บาลีวันละคำ

มังสวิรัติ (บาลีวันละคำ 1,581)

มังสวิรัติ

อ่านว่า มัง-สะ-วิ-รัด

ประกอบด้วย มังส + วิรัติ

(๑) “มังส

บาลีเขียน “มํส” อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก

มํส” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

(๒) “วิรัติ

บาลีเป็น “วิรติ” อ่านว่า วิ-ระ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, ต่าง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: วิ + รมฺ = วิรมฺ + ติ = วิรมติ > วิรติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเว้นพิเศษ” (คือปกติไม่ได้เว้น การงดเว้นนี้จึงพิเศษกว่าปกติ) (2) “การเว้นต่าง” (คือคนทั่วไปไม่เว้นการกระทำเช่นนั้น การงดเว้นนี้จึงต่างจากคนทั่วไป)

วิรติ” หมายถึง การเลิกละ, การงดเว้น (leaving off, abstinence); การงดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำ (abstaining from)

วิรติ” (วิ-ระ-ติ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัติ” (วิ-รัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิรัติ : (คำกริยา) งดเว้น, เลิก. (คำนาม) การงดเว้น, การเลิก, เช่น มังสวิรัติ สุราวิรัติ. (ป., ส. วิรติ).”

มํส + วิรติ = มํสวิรติ แปลตามศัพท์ว่า “การงดเว้นเนื้อ

คำว่า “มํสวิรติ” ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์ เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ เกิดจากคติความเชื่อว่า กินเนื้อสัตว์เป็นบาป แล้วเพิ่มเหตุผลอีกว่า กินเนื้อสัตว์มีโทษต่อร่างกาย กินพืชผักมีผลดีต่อร่างกาย

มํสวิรติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มังสวิรัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มังสวิรัติ : (คำนาม) การงดเว้นกินเนื้อสัตว์, เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ว่า อาหารมังสวิรัติ.”

มังสวิรัติ” กับ “เจ” ต่างกัน :

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เจ : (คำนาม) อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และผักบางชนิดเช่นกระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจ ก็ว่า. (จ. ว่า แจ).”

สรุปความต่างตามพจนานุกรมฯ ก็คือ –

มังสวิรัติ : งดเว้นเฉพาะเนื้อสัตว์

เจ : งดเว้นเนื้อสัตว์และผักบางชนิดด้วย

…………

: กินเนื้อเป็นยักษ์ กินผักเป็นคน

: กินแล้วทำกุศล จิตพ้นอุปาทาน

ถึงนิพพานแน่เอย

: ถ้ากินด้วยความยึดมั่นถือมั่น

กินอะไรก็ไม่มีวันพ้นทุกข์เลยเอย.

2-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย