บาลีวันละคำ

เอวัง (บาลีวันละคำ 483)

เอวัง

อ่านว่า เอ-วัง

บาลีเขียน “เอวํ

(เครื่องหมายบนอักษร เรียกว่า “นิคหิต” (นิก-คะ-หิค) หรือ “นฤคหิต” (นะ-รึ-คะ-หิค) คำเก่าเรียก “หยาดน้ำค้าง” บางคนเรียกง่ายๆว่า “จุดบน” พยัญชนะที่มีนิคหิตอยู่ข้างบน อ่านเหมือน + อัง : ว + อัง = วัง : เอวํ = เอวัง)

เอวํ” แปลว่า อย่างนั้น, เช่นนั้น, อย่างนี้, เช่นนี้, ด้วยอาการอย่างนั้น, ด้วยอาการอย่างนี้, ด้วยประการฉะนี้

พจน.42 บอกไว้ว่า “เอวัง : (ภาษาปาก) จบ, หมดสิ้น

แต่เดิมพระสงฆ์แสดงธรรมด้วยการยกข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดง (ธรรมเนียมพระถือคัมภีร์เทศน์มาจากเหตุนี้) พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี พระผู้เทศน์จึงต้องแปลเป็นคำไทยสลับกันไป เป็นที่มาของคำว่า “แปลร้อย” (แปลร้อย : แปลเอาความโดยยกศัพท์บาลีมาคั่นไว้. ร่องรอยสำนวนแปลร้อยที่เรารู้จักกันดีคือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก)

เมื่อจบข้อความที่เทศน์ จะมีคำว่า “เอวํ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเนื้อความดังที่แสดงมานี้” แต่สำนวนที่นิยมกันมากที่สุดและถือว่าเป็นแบบแผนคือ “เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้” จนเป็นที่รู้กันว่า เมื่อลงท้ายว่า “เอวัง ก็มี…” ก็คือ จบการแสดงพระธรรมเทศนา

คำว่า “เอวัง” จึงเป็นสำนวน มีความหมายว่า จบเรื่อง หมดเรื่อง ยกเลิก เลิกกันไป

ชีวิต :

ไม่ผิดกับแสดงธรรมให้โลกฟัง

มีขึ้นต้น ก็หนีไม่พ้นเอวัง

ยามอยู่ อย่าให้โลกชิงชัง

ยามเอวัง ก็ควรให้โลกชื่นชม

—————-

(ได้รับอนุญาตให้ขโมยมาจากคำของ ศุภวัฒน์ คนมั่น)

10-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย