ขัณฑสีมา (บาลีวันละคำ 3,930)
ขัณฑสีมา
เช่นในคำว่า-ข้าขอบขัณฑสีมา
อ่านว่า ขัน-ทะ-สี-มา
ประกอบด้วยคำว่า ขัณฑ + สีมา
(๑) “ขัณฑ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ขณฺฑ” อ่านแบบบาลีว่า ขัน-ดะ อ่านแบบไทยว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก ขฑิ (ธาตุ = ตัด, ฉีก, ขาด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณ (ขฑิ > ขํฑิ > ขณฺฑิ), ลบสระที่สุดธาตุ (ขฑิ > ขฑ)
: ขฑิ > ขํฑิ > ขณฺฑิ > ขณฺฑ + อ = ขณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ขาดออก” (คือแยกออกมา)
“ขณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง หัก (broken)
(2) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ชิ้นส่วนที่แตกหัก, ท่อน (a broken piece, a bit)
บาลี “ขณฺฑ” สันสกฤตก็เป็น “ขณฺฑ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ขณฺฑ : (คำนาม) ขัณฑ์, แถบ, ชิ้น, อัน, เศษ, ภาค, ส่วน; บริจเฉท, ตอน; บทในสมีกรณ์ (ที่เราเรียกคล้อยตามอังกฤษพากย์ว่า – อิเคฺวชัน); ตำหนิในมณี; น้ำอ้อย; เกลืออันมีสีดำ; a piece, a part, a fragment, a portion; a chapter, a section; a term in an equation; a flaw in a jewel; treacle or molasses; black salt.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “ขัณฑ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัณฑ– : (คำนาม) ภาค, ตอน, ท่อน, ส่วน, ก้อน, ชิ้น. (ป., ส. ขณฺฑ).”
(๒) “สีมา”
อ่านว่า สี-มา รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สี + ม = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish)
บาลี “สีมา” สันสกฤตก็เป็น “สีมา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สีมา : (คำนาม) เขตต์; เกษตร์, นา; ตลิ่ง, ฝั่ง, ฟาก; สัตยศีลตาหรือความซื่อตรง; ต้นคอ; อัณฑโกศ, พวงอัณฑะ; boundary or limit; a field; a bank or shore; rectitude or uprightness; the nape of the neck; the scrotum.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทําด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).”
และที่คำว่า “เสมา” บอกไว้ว่า –
“เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกําแพงอย่างกําแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสําหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”
ขัณฑ + สีมา = ขัณฑสีมา แปลว่า “เขตที่แบ่งเป็นส่วนหนึ่ง” หมายถึง มีเขตที่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ (1) แยกส่วนหนึ่งออกจากส่วนใหญ่ หรือ (2) เอาส่วนอื่นเข้ามารวมกับส่วนใหญ่
ความหมายทั้ง 2 นี้ พิจารณารอบด้านก็จะเห็นภาพเดียวกัน กล่าวคือ –
(1) ส่วนที่แยกออกจากส่วนใหญ่ คือ “ขัณฑสีมา”
(2) ส่วนที่เอามารวมกับส่วนใหญ่ ก็คือ “ขัณฑสีมา” นั่นเอง
นั่นคือ ต้องแยกเป็น “ขัณฑสีมา” จากส่วนเดิมก่อน จึงจะไปรวมเป็น “ขัณฑสีมา” กับอีกส่วนหนึ่งได้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัณฑสีมา : (คำนาม) เขตแดน, เขตแดนส่วนหนึ่ง ๆ. (ป., ส.).”
อภิปรายขยายความ :
“ขัณฑสีมา” มักพูดรวมอยู่กับคำอื่น ไม่ได้พูดคำเดียว เช่น “เป็นข้าขอบขัณฑสีมา” ไม่ได้พูดว่า “เป็นขัณฑสีมา”
คำว่า “ขอบขัณฑสีมา” นี้ เคยได้ยินบางคนพูดว่า “เขตขัณฑสีมา” ชวนให้สงสัยว่า ใช้คำไหนกันแน่ “ขอบขัณฑ…” หรือ “เขตขัณฑ…”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ขอบ” และ “เขต” เป็นแม่คำหรือคำตั้ง แต่ไม่มีลูกคำที่เป็น “ขอบขัณฑ์” หรือ “เขตขัณฑ์”
ผู้เขียนบาลีวันละคำสุ่มหาไปเรื่อยๆ ในที่สุดไปพบที่คำว่า “เมืองขึ้น”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เมืองขึ้น : (คำนาม) เมืองที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมา, ประเทศที่อยู่ในปกครองของประเทศอื่น.”
ตามคำนิยามนี้เป็นได้คำตอบว่า ใช้ว่า “ขอบขัณฑ…” ไม่ใช่ “เขตขัณฑ…”
แต่ยังไม่ได้คำตอบว่า ในเมื่อคำนี้พจนานุกรมฯ ใช้อยู่ในคำนิยาม แต่ทำไมจึงไม่เก็บไว้เป็นลูกคำของคำว่า “ขอบ” จะได้เห็นหลักฐานชัดๆ ว่า ใช้ว่า “ขอบขัณฑ…” ไม่ใช่ “เขตขัณฑ…”
แถม :
ขัณฑ–ขัณฑ์ ณ เณร ฑ มณโฑ
ไม่ใช่ ขันธ-ขันธ์ น หนู ธ ธง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แม้จะเป็นอิสระก็ยังไม่วิเศษ
: ถ้ายังยอมให้กิเลสเป็นใหญ่
#บาลีวันละคำ (3,930)
17-3-66
…………………………….
…………………………….