พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ (บาลีวันละคำ 3,490)
พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
ประทานพรปีใหม่ 2565
อ่านว่า พฺระ-สี-สาก-กะ-ยะ-ทด-สะ-พน-ละ-ยาน-ปฺระ-ทาน-พุด-ทะ-มน-ทน-สุ-ทัด
แยกศัพท์ศึกษาเป็นอลังการแห่งความรู้
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ดังนี้ –
(1) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ
(2) พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ
(3) นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน
(4) ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี ๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์ ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ
(5) อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
(6) บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(7) โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.
(8 ) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำสรรพนาม) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).
ในที่นี้คำว่า “พระ” หมายถึง พระพุทธรูป, พระพุทธเจ้า
(๒) “ศรี”
บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ (หรือ อี) ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” (2) “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
(1) splendour, beauty (ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม)
(2) luck, glory, majesty, prosperity (โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง)
(3) the goddess of luck (เทพธิดาแห่งโชคลาภ)
(4) the royal bed-chamber (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ = ห้องบรรทม)
“สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
(1) ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี
(2) (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม
และบอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –
(1) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง
(2) ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(3) พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี
(4) ผู้หญิง (คำเขมร = สี)
(5) (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)
(๓) “ศากย”
บาลีเป็น “สกฺย” อ่านว่า สัก-กฺยะ คำว่า –กฺย (มีจุดใต้ กฺ) ไม่ใช่ กะ-ยะ แต่ออกเสียง กฺ ครึ่งเสียง หรือจะอ่านว่า สัก-เกียะ ตรงๆ ก็จะได้เสียงที่ชัดขึ้น
“สกฺย” รากศัพท์มาจาก สกฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ญฺย > ย)
: สกฺ + ณฺย = สกฺณฺย > สกฺย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สามารถ” (2) “ผู้สามารถที่จะรักษาตระกูลวงศ์ไว้ได้” (3) “ผู้เกิดในศากยตระกูลซึ่งมีมาแต่เดิม”
“สกฺย” สันสกฤตเป็น “ศากฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศากฺย : (คำนาม) พระนามของพระพุทธเจ้า; the name of Buddha.”
จะเห็นว่า “สกฺย” รูปคำใกล้ไปทางสันสกฤต คือ “ศากฺย” แต่ก็มีรูปคำบาลีอีกรูปหนึ่งเป็น “สกฺก” (สัก-กะ) จะว่า “สกฺก” เป็นรูปบาลีแท้ ส่วน “สกฺย” เป็นรูปบาลีกลายก็ได้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สกฺก” (คุณศัพท์) ว่า able, possible (สามารถ, เป็นไปได้)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศากย-, ศากยะ : (คำนาม) ชื่อวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์ เรียกว่า ศากยวงศ์, เรียกกษัตริย์ในวงศ์นี้ว่า ศากยะ. (ส. ศากฺย; ป. สกฺย).”
(๔) “ทศ”
บาลีเป็น “ทส” (บาลี ส เสือ สันสกฤต ศ ศาลา) อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) แปลว่า สิบ (จำนวน 10)
โปรดสังเกตว่า “ทส” บาลีอ่านว่า ทะ-สะ ก็จริง แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย (เป็น “ทศ” รูปสันสกฤต) เราอ่านว่า ทด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย (อย่างในที่นี้มี “พล” มาสมาส) เราอ่านว่า ทด-สะ- ไม่ใช่ ทะ-สะ-
(๕) “พล”
บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: พล + อ = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :
– ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน
– ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น.
(2) ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก.
(3) สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ.
(4) ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล).
ทส + พล = ทสพล แปลว่า (1) “กำลังสิบอย่าง” (2) “ผู้มีกำลังสิบอย่าง”
“ทสพล” (“ทส-” บาลี ส เสือ) ในภาษาไทยใช้เป็น “ทศพล” (“ทศ-” สันสกฤต ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทศพล : (คำนาม) ผู้มีกําลัง ๑๐ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า.”
แถม :
คำว่า “ทศพล” ถ้าอ่านตามปกติ อ่านว่า ทด-สะ-พน
แต่ในบทร้อยกรองต้องอ่านตามบังคับของฉันทลักษณ์ ตัวอย่าง เช่น
๏ ด้วยเดชะองค์พระทศพล ……… สุวิมลไพบูลย์
ทานาทิธัมมวิธิกูล ………………… ชนะน้อมมโนตาม
(บทสวดชัยสิทธิคาถา ในบทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ)
ในที่นี้ “ทศพล” ต้องอ่านว่า ทะ-สะ-พน เนื่องจากเป็นวสันตดิลกฉันท์ คำว่า “ทศ-” อยู่ในตำแหน่งคำที่บังคับลหุ 3 พยางค์เรียงกัน (-พระ-ท-ศ-) ถ้าอ่านว่า ทด-สะ-พน “ทด” เป็นคำครุ จะทำให้ผิดฉันทลักษณ์
๏ เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ……….. ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล
๏ สมญาเอารสทศพล …………..มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา
(บทสวดพระสังฆคุณในบทสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ)
ในที่นี้ “ทศพล” อ่านว่า ทด-สะ-พน ตามปกติ เพราะ -ทศ- รับสัมผัสกับคำว่า -เอารส- (เอา-รด-ทด-สะ-พน)
หมายเหตุ : จากการที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นกรรมการตัดสินประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะมานานปี พบว่า บท “ด้วยเดชะองค์พระทศพล” นี้ โรงเรียนต่างๆ สวดผิดมากที่สุด คือสวดว่า –
ด้วย-เด-ชะ-องค์-พระ-ทด-สะ-พน —
เนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ จึงฝึกให้นักเรียนออกเสียงคำนี้ตามปกติ ทำให้ผิดฉันทลักษณ์ และถูกตัดคะแนนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
(๖) “ญาณ”
บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ญา + ยุ > อน = ญาน > ญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้”
“ญาณ” หมายถึง ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้, การรับรู้, ความคงแก่เรียน, ทักษะ, ความฉลาด (knowledge, intelligence, insight, conviction, recognition, learning, skill)
“ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
การอ่านคำว่า “ญาณ” ในภาษาไทย :
– ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า ยา-นะ- หรือ ยาน-นะ- เช่น ญาณสังวร (ยา-นะ-สัง-วอน, ยาน-นะ-สัง-วอน)
– ถ้าอยู่เดี่ยวหรือเป็นส่วนท้ายของสมาส อ่านว่า ยาน เช่น วชิรญาณ (วะ-ชิ-ระ-ยาน)
ทสพล + ญาณ = ทสพลญาณ บาลีอ่านว่า ทะ-สะ-พะ-ละ-ยา-นะแปลว่า (1) “ญาณในกำลังสิบอย่าง” (2) “ญาณของผู้มีกำลังสิบอย่าง”
“ทสพลญาณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทศพลญาณ” (ทด-สะ-พน-ละ-ยาน)
ขยายความ “ทศพลญาณ” :
“ทศพลญาณ” หมายถึงพระปัญญาญาณอันเกิดจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นองค์ความรู้
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [323] ประมวลความไว้ดังนี้ –
ทศพลญาณ : (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง — Dasa-balañāṇa: the Ten Powers of the Perfect One)
1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม เกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน — Ṭhānāṭhāna-ñāṇa: knowledge of instance and no instance; knowledge of possibilities and impossibilities)
2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน — Kammavipāka-ñāṇa: knowledge of the ripening of action; knowledge of the results of kamma)
3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร — Sabbatthagāminīpaṭipadā-ñāṇa: knowledge of the way that leads anywhere; knowledge of the practices leading to all destinies and all goals)
4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นอเนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น — Nānādhātu-ñāṇa: knowledge of the world with its many different elements)
5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน — Nānādhimuttika-ñāṇa: knowledge of the different dispositions of beings)
6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือรู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่าย หรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ — Indriyaparopariyatta-ñāṇa: knowledge of the state of faculties of beings; knowledge of the inferiority and superiority of the controlling faculties of various beings; knowledge as regards maturity of persons)
7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย — Jhānādisaŋkilesādi-ñāṇa: knowledge of defilement, cleansing and emergence in the cases of the meditations, liberations, concentrations and attainments)
8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ — Pubbenivāsānussati-ñāṇa: knowledge of the remembrance of former existences)
9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม — Cutūpapāta-ñāṇa: knowledge of the decease and rebirth of beings)
10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย — Āsavakkhaya-ñāṇa: knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)
(๗) “ประธาน”
บาลีเป็น “ปธาน” อ่านว่า ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้; ทำ; ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ป + ธา = ปธา + ยุ > อน = ปธาน แปลตามศัพท์และมีความหมายดังนี้ –
(1) “สภาพเป็นที่ตั้งอยู่ทั่วแห่งราคะ โทสะ โมหะ” หมายถึง ธรรมชาติ, มูลเดิม, ที่เกิด, รากเหง้า, ธรรมดา, กฎ (nature, the natural state of anything, or the cause of the material world, law)
(2) “ธรรมเป็นเหตุให้เริ่มต้นทำ” หมายถึง ความอุตสาหะ, ความพากเพียร, ความพยายาม, ความสำรวมใจ, จิตสมาธิ (exertion, energetic effort, striving, concentration of mind)
(3) “ผู้ดำรงอยู่โดยยิ่ง” หมายถึง ผู้เป็นหลักใหญ่, หัวหน้า (principal, chief)
บาลี “ปธาน” สันสกฤตเป็น “ปฺรธาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ปฺรธาน : (คำนาม) ‘ประธาน,’ สฤษฏิ์, ประกฤติ, ธรรมดาของสิ่งทั่วไป, หรือมูลแหงภูตสฤษฏิ์; ปรเมศวร; พุทธิ, มติ, โพธ; มุขยสหายของพระราชา, อมาตย์ของท้าวเธอ, เสาวิทหรือขัณฑีของท้าวเธอ, ผู้ที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยได้, ฯลฯ; ราชพัลลภหรือราชสภาสัท, กุลีนะหรือผู้มีสกุล; ควานช้าง; nature, the natural state of anything, or the cause of the material world; the Supreme God; intellect, understanding, knowledge; the first companion of a king, his minister, his eunuch, his confident or confidential friend &c.; a courtier; a noble or noble-man; an elephant-driver.
(2) ปฺรธาน : (คำคุณศัพท์) ‘ประธาน,’ มุขยะ, บรม, อุคริม, เปนใหญ่; principal, chief.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ประธาน ๑ : (คำนาม) ตําแหน่งผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ในที่ประชุม เช่น ตําแหน่งประธานรัฐสภา ตําแหน่งประธานกรรมการ, เรียกผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ในที่ประชุม เช่น ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ. (คำวิเศษณ์) ที่เป็นหลักสําคัญในที่นั้น ๆ เช่น พระประธาน.
(2) ประธาน ๒ : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) ผู้กระทำ เช่น เด็กวิ่ง เด็ก เป็นประธานของกริยา วิ่ง คนกินข้าว คน เป็นประธานของกริยา กิน.
(3) ประธาน ๓ : (คำนาม) ความเพียร มี ๔ อย่าง คือ ๑. สังวรประธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ๒. ปหานประธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. ภาวนาประธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน ๔. อนุรักขนาประธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม. (ส. ปฺรธาน; ป. ปธาน).
ในที่นี้ “ประธาน” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) คือหมายถึง “ที่เป็นหลักสําคัญในที่นั้น ๆ” ในที่นี้ก็คือ “ที่เป็นหลักสําคัญในพุทธมณฑล”
(๘) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า” หรือ “พระพุทธศาสนา”
(๙) “มณฑล”
บาลีเขียน “มณฺฑล” อ่านว่า มัน-ดะ-ละ รากศัพท์มาจาก มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + อล ปัจจัย
: มณฺฑ + อล = มณฺฑล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “สิ่งที่ประดับด้วยส่วนย่อย”
“มณฺฑล” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) วงกลม (circle)
(2) วงกลมของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ (the disk of the sun or moon)
(3) แผ่น, พื้นที่กลมราบ (a round, flat surface)
(4) พื้นที่ซึ่งกั้นรอบและประกอบกิจหรือมีอะไรเกิดขึ้นในนั้น, เขตวงกลมอันเป็นที่แสดงละครสัตว์ (an enclosed part of space in which something happens, a circus ring)
(5) สิ่งที่อยู่ในขอบเขตหรือเขตจำกัด, กลุ่ม (anything comprised within certain limits or boundaries, a group)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มณฑล : (คำนาม) วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.)”
หมายเหตุ :
(1) “มณฺฑล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
(2) “มณฺฑล” ในบาลี เมื่อมีคำอื่นนำ ความหมายจะยักเยื้องไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อาปานมณฺฑล = วงเหล้า คือห้องโถง (drinking circle > hall)
กีฬมณฺฑล = วงกีฬา คือการกรีฑา (play-circle > games)
ชูตมณฺฑล = โต๊ะเล่นการพนัน (dicing table)
ยุทฺธมณฺฑล = เวทีสำหรับต่อสู้ (fighting-ring)
ปริมณฺฑล = นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย (dress or cover oneself all round)
พุทธ + มณฑล = พุทธมณฑล แปลว่า พื้นที่ของพระพุทธเจ้า, แดนแห่งพระพุทธศาสนา
“พุทธมณฑล” ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม (พื้นที่นี้ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพุทธมณฑล) เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำริจัดสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในโอกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาดำรงยั่งยืนมา 2,500 ปี ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498
พุทธมณฑลในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย
(๑๐) “สุทรรศน์”
บาลีเป็น “สุทสฺสน” อ่านว่า สุ-ทัด-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สุ + ทิสฺ = สุทิสฺ > สุทสฺส + ยุ > อน = สุทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นอย่างดี” หมายถึง น่าดู น่าชม (fair to behold, beautiful, good-looking)
อนึ่ง เฉพาะคำว่า “ทสฺสน” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
ในที่นี้ “สุทสฺสน” ในภาษาไทยใช้เป็น “สุทรรศน์” (สุ-ทัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุทรรศน์, สุทัศน์ : (คำวิเศษณ์) สวย, งดงาม, น่าดู. (ส. สุทรฺศน; ป. สุทสฺสน).”
…………..
“พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”
อ่านว่า พฺระ-สี-สาก-กะ-ยะ-ทด-สะ-พน-ละ-ยาน-ปฺระ-ทาน-พุด-ทะ-มน-ทน-สุ-ทัด
เป็นนามพระพุทธปฏิมาอันประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณกลางพื้นที่พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
คำแปลนามพระพุทธปฏิมา :
“พระศรีศากยทศพลญาณ” แปลว่า “พระพุทธปฏิมาแทนองค์พระศากยพุทธะพระผู้มีสิริ ทรงไว้ซึ่งพระปัญญาญาณสิบประการ”
“ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” แปลว่า “เป็นพระปฏิมาอันงามน่าชม เป็นประธานแห่งพุทธมณฑลคือดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา”
หมายเหตุ:
(1) คำแปลนี้เป็นสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำแปลเป็นพุทธบูชาไว้ ณ ที่นี้ ท่านผู้อื่นที่ปรารถนาจะบูชาพระพุทธปฏิมาองค์นี้สามารถใช้ถ้อยคำแปลเป็นอย่างอื่นตามที่ท่านเห็นสมควรได้ทุกประการ และขออนุโมทนามา ณ ที่นี้
(2) ญาติมิตรทั้งปวงที่มีอุตสาหะ หากจะกรุณาช่วยกันสืบค้นประวัติการสร้างพระพุทธปฏิมาประธานองค์นี้ ตั้งแต่ต้นจนอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลสำเร็จสมบูรณ์ นำมาเสนอเป็นองค์ความรู้บูรณาการก็จะเป็นพระคุณ และควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง
…………..
สวัสดีปีใหม่ 2565 แด่ภราดาทั้งมวล!
๏ ต้นไมตรีแตกกิ่งพริ้งสะพรั่ง
ดอกรักหวังหอมหวานบานไสว
ดวงตะวันปัญญาอ่าอุทัย
ส่องโลกให้หายเขลาหมดเมาเทอญ๚ะ๛
…………..
ภาพประกอบฝีมือของ Zamar Sib Oon
ขอได้โปรดร่วมอนุโมทนาบุญด้วยเทอญ
…………..
#บาลีวันละคำ (3,490)
1-1-65
…………………………….