บาลีวันละคำ

ไสยาสน์ (บาลีวันละคำ 2,525)

ไสยาสน์

แปลว่ากระไร-ฤๅผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ไส-ยาด

แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น ไสยา + อาสน์

(๑) “ไสยา

บาลีเป็น “เสยฺยา” (เสย-ยา) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) ซ้อน ยฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + ยฺ + = เสยฺย + อา = เสยฺยา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสยฺยา” ว่า a bed, couch (เตียง, เก้าอี้นอน)

บาลี “เสยฺยา” สันสกฤตเป็น “ศยฺยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศยฺยา : (คำนาม) ‘ศัยยา,’ ที่นอน; การร้อย; a bed or couch; stringing.”

เสยฺยา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไสยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไสยา : (คำนาม) การนอน, ที่นอน. (ป. เสยฺยา; ส. ศยฺยา).”

(๒) “อาสน์

บาลีเป็น “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน

อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

เสยฺยา + อาสน = เสยฺยาสน (เสย-ยา-สะ-นะ) > ไสยาสน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไสยาสน์ : (คำกริยา) นอน, เรียกพระพุทธรูปในท่านอนว่า พระไสยาสน์ หรือ พระพุทธไสยาสน์, เรียกพระพุทธรูปปางนอนว่า พระปางไสยาสน์. (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย พระบาททั้ง ๒ ตั้งซ้อนกัน. [ป. เสยฺย (นอน) + อาสน (นั่ง)].”

อภิปราย :

คำว่า “เสยฺยาสน” หรือ “ไสยาสน์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น ต้องแปลว่า “ที่นอนและที่นั่ง” หรือ “การนอนและการนั่ง” แต่ที่เข้าใจกันในภาษาไทยหมายถึง “นอน” อย่างเดียว ไม่มี “นั่ง

เมื่อไม่มี “นั่ง” ทำไมจึงมี “อาสน์” ที่แปลว่า “นั่ง” ?

จริงอยู่ คำว่า “อาสน” มีแปลตามศัพท์แบบหนึ่งว่า “ที่เป็นที่มานอน” ซึ่งน่าจะยอมให้ว่า “อาสน” ในที่นี้หมายถึง “ที่นอน” “เสยฺยาสน” หรือ “ไสยาสน์” จึงสามารถแปลได้ว่า “การนอนบนที่นอน

แต่ยังไม่เคยพบข้อความในคัมภีร์ที่ “อาสน” หมายถึง “ที่นอน” แม้แต่ศัพท์ว่า “เสยฺยาสน” ก็ยังไม่พบ จึงไม่ชวนให้สนิทใจที่จะแปล “อาสน” ว่า “ที่นอน

ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่จะสันนิษฐานว่า คำว่า “ไสยาสน์” นี้เดิมทีเดียวน่าจะสะกดเป็น “ไสยาศ” ( ศาลา สะกด) เป็นคำที่ในภาษากาพย์กลอนเรียกว่า “ เข้าลิลิต” คือคำที่เติม “” เข้าข้างท้ายเพื่อแปลงเสียงให้ได้สัมผัสตามที่ต้องการ เช่น “นารี” เป็น “นาเรศ” “นาวา” เป็น “นาเวศ” “ภุมรา” เป็น “ภุมเรศ

ในที่นี้ คำเดิมคือ “ไสยา” แผลงตามกฎ “ เข้าลิลิต” น่าจะเป็น “ไสเยศ” แต่ไม่จำเป็นต้องลงเสียง “” เสมอไป

คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือคำว่า “ลีลาศ” (เต้นรําแบบตะวันตก) คำเดิมคือ “ลีลา” ที่หมายถึง ท่าทาง, ท่าทางอันงาม, การเยื้องกราย

ลีลา” แปลงเป็น “ลีลาศ” ฉันใด

ไสยา” ก็แปลงเป็น “ไสยาศ” ได้ฉันนั้น

คำว่า “ไสยาศ” นี้เอง นักเลงบาลีฟังเสียง ไส-ยาด แล้วก็จับมาทำ “ทัฬหีกรรม” คือบวชซ้ำสอง เป็น “ไสยาสน์” (ไสยา > ไสยาศ > ไสยาสน์)

และเพราะคำเดิม “ไสยาศ” ท่านหมายถึง “นอน” เมื่อแปลงเป็น “ไสยาสน์” จะแปลตามรูปศัพท์ว่า “นอนและนั่ง” ก็ไม่ได้ เพราะความจริงอันเป็นหลักฐานบังคับอยู่ จึงจำต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

เขียน “ไสยาสน์” (“นอนและนั่ง”) แต่บังคับให้มีความหมายเท่ากับ “ไสยาศ” (นอน) มาจนทุกวันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ป่วยติดเตียง แต่ยังอุตส่าห์นอนสวดมนต์

: ประเสริฐกว่าร่างกายไม่พิการพิกล แต่ออกไปปล้นเขากิน

——————-

(ตอบคำถามค้างสามปีของพระคุณท่าน Surakiet JN)

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,525)

12-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย