ่านโดยอ้างว่า เรากำลังเก็บเกี่ยวความรู้หรือแสวงหาสิ่งที่ต้องการ ในเมื่อเรื่องนั้นไม่อยู่ในกรอบขอบเขตของเรา เราก็ไม่ต้องไปสนใจ จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนแค่ไหนอย่างไรไม่ใช่ธุระของเรา – ไม่ได้คิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ก็คือ ไม่รับผิดชอบ
…………………..
ทีนี้ลองมาใคร่ครวญดูถึงวิธีทั้ง ๓ นั้น
ผมเข้าใจว่า พวกเราส่วนมากฟังและอ่านด้วยความประสงค์แบบข้อแรก แต่จุดผิดพลาดที่เราลืมคิดก็คือ เราไม่ได้วางใจเป็นกลาง
เราส่วนมากเอา “ความถูกใจ” เป็นเกณฑ์ ฟัง/อ่านเรื่องนี้ ถูกใจเรา เราก็ว่าพูดดีเขียนดี ไม่ถูกใจเรา เราก็ว่าพูดไม่ดีเขียนไม่ดี
อย่างที่เห็นชัดๆ ก็เช่น —
– ใครชมคนที่เราชอบ ใครด่าคนที่เราชัง เราก็ว่าเขาพูดดีเขียนดี
– ใครชื่นชมแนวคิดที่เราชัง ตำหนิแนวคิดที่เราชอบ เราก็ว่าเขาพูดไม่ดีเขียนไม่ดี เพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา
ทั้งนี้โดยที่-เราแทบจะไม่ได้พิเคราะห์ถึงเนื้อแท้ของเรื่องที่เขาพูด/เขียนนั่นเลย เพราะเราเอาความชอบหรือไม่ชอบของเราเป็นกำแพงปิดกั้นไว้หมด
…………………………………….
“เพื่อน” ผมคนหนึ่ง ผมอ่านโพสต์ของเขาในเฟซบุ๊ก เขาจะด่านายกรัฐมนตรีทุกโพสต์ไป วิธีเขียนของเขาคือเอาเรื่องที่น่ารู้ในเหตุการณ์ปัจจุบันขึ้นมานำ ให้ความรู้เกี่ยวกับเบื้องหลังของเรื่องนั้นๆ น่าอ่านมาก แต่ลงท้ายเขาจะด่านายกรัฐมนตรีทุกทีไป ด่าด้วยคำหยาบคายด้วย เพียงแต่ลดความหยาบด้วยการใช้คำผวนซึ่งก็เป็นศิลปะในการเขียนแบบหนึ่ง
…………………………………….
ผมชอบอ่านโพสต์ของเขา เพราะได้ความรู้ ผมเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนที่เขาด่านายกฯ ผมไม่เดือดร้อน เพราะผมไม่ได้ชอบนายกฯ แต่ผมก็ไม่ได้สะใจ เพราะผมก็ไม่ได้ชังนายกฯ ผมเก็บเอาเฉพาะประโยชน์เต็มๆ
และผมก็ไม่เคยบอกเขาว่า เขียนเรื่องแนวอื่นเถอะ อย่าเขียนแนวนี้เลย เพราะผมวางใจเป็นกลาง ไม่ไปเกณฑ์ให้เขาทำอย่างที่ผมต้องการ ซึ่งถ้าจะพูดให้ตรงก็คือ-เพราะผมไม่ได้ตั้งความต้องการของตัวเองไว้ว่าใครจะต้องทำอะไรหรือต้องไม่ทำอะไรตามที่ผมต้องการ
ด้วยท่าทีเช่นนี้ ผมกับเขาก็ไม่ต้องกระทบกระเทือนกัน คงเป็น “เพื่อน” กันตามกติกาของเฟซบุ๊กได้เป็นอันดีสืบมาจนทุกวันนี้
และด้วยท่าทีเช่นนี้เช่นกัน ผมก็ไม่ต้องขัดใจกับใคร หรือพูดตรงๆ ว่า ไม่ต้องเป็นศัตรูกับใครเลย-แม้แต่กับคนที่ไม่ชอบผม เพราะผมไม่มีอะไรที่จะต้อง “ไม่ชอบ” ตอบกลับไปไม่ว่ากับใครทั้งสิ้น
…………………..
การฟัง/อ่านแบบที่ ๒ เหมาะสำหรับกรณีที่เราจะหา “ตัวช่วย” ในกิจที่เราจะต้องทำ ถ้าชี้เฉพาะก็อย่างเช่น-การปฏิบัติธรรม
เรานับถือพระพุทธศาสนาก็คือเราตกลงใจจะใช้คำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตของเรา อุปมาเหมือนคนป่วยตกลงใจเลือกใช้ยาขนานหนึ่งรักษาอาการป่วย เมื่อตกลงใจแล้วก็ไม่ต้องไปพะวงถึงยาขนานไหนอีก ทำความเข้าใจกับการใช้ยาขนานนั้นไปอย่างเดียวให้เต็มที่
คือผมมานึกถึงแนวทางศึกษาศาสนาของบางคน เขาบอกว่าเราควรศึกษาให้รู้แนวคำสอนของศาสนาต่างๆ ไว้บ้าง พูดชัดๆ ก็คือ ชาวพุทธควรศึกษาเรียนรู้เรื่องศาสนาต่างๆ ให้ทั่วถึง ไม่ควรใจแคบ
ผมก็เลยนึกถึงข้ออุปมานั้น เหมือนคนที่ตกลงใจแล้วว่าขอใช้ยาขนานนี้รักษาอาการป่วย แต่มีคนบอกว่าควรมองหายาขนานอื่นไว้บ้าง
ในแง่ปริยัติหรือการเรียนรู้ ไม่ขัดข้องนะครับ ใครมีเวลาที่จะเรียนรู้- หรือโดยตำแหน่งหน้าที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องศาสนาหรือปรัชญาต่างๆ ก็เชิญตามสบาย
แต่ในแง่ปฏิบัติ ถ้าจะเรียนรู้เพื่อแสวงหาหลักคำสอนที่ถูกใจพอใจเพื่อเอามาปฏิบัติในชีวิตจริง ผมว่าแบบนั้นน่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ตกลงใจว่าจะนับถือศาสนาไหนดี-เหมือนคนป่วยยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะใช้ยาขนานไหนดี จึงต้องมองหายาขนานต่างๆ ไปเรื่อยๆ
จะเป็นอย่างไร ถ้า-วันหนึ่งพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไปทำละหมาดในมัสยิดหรือไปเข้าพิธีมิสซาโดยอ้างว่า-ชาวพุทธไม่ควรใจแคบ รู้แต่ศาสนาของตัว แต่ควรแสวงหาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมในทุกศาสนา
เพราะฉะนั้น การฟัง/อ่านเพื่อหาวิธีปฏิบัติ ก็ต้องใช้ให้ถูกเรื่องด้วย
…………………..
ส่วนแบบที่ ๓ ฟัง/อ่านเพื่อขจัดความคลาดเคลื่อน เหมาะที่จะเป็นงานของผู้มีหน้าที่บริหารการพระศาสนาโดยตรง แต่ก็ควรที่ผู้รัก ห่วง และหวังดีต่อพระศาสนาจะช่วยกันทำโดยอนุโลม
เวลานี้มีค่านิยมที่แฝงฝังอยู่ในหมู่ชาวเฟซบุ๊กอย่างหนึ่ง คือเห็นใครพูดผิดเขียนผิดถือกันเป็นมารยาทว่าไม่ควรไปทักท้วง
เพราะฉะนั้น ใครพูดผิดเขียนผิดที่ไหน ผู้คนก็จะปล่อยเลยตามเลยกันไปหมด ถือว่าการทักท้วงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ เรื่องอะไรที่พูดผิดเขียนผิดก็จะดำรงความผิดเช่นนั้นอยู่ตลอดไป
คนภายหลังซึ่งส่วนมากไม่มีอุตสาหะที่จะศึกษาตรวจสอบให้รู้แน่ชัดว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก ก็จะคว้าเอาเรื่องที่พูดผิดเขียนผิดไปเอ่ยอ้าง-อ้างอิงต่อไปอีก เท่ากับช่วยกันขยายเรื่องผิดๆ ให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ
หลักการที่เราควรถือปฏิบัติก็คือ เมื่อมีใครพูดหรือเขียนอะไรที่มันไม่ถูกต้อง จะเพราะเข้าใจผิด หรือไม่รู้ความเป็นจริง หรือมีเจตนาแฝงเร้นอะไรก็ตาม เราต้องสามารถชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจถูกต้องได้อย่างเรียบร้อย อย่างมีไมตรีต่อกัน ไม่ใช่ทะเลาะกับเขา ด่าว่าหรือทำร้ายเขา แต่บอกกันอย่างมิตร
…………………..
ที่เราทำพลาดกันมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่รู้จักแยกตัวบุคคลออกจากความคิดเห็นของเขา
เราไม่ชอบความคิดความเห็นของเขา เราก็เลยไม่ชอบเขาไปด้วย
ถ้าจะบอกว่า นี่เป็นลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งของคนไทย-หรืออาจของคนทั้งโลก(?)- ก็คงไม่ผิด
ถกเถียงกันในห้องประชุม ออกจากห้องประชุมแล้วยังพกเอาความขัดแย้งออกมาด้วย ไม่มองหน้ากัน ไม่พูดกัน โกรธกัน นี่เป็นท่าทีที่ประพฤติกันทั่วไป เป็นท่าทีที่ผิดอย่างยิ่ง
ตัวเขากับความคิดเห็นของเขาเป็นคนละส่วนกัน
ความคิดเห็นอาจขัดแย้งกันได้
แต่ตัวบุคคลต้องเป็นมิตรกันเสมอ
เหตุผลข้อเดียวที่คลุมไว้ทั้งหมดก็คือ-เพราะเราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
คำแผ่เมตตา “สัพเพ สัตตา …” เรารู้กันเป็นอย่างดี รู้จักดีถึงขนาดเอาไปพูดล้อเลียนเป็นของเล่นได้นั่นเลย
เรารู้จักคำแผ่เมตตา
แต่เราไม่รู้จักแผ่เมตตา
แผ่เมตตาคือทำอย่างไร?
แผ่เมตตาภาคปฏิบัติจริง-นอกจากพูดตามตัวหนังสือ-ก็คือ การมองเพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากใจจริงว่า “คนคนนี้ คนคนนั้น ตลอดจนคนทั้งหลาย คือเพื่อนรักของเรา”
เมตตา = มิตร ความหมายเดียวกัน
เมื่อเป็นเพื่อนกันได้แล้ว อะไรที่คิดเห็นไม่ตรงกันก็มีทางที่จะปรับแก้เข้าหากันจนเข้าใจกันดีได้ง่ายที่สุด
แยกตัวบุคคลออกจากความคิดเห็นของเขาได้ มนุษย์เราจะเป็นเพื่อนที่รักกันได้มากขึ้น และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุขยิ่งขึ้น
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๗:๑๕
…………………………………
วิธีคิดของผม