บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส

—————————

ผมเขียน บาลีวันละคำ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖

คำว่า “อาบัติ” ข้อความมีดังนี้ –

———–

อาบัติ

อ่านว่า อา-บัด

บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ

รากศัพท์คือ อา (ทั่ว, ยิ่ง) + ปทฺ (ธาตุ แปลงเป็น ปตฺ = ไป, ถึง) + ติ (ปัจจัย = การ-, ความ-) = อาปตฺติ

อาปตฺติ” หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ อย่างที่เข้าใจกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ผิดศีล” หรือ “ศีลขาด

คำนี้เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “อาบัติ” เช่น “พระทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรือ

นักบาลีมักแปลตามศัพท์ว่า “การต้อง” หมายถึง “กระทบ” คือ การกระทำเช่นนั้นไปกระทบเข้ากับความผิด หรือมีความผิดเข้ามากระทบผู้กระทำ

อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ดังนี้ (เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ)

(1) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก” 

(2) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน” 

(3) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ

(4) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก

(5) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ

(6) ทุกกฏ = “มารยาททราม

(7) ทุพภาสิต = “ปากเสีย

มาตรการลงโทษ (ในวงเล็บคืออาบัติ)

(1) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ 

(2) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด 

(3-7) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ

—————–

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผมเขียนคำว่า “ปริวาส” ข้อความมีดังนี้ –

——————

ปริวาส

บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-วา-สะ ไทยอ่านว่า ปะ-ริ-วาด

ประกอบด้วย ปริ (รอบ) + วาส (การอยู่, การพักแรม) = ปริวาส

ปริวาส” มีความหมายว่า การอยู่ค้างคืน, การอยู่แรมคืน; เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะต้องประพฤติเพื่อให้พ้นผิด เรียกว่า “อยู่ปริวาส” คำเก่าเรียก “อยู่กรรม” (ทำในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ โดยต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิด)

อาบัติสังฆาทิเสสมีฐานความผิด 13 กรณี เช่น สำเร็จความใคร่ถึงน้ำกามหลั่ง เป็นต้น เป็นอาบัติหนักรองจากปาราชิก ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่จะพ้นผิดได้โดยให้สงฆ์ลงโทษแบบอารยชน เช่น 

– อยู่ร่วมที่กับภิกษุอื่นไม่ได้ ต้องแยกบริเวณอยู่ต่างหาก (ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ปริวาส”)

– ถูกตัดสิทธิ์ เช่นถูกตัดออกจากลำดับการรับนิมนต์ (ทำนองเดียวกับ เว้นวรรคทางการเมือง)

– ลดฐานะตัวเอง เช่น ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ก็ต้องไปนั่งท้ายแถว, รับไหว้จากพระด้วยกันไม่ได้

– ประจานตัว เช่น ถ้ามีพระอาคันตุกะเข้ามาในวัด พระที่อยู่ปริวาสต้องไปรายงานตัวว่า ตนต้องอาบัติหนัก อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ

ในคัมภีร์ “ปาริวาสิกขันธกะ” วินัยปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องการอยู่ปริวาสโดยเฉพาะ ไม่ได้แสดงไว้ว่าภิกษุทั่วไปอยู่ปริวาสกันได้ด้วย

อยู่ปริวาส” เป็นการลงโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของภิกษุทั่วไป ดังที่บางแห่งนิยมจัดเป็นกิจกรรมบุญกันในสมัยนี้ 

: นักเรียนทำผิด ครูสั่งให้วิ่งรอบสนาม 3 รอบเป็นการลงโทษ

: นักเรียนที่ไม่ได้ทำผิดเห็นว่าการวิ่งเป็นการออกกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ก็เลยขอวิ่งด้วย

หรือว่าจะเข้าใจแบบนี้ ?

——————————-

จบข้อความจาก บาลีวันละคำ

——————————-

มีญาติมิตรบางท่านบอกว่า ท่านไม่มีพื้นความรู้ อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ 

บางท่านแสดงความเห็นว่า พระท่านอาจไม่ทราบว่าตลอดเวลาทั้งปีท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสสบ้างหรือเปล่า เพื่อความบริสุทธิ์ปีหนึ่งก็เลยถือโอกาสเข้าปริวาสเสียทีหนึ่ง จะได้ไม่มีมลทินติดตัว การจัดกิจกรรมอยู่ปริวาสน่าจะมีเหตุผลเช่นนี้

ผมก็เลยคิดว่า เอาเรื่องนี้มาพูดสู่กันฟังอีกทีก็น่าจะดี

ประเด็นที่จะขอพูดสู่กันฟังก็คือ การอยู่ปริวาสคืออะไร และคิดอย่างไรกับกิจกรรมบุญปริวาส 

—————-

๑ การอยู่ปริวาสคืออะไร

คนที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนานั้นต้องรักษาศีลเป็นอันมาก 

ตัวเลขที่ชาวบ้านรู้กันก็อย่างที่พูดกันว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ 

ความจริงศีลของพระมีมากกว่านี้อีกมาก แต่ ๒๒๗ ข้อนี้เป็นส่วนที่มีพุทธบัญญัติให้พระต้องทบทวนสอบทานทุกครึ่งเดือน เรียกกันว่า “สวดพระปาติโมกข์” จึงมักนิยมจำกันแต่ตัวเลขนี้

ถ้าพระไปละเมิดศีลเข้า ก็มีความผิด 

คำพระเรียกว่า “ต้องอาบัติ” 

อาบัติก็มี ๗ ชื่อดังที่พูดไว้ในคำว่า “อาบัติ

อาบัติทั้ง ๗ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ อาบัติหนัก กับ อาบัติเบา

อาบัติปาราชิกและสังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนัก นอกนั้นเป็นอาบัติเบา

ในจำนวน ๒๒๗ ข้อนั้น

ฐานความผิดที่ทำให้ต้องอาบัติปาราชิก มี ๔ กรณี 

ฐานความผิดที่ทำให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มี ๑๓ กรณี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเก็บความจากคัมภีร์เรียบเรียงไว้ในหนังสือ นวโกวาท ดังนี้ –

————-

ปาราชิกนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากภิกษุ

สังฆาทิเสสนั้น ต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรม จึงพ้นได้

อาบัติอีก ๕ อย่างนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์ หรือคณะ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงพ้นได้

ปาราชิก ๔

๑.  ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก.

๒.  ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก.

๓.  ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก.

๔.  ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม (คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์) ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก. 

สังฆาทิเสส ๑๓

๑.  ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส.

๒.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส.

๓.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส. 

๔.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส.

๕.  ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส.

๖.  ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต โดยกว้างเพียง ๗ คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส.

๗.  ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้นมีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส.

๘.  ภิกษุโกรธเคืองแกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส.

๙.  ภิกษุโกรธเคืองแกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส. 

๑๐.  ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

๑๑.  ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

๑๒.  ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

๑๓.  ภิกษุประทุษร้ายตระกูล คือประจบคฤหัสถ์ สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

—————————-

จบข้อความจาก นวโกวาท

—————————-

สรุปว่า 

อาบัติปาราชิก ทำผิดเข้าแล้วหมดสภาพความเป็นพระทันที แม้จะไม่มีใครรู้เห็น แม้ยังนุ่งห่มจีวรอยู่ ก็เข้าลักษณะ “ลักเพศ” คือตัวเองไม่มีสิทธิ์เป็นพระแล้ว แต่ขโมยเพศพระมาใช้ อยู่ในฐานะหลอกลวงชาวบ้านเท่านั้นเอง

อาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติหนักก็จริง แต่ทำผิดเข้าแล้วยังไม่หมดสภาพความเป็นพระ คือยังพอแก้ไขได้ โดยพระที่ทำผิดต้องทำตามระเบียบปฏิบัติหรือตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัย ที่ท่านใช้คำว่า “ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้” 

ระเบียบปฏิบัตินี้ เรียกเป็นคำพระว่า “วุฏฐานวิธี” เป็นกระบวนการลงโทษเยี่ยงอารยชนต่อผู้ทำผิดฐานครุโทษ คือโทษหนัก 

พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าสารภาพผิดทันทีที่ทำ ก็จะเข้าสู่กระบวนการลงโทษ มีขั้นตอน คือ –

———-

มานัต 

———-

มานัต แปลตามศัพท์ว่า “นับ” 

หมายถึงเริ่มนับวันที่ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองในความควบคุมของสงฆ์ นิยมพูดว่า “ประพฤติมานัต

จำนวนวันที่จะต้องประพฤติมานัตคือ ๖ วัน

ประพฤติมานัตคือทำอะไร 

ประพฤติมานัตคือการลงโทษตัวเอง เช่น

– นั่งนอนร่วมกับภิกษุอื่นไม่ได้ ต้องแยกบริเวณอยู่ต่างหาก มีฐานะคล้ายคนเป็นโรคที่อาจติดต่อไปยังคนอื่นได้ จึงต้องแยกไม่ให้อยู่ปนกับใครๆ

– ถูกตัดสิทธิ์ เช่นระหว่างประพฤติมานัต มีกิจนิมนต์ และพระที่ประพฤติมานัตนั้นอยู่ในลำดับที่จะต้องได้ไปในกิจนิมนต์นั้น ก็จะถูกตัดออกจากลำดับการรับนิมนต์ 

– ลดฐานะตัวเอง เช่น หากจะต้องมารวมในที่ชุมนุมสงฆ์ ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ก็ต้องไปนั่งท้ายแถว รับไหว้จากพระด้วยกันไม่ได้ เป็นต้น

– ประจานตัว เช่น ถ้ามีพระอาคันตุกะเข้ามาในวัด พระที่ประพฤติมานัตต้องไปรายงานตัวว่า ตนต้องอาบัติหนัก อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ

ถ้าจะเปรียบ “ประพฤติมานัต” ก็คล้ายกับที่เรียกว่า “คุมประพฤติ” นั่นเอง

————

อัพภาน 

————

อัพภาน แปลว่า “การเรียกเข้า” “การรับกลับเข้าหมู่” 

คือเมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสได้ประพฤติมานัตอันเป็นการทำโทษตนเองตามเวลาที่กำหนดเสร็จแล้ว สงฆ์จะประชุมกันเพื่อพิจารณาให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเดิม 

ตามพระวินัยกำหนดไว้ว่า ในการทำกรรมวิธีที่เรียกว่า “อัพภาน” นี้ ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ ๒๐ รูปเข้าร่วมจึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

กระบวนการตามปกติเพื่อพ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสก็มี ๒ ขั้นตอนเท่านี้

———-

ปริวาส 

———-

ปริวาส มีความหมายว่า “การอยู่ค้างคืน” “การอยู่แรมคืน

พึงเข้าใจว่า สังคมสงฆ์เป็นสังคมแห่งอารยชน ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกเข้ามาด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ อยู่กันด้วยกฎกติกาคือศีลหรือระเบียบวินัย ให้เกียรติกันบนพื้นฐานแห่งสัญญาสุภาพบุรุษ ใครละเมิดกติกา ก็ต้องหน้าบางพอที่จะสารภาพผิดได้ทันที

แต่ถ้าพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ไม่สารภาพผิดทันทีที่รู้ตัวว่าทำผิด เรื่องมาแดงขึ้นทีหลังจะโดยนึกละอายใจจึงสารภาพออกมาเอง หรือจำนนด้วยหลักฐาน หรือถูกจับได้ก็ตาม จะต้องถูกลงโทษด้วยการ “อยู่ปริวาส” ก่อน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขตามปกติที่เริ่มต้นด้วย “มานัต” ได้

ลักษณะที่เรียกว่า “อยู่ปริวาส” ก็คือต้องปฏิบัติตนเช่นเดียวกับ “ประพฤติมานัต” นั่นเอง

ปกปิดไว้กี่วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้ เมื่อครบวันแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนปกติ คือ “มานัต” ต่อไป

อุปมาอาจจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เหมือนการเสียภาษีอะไรสักอย่างที่ให้ชำระภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเกินเวลาก็ต้องถูกปรับ คือต้องเสียค่าปรับด้วย และเสียภาษีตามปกติด้วย

ปริวาส” เปรียบเหมือนค่าปรับ 

มานัต” เหมือนเสียภาษีตามปกติ

อยู่ปริวาส” ก็เหมือนเสียค่าปรับก่อนที่จะเสียภาษีนั่นเอง 

—————

ปฏิกัสสนา 

—————

ปฏิกัสสนา แปลว่า “ถอยกลับ” “กลับไปตั้งต้นใหม่

คือในระหว่างอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตนั้น หากไปประพฤติผิดต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำเข้าอีก จะต้องนับหนึ่งกันใหม่ คือกลับไปอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตตั้งแต่เริ่มต้นไปใหม่

มานัต  อัพภาน  ปริวาส  ปฏิกัสสนา  เป็นศัพท์เทคนิคทางวินัยสงฆ์

คำเหล่านี้เพียงฟังไว้ ถ้าสนใจก็หาความรู้เพิ่มเติมต่อไป 

————–

ในที่นี้จะว่าเฉพาะ “ปริวาส” อันเป็นที่มาของปัญหา

ปัญหาก็คือ –

พระไม่ได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะอยู่ปริวาสได้หรือไม่

ที่จัดกิจกรรมอยู่ปริวาสกันที่นั่นที่โน่น เป็นการอยู่ปริวาสที่ถูกต้องหรือไม่

ชาวบ้านไปร่วมอยู่ปริวาสด้วยได้หรือไม่

………

อรรถกถา อัคคัญญสูตร (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หน้า ๗๑) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

ภิกฺขูสุ  ปริวสนฺตีติ  เตเนว  ติตฺถิยปริวาสํ  วสนฺติ  น  อาปตฺติปริวาสํ.  อปริปุณฺณวสฺสตฺตา  ปน  ภิกฺขุภาวํ  ปฏฺฐยมานา  วสนฺติ.

แปลว่า –

สองบทว่า  ภิกฺขูสุ  ปริวสนฺติ  ความว่า สามเณรทั้งสองนั้น (คือสามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะ) อยู่ติตถิยปริวาส (ปริวาสสำหรับเดียรถีย์) หาใช่อยู่อาปัตติปริวาส (ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ) ไม่ เพราะมีอายุยังไม่บริบูรณ์ สามเณรทั้งสองจึงอยู่ (ปริวาส เพราะ) ปรารถนาความเป็นภิกษุ ( = อยู่ปริวาสเพื่อรอบวช)

ตามอรรถกถาที่อ้างนี้ ท่านเอ่ยถึงปริวาส ๒ อย่าง คือ ติตฺถิยปริวาส และ อาปตฺติปริวาส

ติตฺถิยปริวาส แปลว่า “ปริวาสสำหรับเดียรถีย์” 

หมายความว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมาก่อน (สามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะเคยบวชเป็นปริพาชกมาก่อน) หากจะเข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้อง “อยู่ปริวาส” ก่อน ตามเวลาที่กำหนดไว้ ที่รู้กันก็คือ ๔ เดือน ความมุ่งหมายก็เพื่อจะดูความประพฤติหรือ “วัดใจ” ว่าการที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความตั้งใจจริงแค่ไหนนั่นเอง 

ส่วน อาปตฺติปริวาส แปลว่า “ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ” 

นี่ก็คือปริวาสที่กำลังพูดถึง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุที่จะทำให้ต้องอยู่ปริวาสมี ๒ อย่างเท่านั้น คือ –

๑ คนนอกศาสนาจะขอมาบวชเป็นพระ ต้องอยู่ปริวาสก่อน ๔ เดือน

๒ พระต้องอาบัติสังฆาทิเสส และปิดเรื่องไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่ปิด

นอกจากสาเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่มีพุทธบัญญัติให้พระต้องอยู่ปริวาส

ในคัมภีร์มีคำว่า “ปริวาส” ที่น่าสนใจอยู่อีกคำหนึ่ง คือ “วิปัสสนาปริวาส” ขอยกมา ๒ แห่งดังนี้ –

อถสฺสา  อุตฺตรึ  ติณฺณํ  มคฺคผลานํ  วิปสฺสนาปริวาสตฺถาย  สตฺถา  

สุญฺญตกมฺมฏฺฐานํ  กเถตุํ  นนฺเท  มา  อิมสฺมึ  สรีเร  สาโร  อตฺถีติ  

สญฺญํ  กริ  อปฺปมตฺตโกปิ  หิ  เอตฺถ  สาโร  นตฺถิ  ตีณิ  อฏฺฐิสตานิ  

อุสฺสาเปตฺวา  กตํ  อฏฺฐีนํ  นครเมตนฺติ  วตฺวา  อิมํ  คาถมาห …

แปลว่า –

ลำดับนั้น เพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐานเพื่อต้องการอบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้ง ๓ ยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง (นันทา) พระศาสดาจึงตรัสว่า “นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่า ‘สาระในสรีระนี้มีอยู่’ เพราะสาระในสรีระนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี, สรีระนี้อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้นสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย” ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ …

(รูปนันทาเถรีวัตถุ (๑๒๒) ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ หน้า ๑๐๖)

คำว่า วิปสฺสนาปริวาสตฺถาย (วิปสฺสนาปริวาส + อตฺถาย) ท่านแปลว่า “เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนา

อีกแห่งหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ –

กิเลเส  ปน  วิกฺขมฺเภตฺวา  วิปสฺสนาปริวาสํ  มคฺคปาตุภาวํ  สณิกํ  กุรุมานา …

แปลว่า

แต่ครั้นข่มกิเลสได้แล้ว ค่อยๆ ทำการบ่มวิปัสสนาให้มรรคปรากฏ

(วิสุทธิมรรค ภาค ๓ หน้า ๓๑๔ – ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส 

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ หน้า ๑๙๗)

คำว่า วิปสฺสนาปริวาสํ ท่านแปลว่า “การบ่มวิปัสสนา

คำว่า “วิปสฺสนาปริวาส” ดูเผินๆ เหมือนจะเข้าชุดกับ “ติตฺถิยปริวาส” และ “อาปตฺติปริวาส

ติตฺถิยปริวาส” แปลว่า ปริวาสสำหรับเดียรถีย์

อาปตฺติปริวาส” แปลว่า ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ

วิปสฺสนาปริวาส” ก็น่าจะแปลว่า ปริวาสเพื่อวิปัสสนา คืออยู่ปริวาสเพื่อเจริญวิปัสสนา

หมายความว่า ที่จัดให้มีกิจกรรมบุญปริวาสกันนั้นก็คือ วิปัสสนาปริวาส ตัวนี้เอง ไม่ใช่อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอย่างที่ยกขึ้นมาตั้งข้อสงสัย เพราะฉะนั้นพระสงฆ์หรือชาวบ้านจึงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบุญปริวาสได้ เพราะเป็นปริวาสเพื่อปฏิบัติธรรม

แต่ – ภาษาบาลีจะดูกันแค่ศัพท์ไม่ได้ ต้องดูไปที่เรื่องราวด้วย

ตามเรื่องที่ยกมานี้ “วิปสฺสนาปริวาส” ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ “การอยู่ปริวาส” ตามความหมายที่กำลังพูดกันอยู่นี้เลย

วิปสฺสนาปริวาส” แปลว่า “การอบรมวิปัสสนา” หรือ “การบ่มวิปัสสนา” หมายถึงการอบรมจิตให้ขึ้นถึงภาวะแห่งวิปัสสนา 

ปริวาส” ในคำว่า “วิปสฺสนาปริวาส” ไม่ได้แปลว่า “อยู่ปริวาส

วิปัสสนาปริวาส จึงเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นในกระบวนการบำเพ็ญจิตภาวนาหรือเจริญพระกรรมฐาน

ไม่ได้เกี่ยวกับการอยู่ปริวาสหรือไม่อยู่ปริวาสแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

ใครอยากเจริญวิปัสสนาก็ปฏิบัติอบรมจิตของตนไป ไม่ต้องไป “อยู่ปริวาส” กันที่ไหนเลยก็ปฏิบัติได้

ถ้าดูเหตุผลของนักอยู่ปริวาส ก็จะยิ่งเห็นชัดว่า อ้างเป็นวิปัสสนาปริวาสไม่ได้เลย เพราะท่านให้เหตุผลว่า อยู่ปริวาสเพื่อศีลจะได้บริสุทธิ์ ซึ่งนั่นก็คือ อาปัตติปริวาสปริวาสเพื่อพ้นอาบัติ นั่นเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ปริวาส” เป็นภาษาอังกฤษคำหนึ่งว่า living under probation

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า probation ว่า การทดลองดูความสามารถ, เพื่อทดลอง, พิสูจน์

และมีคำว่า probationer มีคำแปลว่า “นักโทษในระหว่างทดลองความประพฤติ ก่อนได้ปล่อย

จะเห็นได้ว่า การอยู่ปริวาสนั้นแท้จริงแล้วเป็นมาตรการลงโทษภิกษุที่ทำความผิดในขั้นร้ายแรงนั่นเอง

และการจะอยู่ปริวาสก็มีเงื่อนไขแน่นอน คือ –

๑ ต้องปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส และ

๒ ภิกษุนั้นรู้อยู่แล้วว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่จงใจปกปิดไว้หรือมีพฤติกรรมที่เข้าลักษณะปกปิดอาบัติ

ถ้าไม่มีเงื่อนไข ๒ ข้อนี้ การอยู่ปริวาสก็เกิดขึ้นไม่ได้

—————-

๒ คิดอย่างไรกับกิจกรรมบุญปริวาส 

ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมอยู่ปริวาส คือเชิญชวนให้พระภิกษุไปอยู่ปริวาสโดยอ้างว่า อยู่ปริวาสแล้วทำให้ศีลบริสุทธิ์ ญาติโยมที่ไปอุปถัมภ์บำรุงพระที่มาอยู่ปริวาสก็เชื่อกันว่าได้บุญมากเป็นพิเศษเพราะมีส่วนส่งเสริมให้พระมีศีลบริสุทธิ์ 

บางทีชาวบ้านก็เลยถือเป็นโอกาสอยู่ปริวาสไปกับพระด้วยเลย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองเป็นคนบริสุทธิ์ได้ด้วย

พระที่ไปอยู่ปริวาส ก็ให้เหตุผลว่า ในห้วงเวลาปีหนึ่งที่ผ่านไป ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนถึงขั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเข้าบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำผิดก็รอดตัวไป แต่ถ้าได้ทำผิดพลาดไว้ ถ้าไม่อยู่ปริวาสก็จะมีมลทินติดตัวไปตลอด ดังนั้นการอยู่ปริวาสจึงถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการชำระศีลให้บริสุทธิ์

พูดง่ายๆ ว่า อยู่ปริวาสกันเหนียว หรือ-เกินดีกว่าขาด-นั่นเอง

ผมไม่มีความประสงค์จะโต้เถียงกับใคร เพียงแต่อยากจะบอกว่าผมคิดอย่างไรเมื่อได้ฟังเหตุผลของการจัดกิจกรรมบุญปริวาส

เงื่อนไขของการต้องอยู่ปริวาส ข้อแรกคือ ต้องปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วว่าภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

ถามว่า พระที่ไปอยู่บุญปริวาสนั้นปรากฏอย่างแน่ชัดแล้วหรือยังว่าท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสส ?

ถ้ายังไม่แน่ (ตามเหตุผลที่ว่า “ในห้วงเวลาปีหนึ่งที่ผ่านไป ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนถึงขั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเข้าบ้างหรือเปล่า”) มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ที่ไหนว่า แม้ไม่แน่ใจว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่ปริวาส ?

ปริวาสไม่เหมือนธุดงค์

ธุดงค์นั้นท่านผู้ใดมีอัธยาศัย มีอุตสาหะ มีกำลังที่จะปฏิบัติได้ ก็ปฏิบัติ 

ท่านผู้ใดไม่สามารถ ก็ไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ได้บังคับ (ธุดงค์บางข้อห้ามถือในบางโอกาสด้วยซ้ำ)

แต่การอยู่ปริวาสเป็นวินัยบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติที่มีเงื่อนไขชัดเจนว่า กรณีอย่างไรต้องปฏิบัติ อย่างไรไม่ต้องปฏิบัติ

ไม่ใช่นึกอยากปฏิบัติก็ปฏิบัติ 

ถ้ายังไม่อยาก หรือยังไม่พร้อมก็ไม่ต้องปฏิบัติ

ทีนี้คำถามข้างต้นนั้น ถ้าพระที่ไปเข้าร่วมกิจกรรมบุญปริวาสเกิดตอบว่า แน่ใจว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสเข้าแล้ว 

รายละเอียดก็จะตามมาทันที เช่น –

ท่านรู้ว่าตัวเองต้องอาบัติสังฆาทิเสสตั้งแต่เมื่อไร

เมื่อรู้แล้วท่านได้แจ้งแก่เพื่อนสหธัมมิกหรือเปล่า

ท่านปกปิดไว้กี่วัน

ทำไมจึงปกปิดในเมื่อรู้ตัวแล้ว

ถ้าหวังความบริสุทธิ์แห่งศีล ทำไมท่านไม่รีบอยู่ปริวาสเสียตั้งแต่แรก รอมาจนถึงวันนี้ทำไม

ฯลฯ

จะตอบคำถามเหล่านี้กันว่าอย่างไรละขอรับ ?

หรือว่าพอจะเข้าร่วมบุญปริวาสกันที ก็หาเรื่องต้องอาบัติสังฆาทิเสสกันทีหนึ่ง จะได้มีข้ออ้าง ?

อีกแง่หนึ่งที่จะมีต้องมีปัญหาแน่ๆ ก็คือ ปริวาสนั้นต้องอยู่เท่าจำนวนวันที่ได้ปกปิดอาบัติไว้ คือนับตั้งแต่วันที่ต้องอาบัติจนถึงวันที่มาอยู่ปริวาส กระบวนการจึงจะสมบูรณ์ คือจึงจะบริสุทธิ์ได้

ถ้าพระท่านปิดอาบัติสังฆาทิเสสไว้ปีหนึ่ง คือ ๓๖๕ วัน แต่มาอยู่ปริวาสแค่ครึ่งเดือน หรือเดือนเดียว แล้วอีกตั้งกว่า ๓๐๐ วันจะว่าอย่างไรกัน ?

จะอธิบายตรงนี้ว่าอย่างไร ?

…………..

แท้จริงแล้วการอยู่ปริวาสนั้นเป็นมาตรการลงโทษภิกษุที่ทำความผิด

ถ้าความผิดยังไม่ปรากฏ จะลงโทษได้อย่างไร

อุปมาให้เข้าใจอีกที

เหมือนคนติดคุกนั่นแหละครับ

ใครจะติดคุก ก็ต้องทำความผิด มีข้อกล่าวหาชัดเจนว่าทำความผิดอะไร 

มีคำพิพากษาของศาลว่าทำผิดจริงและสั่งให้จำคุก 

จึงจะติดคุกได้

ไม่ใช่ว่า ใครอยากติดคุกก็เดินไปที่เรือนจำ บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะขอมาติดคุก ด้วยเหตุผลว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าได้ทำอะไรผิดกฎหมายเข้าบ้างหรือเปล่า จึงขอมาติดคุกไว้ก่อนเพื่อความบริสุทธิ์

การที่เกิดความนิยมจัดบุญปริวาสน่าจะเป็นเพราะมองผิดจุด 

คือไปมองที่ท่อนผล ว่า อยู่ปริวาสเพื่อให้ศีลบริสุทธิ์ 

แต่ไม่ได้มองที่ท่อนเหตุ ว่า ไปทำอะไรมาศีลจึงไม่บริสุทธิ์จนถึงต้องอยู่ปริวาส

ศีลนั้นบริสุทธิ์ได้ด้วยการสำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิด

การอยู่ปริวาสเป็นการลงโทษผู้ละเมิดศีล ไม่ใช่เป็นการทำศีลให้บริสุทธิ์

ถ้าเข้าใจว่าอยู่ปริวาสเป็นการทำศีลให้บริสุทธิ์ ก็ขอให้ทบทวนใหม่อย่างนี้ –

ภิกษุที่สำรวมระวังในพระปาติโมกข์และอภิสมาจาร ไม่ล่วงละเมิดเลยแม้ในข้อที่มีโทษเล็กน้อย 

ถามว่า ศีลของท่านบริสุทธิ์หรือยัง ?

หรือว่าสำรวมระวังแล้ว ไม่ล่วงละเมิดแล้วก็จริง แต่ยังจะต้องไปอยู่ปริวาสอีกทีหนึ่งศีลจึงจะบริสุทธิ์ มิเช่นนั้นศีลก็จะยังไม่บริสุทธิ์ ?

เหมือนประชาชนทั่วไป แม้ไม่ได้ทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี 

ต้องไปติดคุกเสียก่อน ออกจากคุกมาแล้วจึงจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี ?

ถ้าอยากจะได้ขัดเกลาอันเป็นบุญบริสุทธิ์ และไม่เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงกัน ผมขอเสนอว่า อย่าใช้คำว่า “อยู่ปริวาส” หรือ “เข้าปริวาส” เลยครับ

เรียกว่า เทศกาลเข้ากรรมฐาน หรือใช้คำอะไรก็ได้ที่ฟังดูขลังดี แล้วก็จัดรูปแบบให้เป็นการปฏิบัติธรรมกันตรงไปตรงมา

หรือจะเปลี่ยนจากบุญปริวาสไปเป็น บุญธุดงค์ ก็เข้าทีดี 

คือเลือกเอาธุดงค์สักข้อหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติ เช่น โสสานิกังคะอยู่ป่าช้า 

เลือกหาป่าช้าที่เหมาะๆ เข้าสักแห่ง แล้วนิมนต์พระไปอยู่ป่าช้ากันสัก ๑๕ วัน หรือเดือนหนึ่งก็แล้วแต่ 

ขณะเดียวกันก็พ่วงธุดงค์ข้ออื่นเข้าไปพร้อมๆ กันอีกได้ด้วย เช่นพ่วง –

เอกาสนิกังคะฉันมื้อเดียว 

ปัตตปิณฑิกังคะฉันในบาตร 

เตจีวริกังคะใช้ผ้าสามผืน 

และถ้าจะให้น่าเลื่อมใสหนักยิ่งขึ้นก็เพิ่ม เนสัชชิกังคะ ถือไม่นอน (ข้อนี้อ้างพระจักขุบาลเถระได้เต็มปาก)

ประกวดกันว่าใครจะจัดบุญธุดงค์ได้มากข้อกว่ากันไปเลย

เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสด้วย 

พระก็ได้ขัดเกลาด้วย

ญาติโยมอุปถัมภ์ก็เป็นบุญพิเศษด้วย

และที่สำคัญก็คือ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าถือธุดงค์ผิดหรือถูกอีกด้วย

นักกิจกรรมบุญลองเอาไปวางแผนดูสิครับ 

เป็นการพลิกมิติใหม่ของธุดงค์

อาจจะกลายเป็นกิจกรรมบุญที่ดังระเบิดไปเลยก็ได้

โฆษณาให้ดีๆ ก็มีคนเห็น 

ไม่จำเป็นต้องจัดให้พระยกขบวนเดินแบกกลดไปบนกลีบดอกไม้ แถมผ่าเข้าไปกลางกรุงให้ญาติโยมอึดอัดใจไปทั้งบ้านทั้งเมืองเป็นไหนๆ

—————

หมายเหตุ:

๑ ท่านผู้ใดพบหลักฐานในคัมภีร์ที่ยืนยันว่า กิจกรรมอยู่ปริวาสที่จัดกันที่นั่นที่โน่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตามเหตุผลหรือหลักฐานอย่างนี้ๆ ขอความกรุณาชี้แนะหรือนำมาแสดง 

๒ หรือหากครูบาอาจารย์แต่ปางก่อนท่านเคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้แล้วว่ากิจกรรมอยู่ปริวาสสามารถปฏิบัติได้ด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ ท่านผู้ใดเคยได้ยินมา ขอความกรุณาชี้แนะหรือนำมาแสดงเช่นกัน

๓ ในหลักเรื่องกิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ มีข้อหนึ่งว่า “อยู่ปริวาสกรรม” ที่เอาการอยู่ปริวาสกรรมมาจัดเข้าในกิจวัตรของภิกษุทำให้เข้าใจว่า การอยู่ปริวาสกรรมเป็นหน้าที่อันภิกษุจะต้องทำเป็นกิจวัตรเหมือนหน้าที่ในข้ออื่นๆ อีก ๙ ข้อ 

แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบกันให้แน่ชัดว่า “อยู่ปริวาสกรรม” ที่ระบุไว้ในกิจวัตร ๑๐ อย่างนั้นหมายถึงทำอะไร และทำทำไม 

ท่านผู้ใดมีคำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ขอความกรุณานำมาแสดงให้ทราบทั่วกัน

…………

กระผมยังค้นไปไม่ทั่วถึง ถ้าที่เขียนมานี้เป็นความเข้าใจผิด จะได้ปรับแก้ความเข้าใจของตัวเองให้ถูกต้องต่อไป ทั้งจะได้เป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องของสาธารณชนสืบต่อไปด้วย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

๑๗:๔๒

——–

เขียนต้นฉบับไว้ตั้งแต่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖

ปรับแก้ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *