บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๑)

————————————–

คำอาราธนาศีล (ต่อ)

มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, 

ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต …

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต …

เขียนแบบบาลี :

มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย, 

ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

……………..

วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย มีความหมายว่าอย่างไร

วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” เป็นส่วนหนึ่งของคำอาราธนาศีลที่ชาวพุทธคุ้นกันดี 

วิสุํ วิสุํ” (วิสุง วิสุง) แปลว่า คนละส่วน, ต่างหาก, แยกออก, แยกจากกัน 

รกฺขณตฺถาย” ประกอบด้วย รกฺขณ (การรักษา) + อตฺถ (ประโยชน์, ความหมาย, ความมุ่งหมาย

อตฺถ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “อตฺถาย” (อัตถายะ)

รกฺขณ + อตฺถาย = รกฺขณตฺถาย แปลตามศัพท์ว่า “เพื่อประโยชน์แก่การรักษา

วิสุํ วิสุํ (วิสุง วิสุง) อยู่ข้างหน้า แยกเป็นคนละศัพท์กัน แต่พูดรวมกันเป็น “วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย” แปลกันว่า “เพื่อประโยชน์แก่การรักษาแยกเป็นส่วนๆ” 

……………..

ผมมีความคิดเห็นที่ใคร่ขอแสดงไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้

……………..

คำว่า วิสุง แปลว่า แยก มีความหมาย ๒ นัย คือ แยกออกจากส่วนใหญ่ นัยหนึ่ง และ แยกส่วนใหญ่ออกเป็นส่วนย่อย อีกนัยหนึ่ง

แยกออกจากส่วนใหญ่” หมายถึงแยกส่วนหนึ่งออกไปจากส่วนใหญ่ เช่นในคำว่า วิสุงคามสีมา หมายถึงเขตอุโบสถ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นส่วนที่แยกออกจากพื้นที่ของทางบ้านเมือง (เขตอุโบสถเป็นแผ่นดินของพระศาสนาที่ทางราชการอนุญาตให้แยกออกมาจากบ้านเมือง ทำนองเดียวกับที่ตั้งสถานทูตต่างประเทศที่เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ถือว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นแผ่นดินของประเทศนั้นๆ) 

ตามนัยนี้ “ส่วนใหญ่” ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ว่ามีส่วนหนึ่งแยกออกไป นี่เป็นความหมายหนึ่งของ วิสุง 

แยกส่วนใหญ่ออกเป็นส่วนย่อย” หมายถึงเอาส่วนใหญ่ทั้งหมดมาแยกเป็นส่วนย่อยๆ ตามนัยนี้ เมื่อแยกแล้วก็ไม่มีส่วนใหญ่เหลืออยู่อีกต่อไป คงมีแต่ส่วนย่อยๆ ที่เคยรวมกันเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นความหมายหนึ่งของ วิสุง

ในคำอาราธนาศีล ๕ ใช้คำว่า วิสุง วิสุง ซ้ำ ๒ ครั้ง เท่ากับบอกว่า แยก แยก แสดงว่า วิสุง ในที่นี้จึงมีความหมายตามนัยที่ ๒ คือ แยกส่วนใหญ่ออกเป็นส่วนย่อย 

คำถามคือ แยกอะไรออกเป็นส่วนย่อย? 

ตามที่เข้าใจกันทั่วไปก็ว่า แยกศีลทั้ง ๕ ข้อ ออกเป็นข้อๆ โดยมีคำอธิบายว่า ไม่ถือรวมกันเป็นพวงทั้ง ๕ ข้อ แต่แยกถือเป็นข้อๆ และมีการขยายความต่อไปว่า การถือรวมกันทั้ง ๕ ข้อนั้นถ้าไปละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งเข้า (คือศีลขาดไปข้อหนึ่ง) ถือว่าขาดหมดทั้ง ๕ ข้อ แต่ถ้าแยกถือเป็นข้อๆ ศีลขาดข้อใด ก็ขาดเฉพาะข้อนั้น 

มีผู้รู้ยกอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า การถือรวมกันทั้ง ๕ ข้อ เหมือนเหรียญ ๕ บาท ถ้าหายก็คือหายหมดทั้ง ๕ บาท ส่วนการแยกถือเป็นข้อๆ เหมือนเหรียญบาท ๕ เหรียญ อันไหนหายก็หายเฉพาะอันนั้น อันอื่นยังอยู่

อุปมานี้ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนดีมาก 

แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น มีปัญหาว่า ถือรวมกันทั้ง ๕ ข้อคือถืออย่างไร และแยกถือเป็นข้อๆ คือถืออย่างไร 

ศีลนั้นสำเร็จได้ด้วยการตั้งจิตเจตนางดเว้น ถามว่า ตั้งจิตเจตนาอย่างไรเรียกว่าถือรวมกันทั้ง ๕ ข้อ และตั้งจิตเจตนาอย่างไรเรียกว่าแยกถือเป็นข้อๆ 

ในศีล ๕ มีการตั้งเจตนาอยู่ ๕ เรื่อง คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ผิดลูกเมียใคร ไม่พูดปด และไม่เสพของมึนเมา 

ถามว่า ถือรวมกับแยกถือ ปฏิบัติต่อเรื่องทั้ง ๕ เรื่องนี้ต่างกันตรงไหน 

ถือรวม” ก็ต้องหมายถึงว่าถือหมดทั้ง ๕ ข้อ ใช่หรือไม่ 

แล้ว “แยกถือ” เล่า มิใช่ถือหมดทั้ง ๕ ข้อดอกหรือ? 

จึงต้องถามอีกทีว่า ถือรวมกับแยกถือปฏิบัติต่างกันตรงไหน? 

และตามเหตุผลที่ควรจะเป็นนั้น เมื่อล่วงละเมิดข้อไหน ก็ควรจะผิดคือเสียหายเฉพาะข้อนั้น แต่ทำไมจึงว่า ถือรวม ถ้าศีลขาดไปข้อหนึ่ง เท่ากับขาดหมดทุกข้อ 

คนทำผิดเพราะไปฆ่าเขากระทงเดียว แต่ถูกตัดสินว่าผิดเพราะลักทรัพย์ด้วย ประพฤติผิดลูกเขาเมียใครด้วย พูดปดด้วย และเสพสุราเมรัยด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำ การตัดสินเช่นนี้จะสมเหตุสมผลหรือ

จะเห็นได้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว พูดกันเพลินไป ก็ฟังกันเพลินไปได้ แต่พอจะลงมือปฏิบัติเข้าจริงๆ ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะให้เห็นว่าแตกต่างกัน เพราะทั้งถือรวมทั้งแยกถือก็ปฏิบัติเท่ากันเหมือนกันทุกประการ

อันที่จริงการรักษาศีลแบบที่เรียกว่า “ถือรวม” นั้น ท่านมีข้อกำหนดที่ชัดเจนอยู่แล้ว เฉพาะศีลอุโบสถเท่านั้น ดังมีคำกำกับอยู่ว่า “อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง” ซึ่งแปลว่า “อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์แปด” 

นั่นหมายความว่า จะรักษาศีลอุโบสถ ต้อง “ถือรวม” หมดทั้ง ๘ ข้อ จะเลือกถือเป็นบางข้อแล้วก็บอกว่า ข้าพเจ้าถือศีลอุโบสถ ดังนี้หาได้ไม่ 

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ถ้าผู้รักษาศีลอุโบสถไปบริโภคอาหารในเวลาวิกาลเข้ากระทงเดียว มีโทษเท่ากับได้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เสพสุราเมรัย ไปจนถึงนั่งนอนบนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ผิดครบหมดทั้ง ๘ กระทง อย่างที่พูดกันว่า ขาดข้อเดียวเท่ากับขาดหมดทุกข้อ 

แต่หมายความว่า ถ้าล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งเข้า อุโบสถก็เสีย 

คำว่า “อุโบสถก็เสีย” นี้ หมายถึงความเป็นศีลอุโบสถบกพร่องไป ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ 

มิได้แปลว่า ขาดข้อเดียวเท่ากับขาดหมดทุกข้อ ดังที่มักจะเข้าใจกัน

อุปมาเหมือนยาขนานหนึ่ง ประกอบด้วยตัวยาหรือสมุนไพร ๘ ชนิดจึงครบสูตร ถ้ามีตัวยาครบทั้ง ๘ ก็มีสรรพคุณเต็มที่ ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไป สรรพคุณของยาก็บกพร่องไป

ส่วนศีล ๕ นั้น ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องถือรวมกันหมดทั้ง ๕ ข้อ เมื่อไม่มีข้อกำหนด ก็แปลว่า ในการถือศีล ๕ นั้น ไม่มีระบบหรือกฎเกณฑ์ที่จะต้องมาถือรวมหรือแยกถือเหมือนศีลอุโบสถ

ตอนนี้คำถามก็คือ แล้วคำว่า “วิสุง วิสุง รักขณัตถายะ” ซึ่งแปลว่า “เพื่อต้องการจะรักษาแยกๆ กัน” นั้น จะมีความหมายว่ากระไร?

ผมขอเสนอทฤษฎีดังต่อไปนี้

คำว่า “วิสุง วิสุง รักขณัตถายะ” ซึ่งแปลว่า “เพื่อต้องการจะรักษาแยกๆ กัน” มีความหมาย ๒ นัย คือ – 

ถ้าเล็งไปที่ศีล หมายความว่า แยกศีลออกเป็นข้อๆ แล้วเลือกถือเป็นบางข้อ นี่นัยหนึ่ง 

ถ้าเล็งไปที่ตัวบุคคลที่จะรักษาศีล หมายความว่า แยกคนออกเป็นพวกๆ นี่อีกนัยหนึ่ง

เหตุผลที่ต้องแยกศีลออกเป็นข้อๆ แล้วเลือกถือเฉพาะบางข้อก็เพราะว่า ศีลแต่ละข้อปฏิบัติยากง่ายแตกต่างกันออกไป ศีล ๕ มีเพียง ๕ ข้อก็จริงอยู่ บางข้องดเว้นได้ง่าย แต่บางข้อก็งดเว้นได้ยาก พระพุทธศาสนาให้เสรีภาพในการปฏิบัติอยู่แล้ว ในคำอาราธนาศีลตรงนี้จึงเท่ากับขอโอกาสที่จะเลือกรักษาเป็นบางข้อตามศรัทธาและตามความสามารถของแต่ละคน

ส่วนเหตุผลที่ต้องแยกคนออกเป็นพวกๆ ก็ทำนองเดียวกันนั่นเอง หมายความว่าในบรรดาคนที่มารวมกันขอศีลนั้น บางคนสามารถรักษาได้ครบทุกข้อ แต่บางคนสามารถรักษาได้เพียงบางข้อ จึงต้องบอกกล่าวแก่พระสงฆ์ผู้ให้ศีลให้ทราบไว้เป็นเบื้องต้นว่า คนที่มารับศีลกันอยู่นี้ไม่สามารถจะรักษาศีลครบ ๕ ข้อได้หมดทุกคน จึงต้องขอแบ่งคนออกเป็นพวกๆ เช่นพวกที่รักษาได้ข้อเดียวบ้าง ๒ ข้อ ๓ ข้อ หรือ ๔ ข้อบ้าง ตลอดจนพวกที่สามารถรักษาได้ครบทั้ง ๕ ข้อก็มี และในจำพวกที่รักษาได้ไม่ครบทั้ง ๕ นั้น พวกไหนหรือคนไหนจะรักษาข้อไหนได้บ้าง ก็ขอให้เป็นไปตามความสามารถของแต่ละพวกแต่ละคน 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อมิให้เกิดการเข้าใจผิดกันขึ้นว่า ขอศีล ๕ ก็ต้องรักษาได้ครบ ๕ ข้อทุกคน อีกทั้งมิให้เป็นการกล่าวเท็จต่อพระสงฆ์ เพราะเวลาอาราธนาศีลนั้น บอกพระท่านไปชัดเจนว่า “ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ พวกข้าพเจ้าขอศีล ๕

อาจมีคำแย้งย้อนว่า ก็เมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะรักษาศีล ๕ ไม่ได้ครบทั้ง ๕ ข้อหมดทุกคนเช่นนี้แล้ว ทำไมไม่ขอเฉพาะข้อที่จะรักษาได้ 

คำแย้งนี้ตอบได้ง่ายที่สุด คือ ไม่สามารถจะแยกขอเป็นข้อๆ ได้ เพราะไม่มีทางจะทราบได้ว่าใครจะรักษาข้อไหนกันบ้าง และตามความเป็นจริงแล้วคนที่สามารถรักษาได้ครบทั้ง ๕ ข้อก็ย่อมจะมีอยู่ในที่นั้น จึงเป็นอันว่าต้องขอศีลครบทั้ง ๕ ข้ออยู่นั่นเอง หมายความว่าขอเต็มไว้ก่อน ผู้รักษาศีลก็ไปแยกกันเองว่าใครจะรักษาได้กี่ข้อ

ความหมายของ วิสุง วิสุง ทั้ง ๒ นัยนี้ย่อมสอดคล้องกันเป็นอันดี คือ แยกศีลเป็นข้อๆ ก็เพื่อให้เหมาะแก่ผู้รักษา และแยกผู้รักษาเป็นพวกๆ ก็เพื่อให้เหมาะแก่ศีล เป็นการให้เสรีภาพในการปฏิบัติธรรมคำสอนตามศรัทธาสามารถของผู้ปฏิบัติ อันเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา

สรุปว่า “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” มีความหมาย ๒ อย่าง

๑ หมายความว่า แบ่งศีลออกเป็นข้อๆ รักษาเฉพาะบางข้อ

๒ หมายความว่า แบ่งคนออกเป็นพวกๆ แต่ละพวกรักษาศีลได้ไม่เท่ากัน

ด้วยเหตุผลดังแสดงมานี้ จึงขอเสนอแนะว่า แม้ในคำอาราธนาศีล ๘ (ที่ไม่ใช่ศีลอุโบสถ) ก็ควรมีคำว่า “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” ด้วย จึงจะเป็นการดี หมายความว่า ขอศีล ๘ ข้อ แต่ผู้รักษาขออนุญาตแบ่งกันเป็นพวกๆ บางคนอาจรักษาได้ ๖ ข้อ บางคนรักษาได้ ๗ ข้อ และบางคนก็สามารถรักษาได้ครบทั้ง ๘ ข้อ ทำนองเดียวกับศีล ๕ นั่นเอง 

ส่วนศีลอุโบสถมี “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องรักษาให้ครบทั้ง ๘ ข้อ ตามคำที่ว่า “อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง” ซึ่งแปลว่า “อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์แปด” 

……………..

จากการวิเคราะห์ความหมายโดยถี่ถ้วนแล้ว ถือศีลแบบวิสุงวิสุง หมายความว่า ในการขอศีล (อาราธนาศีล) นั้น ขอครบทุกข้อ แต่ในการรับ หรือการถือ บางคนถือได้ครบทุกข้อ บางคนถือได้เพียงบางข้อ จึงต้องแสดงเจตนาให้พระสงฆ์ท่านทราบไว้ตั้งแต่ต้น ว่าผู้รับศีลจะขอถือศีลโดยแยกเป็นพวกๆ (วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ) ตามความสามารถ คือถือได้ครบก็มี ถือได้เพียงบางข้อก็มี 

ถ้าไม่มี “วิสุง วิสุง” (แยกเป็นพวกๆ) ก็จะเป็นการกล่าวมุสาวาทแก่พระไป คือขอครบ แต่รับไม่ครบ 

ขอศีลแบบ “วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ” จึงเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ตั้งแต่ต้น คนที่ถือได้ไม่ครบทุกข้อก็ยังอาราธนาศีล-รับศีลได้เช่นเดียวกัน ไม่ถูกตัดโอกาสที่จะทำความดี

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๔:๒๐

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *