บาลีวันละคำ

ภาวนีย์ (บาลีวันละคำ 4,242)

ภาวนีย์

ผู้น่าเจริญใจ

อ่านว่า พา-วะ-นี

ภาวนีย์” เขียนแบบบาลีเป็น “ภาวนีย” อ่านว่า พา-วะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก ภาวน + อีย ปัจจัย

(๑) “ภาวน” 

อ่านว่า พา-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ) 

: ภู + ยุ > อน = ภูน > โภน > ภาวน แปลตามศัพท์ว่า “คุณชาตที่ยังกุศลให้มีขึ้น” หมายถึง การทำให้เกิด, การอาศัยบางสิ่ง, การพร่ำคิดถึง (อะไรบางอย่าง), การเอาใจใส่, การทำให้พัฒนาโดยความคิดหรือวิปัสสนา, การปลูกฝังด้วยจิตใจ, การเพาะใจ (producing, dwelling on something, putting one’s thoughts to, application, developing by means of thought or meditation, cultivation by mind, culture) 

ภาวน” ศัพท์นี้ ที่พบทั่วไปมักเป็น “ภาวนา” คือ ภาวน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = ภาวนา

ความหมายในวงกว้าง “ภาวนา” หมายถึง วิธีการอย่างใด ๆ ก็ตามเพื่อทำให้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมีขึ้น งอกงามขึ้นในใจ 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภาวนา : (คำนาม) การทําให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทางจิตใจ.ก. สำรวมใจให้แน่วแน่เป็นสมาธิ เช่น สวดมนต์ภาวนา, สำรวมใจตั้งความปรารถนา เช่น นั่งภาวนาขอให้พระช่วย. (ป.).”

ในที่นี้ “ภาวน” คงรูปเป็น “ภาวน” หรือจะว่า “ภาวนา” นั่นแหละ + อีย ปัจจัย ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (ภาว)-นา = ภาวน ก็ได้ 

(๒) ภาวน + อีย ปัจจัย = ภาวนีย (พา-วะ-นี-ยะ) แปลว่า “เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญใจ” 

ขยายความ :

ภาวนีย” เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของครู ดังข้อความแสดงคุณสมบัติของกัลยาณมิตรในพระไตรปิฎกดังนี้ –

…………..

ปิโย ครุ ภาวนีโย

วตฺตา จ วจนกฺขโม

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา

โน จฏฺฐาเน นิโยชเย.

(ปิโย  คะรุ ภาวะนีโย

วัตตา จะ วะจะนักขะโม

คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา

โน จัฏฐาเน นิโยชะเย.)

ที่มา: อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 34 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [278] อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

1. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)

2. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)

3. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)

4. วตฺตา (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)

5. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)

6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

…………..

ภาวนีย” ใช้ในภาษาไทย ถ้าคงรูปเดิมก็เป็น “ภาวนียะ” แต่ในที่นี้ประสงค์จะใช้เป็นเป็นชื่อเฉพาะ (proper name) และให้อ่านว่า พา-วะ-นี จึงใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ ได้รูปเป็น “ภาวนีย์” อ่านว่า พา-วะ-นี แปลว่า “ผู้เป็นที่เจริญใจ” หรือ “ผู้ควรแก่การชื่นชม

ภาวนีย์” รูปคำเหมาะที่จะเป็นชื่อสตรี จึงขอฝากเป็นอภินันทนาการแก่นักตั้งชื่อทั้งปวง

ถ้ายังไม่มีใครคิดคำนี้ ก็ฝากให้เพิ่มไว้ในทำเนียบชื่อสตรีอีกคำหนึ่ง

ถ้ามีคนคิดขึ้นแล้ว ก็ฝากให้รู้จักคำแปลและความหมายที่ถูกต้อง

ถ้าคำแปลและความหมายก็รู้แล้ว ก็ขอฝากให้รู้ที่ไปที่มาของคำนี้ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อน่าเจริญใจ ดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่ถ้าประพฤติสิ่งที่ไม่น่าเจริญใจ 

เสียทั้งหมด รวมทั้งที่ดีแล้วนั้นด้วย

#บาลีวันละคำ (4,242)

23-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *