บาลีวันละคำ

สุขภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 3,489)

สุขภัณฑ์

ไปอย่างไรมาอย่างไร

อ่านว่า สุก-ขะ-พัน

ประกอบด้วยคำว่า สุข + ภัณฑ์

(๑) “สุข”

บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ

: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”

(2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ

: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”

(3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ

: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”

(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย

: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”

(5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)

: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”

“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –

(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)

(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)

(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สุข, สุข- : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”

(๒) “ภัณฑ์”

บาลีเป็น “ภณฺฑ” อ่านว่า พัน-ดะ รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ

: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึง สิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป

“ภณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions)

(2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)

“ภณฺฑ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภัณฑ์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”

สุข + ภัณฑ์ = สุขภัณฑ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สุขภัณฑ์ : (คำนาม) เครื่องอุปกรณ์ที่ใช้สําหรับห้องนํ้า เช่นอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ โถส้วม.”

อภิปรายขยายความ :

ดูตามความหมายที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ “สุข” หมายถึง ห้องนํ้า

ทำไม “สุข” หมายถึง ห้องนํ้า?

สันนิษฐานว่า “สุข” ในที่นี้ตัดมาจากคำว่า “สุขา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“สุขา : (ภาษาปาก) ห้องนํ้าห้องส้วม, เป็นคำที่มักใช้เรียกตามสถานที่บางแห่ง เช่นโรงภาพยนตร์ สถานีรถไฟ, ห้องสุขา ก็เรียก.”

มีหลักฐานในพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5) ความตอนหนึ่งว่า –

…………..

“ตอน ๒ การจัดเว็จที่ถ่ายอุจาระ แลปัสสาวะของมหาชนทั่วไป

มาตรา ๑๓ ข้อ ๑ ให้กรมศุขาภิบาลปฤกษาพร้อมด้วยเจ้าพนักงานแพทย์กับช่างใหญ่ (เอ็นยินเนีย) ให้มีเว็จที่ตำบลอันสมควร สำหรับราษฎรถ่ายอุจาระและปัสสาวะได้โดยสดวก ไม่เปนที่เดือดร้อน แลจัดการรักษาแลชำระให้เรียบร้อยทุกๆ วัน”

(ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.116 เล่ม 14 หน้า 521 สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)

…………..

คำว่า “เว็จ” ในพระราชกำหนดนี้ พจนานุกรมฯ สะกด “เวจ” บอกความหมายว่า “ที่ถ่ายอุจจาระ”

เพราะกรมสุขาภิบาลเป็นผู้จัดให้มี “เว็จ” สำหรับราษฎรทั่วไปถ่ายอุจาระและปัสสาวะ ชาวบ้านคงเรียกง่ายๆ ว่า “เว็จสุขา” ( = เวจของกรมสุขาภิบาล) นานเข้า คำว่า “เว็จ” หายไป เรียกกันเพียงแค่ “สุขา” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าหมายถึงห้องนํ้าห้องส้วม

“สุขา” จึงหมายถึงห้องนํ้าห้องส้วมไปด้วยประการฉะนี้

“สุขภัณฑ์” คำเดิมน่าจะเป็น “สุขาภัณฑ์” อ่านว่า สุก-ขา-พัน แต่คงเป็นเพราะพยางค์ -ขา- เสียงยืดไป ไม่ถนัดปาก จึงพูดลัดตัดเสียงเป็น สุ-ขะ-พัน แล้วเลยเขียนเป็น “สุขภัณฑ์” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่า หมายถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องสุขา และ “ห้องสุขา” ก็ตัดมาจาก “เวจของกรมสุขาภิบาล” อีกต่อหนึ่ง

เวจของกรมสุขาภิบาล > ห้องสุขา

ห้องสุขา > สุขาภัณฑ์

สุขาภัณฑ์ > สุขภัณฑ์

…………..

ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งเห็นเป็นอย่างอื่น ขอเชิญแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เป็นการช่วยกันหาความรู้ เพื่อประมวลเข้าเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องของชาวเราต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

พึงแสวงหาความสุขให้ถูกวิธี เพราะ –

: บางอย่างเอาเข้าจึงเป็นสุข

: บางอย่างเอาออกจึงเป็นสุข

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *