เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๒)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๒)
————————————–
คำอาราธนาศีล (ต่อ)
มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ,
ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต …
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต …
เขียนแบบบาลี :
มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย,
ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …
……………..
ในพิธีสงฆ์ที่เป็นพิธีทางการ พิธีกรจะเป็นผู้กล่าวคำอาราธนาศีลเพียงคนเดียวเสมือนเป็นผู้แทน ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องกล่าวด้วย แต่ในพิธีสงฆ์ที่เป็นพิธีแบบชาวบ้าน เช่นทำบุญวันพระเป็นต้น แม้จะมีมรรคนายกเป็นผู้นำทำพิธี แต่ผู้ร่วมพิธีก็นิยมกล่าวคำอาราธนาศีลไปพร้อมๆ กับมรรคนายกด้วย
เพราะฉะนั้น คำอาราธนาศีลจึงเป็นคำที่ทุกควร “ว่า” ได้ด้วยตนเอง
ว่าได้ด้วยตนเอง หมายถึงไม่ต้องกางหนังสืออ่าน
มีเรื่องที่ขออนุญาตชวนคิดปิดท้ายเรื่องคำอาราธนาศีลอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ มีใครเคยคิดสงสัยบ้างหรือไม่ว่า จะรับศีลหรือถือศีล ทำไมจึงต้อง “ขอศีล”
ตามหลักการปฏิบัติธรรม เรามีศรัทธาพอใจจะปฏิบัติเรื่องอะไร นั่นหมายถึงว่าเราเข้าใจเรื่องที่เราจะปฏิบัตินั้นแล้ว คือเราศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจดีแล้วว่าเรื่องนี้ต้องทำอย่างนี้ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เข้าใจดีแล้วในขั้นพื้นฐาน ส่วนในขั้นรายละเอียดอาจจะต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเอาตามรายทางในระหว่างปฏิบัติ
เรื่องถือศีลก็เช่นเดียวกัน เราต้องรู้ก่อนว่าศีลที่เราจะถือคืออะไร คือการงดเว้นเรื่องอะไรบ้าง
…………………………..
งดเว้นการฆ่า
งดเว้นการลักขโมย
งดเว้นการประพฤติผิดในลูกเมียคู่ครอง
งดเว้นการพูดเท็จ
งดเว้นการเสพของมันเมา
…………………………..
พอรู้เข้าใจแล้ว เรามีศรัทธาที่จะปฏิบัติ เราก็ตั้งใจลงมือปฏิบัติตาม
รู้แล้วว่างดเว้นเรื่องอะไรบ้าง แล้วตกลงใจงดเว้น นั่นคือการถือศีลได้เกิดขึ้นแล้วทันที ณ จุดนั้น
แล้วทำไมจะต้องไป “ขอศีล” จากพระ?
มีใครเคยคิดสงสัยบ้างไหม
……………….
ผมมีข้อสันนิษฐาน คือข้อตกลงใจแน่นอนว่าต้องเป็นอย่างนี้-กล่าวคือ –
๑ ชาวบ้านศึกษาเรื่องศีลแล้วมีศรัทธาจะถือศีล ขั้นตอนนี้ทำได้ทันที เป็นการถือศีลแล้วในทันทีที่ตกลงใจปฏิบัติ
๒ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ก็ควรจะมีผู้รู้เห็นเป็นพยาน เป็นการย้ำยืนยันว่าเราตั้งใจทำจริงๆ เหยาะแหยะเหลาะแหละไม่ได้ เพราะมีพยานรู้เห็น
๓ พยานที่ดีที่สุดในการถือศีลปฏิบัติธรรมก็คือพระ เราก็จึงไปบอกกับพระว่า เราจะถือศีลทั้ง ๕ ข้อ กล่าวออกมาเป็นถ้อยคำตามที่รู้เข้าใจตรงกันว่า ข้าพเจ้าของดเว้นเรื่องนี้ๆ
๔ ข้อความแสดงเจตนางดเว้นที่เราได้ศึกษามาแล้วก็คือ –
…………………………..
(๑) ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือเว้นจากการฆ่าสัตว์)
(๒) อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย)
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
(๔) มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือเว้นจากการพูดเท็จ)
(๕) สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือเว้นจากสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)
…………………………..
ในชั้นเดิม ผู้มีศรัทธาถือศีลจะไปกล่าวข้อความเหล่านี้-เฉพาะที่เป็นคำบาลี-ต่อหน้าพระ เพื่อให้พระเป็นพยานว่า-ข้าพเจ้าจะถือศีลละนะ
นี่ก็คือที่เราเรียกรู้กันว่า “คำสมาทานศีลห้า”
พระได้ฟังแล้วก็อนุโมทนาด้วยการกล่าวอานิสงส์การถือศีลเพื่อให้กำลังใจแก่โยม ดังนี้ –
…………………………..
สีเลนะ สุคะติง ยันติ (บุคคลไปถึงสุคติภูมิได้ก็เพราะศีล)
สีเลนะ โภคะสัมปะทา (ถึงพร้อมด้วยโภคะก็เพราะศีล)
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ (ถึงความดับทุกข์คือพระนิพพานได้ก็เพราะศีล)
ตัส๎มา สีลัง วิโสธะเย. (เพราะฉะนั้น จึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์สะอาด)
…………………………..
คำสมาทานศีลนั้น ในชั้นเดิมจริงๆ ผู้ถือศีลกล่าวออกมาด้วยตนเองเพราะได้ศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว พระคงกล่าวเฉพาะอานิสงส์ศีล (สีเลนะ …) เท่านั้น
การไปกล่าวคำสมาทานศีลต่อหน้าพระเพื่อให้พระเป็นพยานนี้เป็นที่นิยมทำกันมากขึ้น จนกลายเป็นธรรมเนียม ใครจะถือศีลก็ต้องไปกล่าวคำสมาทานศีลต่อหน้าพระทุกครั้งไป
ตกมาในชั้นหลัง คนถือศีลกล่าวคำสมาทานไม่คล่อง เพราะความอุตสาหะในการท่องจำลดน้อยลง พอติดตรงคำไหน พระท่านก็จะบอกให้
แรกๆ ก็คงบอกเฉพาะคำที่ติด แต่พอนานๆ ไป กลายเป็นติดหมดทุกคำ พระก็เลยต้องว่านำให้หมดทุกคำทุกข้อ
ภาพจึงออกมาดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน คือคนถือศีลไปกล่าวคำสมาทานต่อหน้าพระโดยให้พระกล่าวนำ
แล้วคำอาราธนาศีลเกิดมาได้อย่างไร?
ถึงตอนนี้ก็คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ไหนๆ ก็ต้องให้พระกล่าวนำเหมือนกับขอศีลจากพระจนเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ก็คงจะมีคนฉลาดคิดเกิดไอเดียว่า ถ้ามีคำขอศีลเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยก็จะดูดีขึ้น
“มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ …” ก็เลยเกิดขึ้นมาในตอนนั้น แล้วเรียกกันว่า “คำอาราธนาศีล” ซึ่งมีความหมายเต็มๆ ว่า คำอาราธนาพระขอให้กล่าวคำสมาทานศีลนำให้ญาติโยม เพราะญาติโยมกล่าวเองไม่คล่อง
จนในที่สุดกลายเป็นแบบแผน จะถือศีลต้องมีพระมาให้ศีล และต้องกล่าวคำอาราธนาศีล ให้พระกล่าวคำสมาทานนำ ญาติโยมกล่าวตาม แม้ใครจะกล่าวคำสมาทานศีลได้คล่องด้วยตนเอง ก็ต้องให้พระกล่าวนำเสมอไป เรียกกิริยาที่ทำเช่นนี้ว่า “ขอศีล – ให้ศีล – รับศีล”
……………….
แบบแผนนี้มีอิทธิพลถึงขนาดลบหลักการเดิมที่ว่า ใครจะถือศีล เมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้วว่างดการกระทำเช่นไรบ้าง ก็สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองทันที –
กลายเป็น-เกิดความเข้าใจกันทั่วไปว่า-จะถือศีลต้องไปขอศีลจากพระ ต้องไปวัด ต้องอาราธนาศีล ต้องมีพระให้ศีล ทำอย่างนี้จึงจะเป็นการถือศีล ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ การถือศีลก็ทำไม่ได้
เวลานี้ก็ยังมีคนเป็นอันมากเข้าใจเช่นนี้ เช่นวันพระไหนไม่ได้ไปวัด ก็จะบอกว่า “วันพระนี้ไม่ได้ไปวัด เลยไม่ได้ถือศีล”
ทั้งๆ ที่การถือศีลนั้นสามารถทำได้ทุกที่ในขณะที่เกิดกุศลจิตตั้งใจงดเว้นเรื่องนั้นๆ
……………….
เรื่องที่-แรกเริ่มเดิมที่ชาวบ้านกล่าวเอง แล้วต่อมากลายเป็นพระเป็นผู้กล่าว-ที่เป็นพยานได้ชัดๆ เรื่องหนึ่งก็คือ คำกล่าวชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม จะ รูเป …)
คำกล่าวชุมนุมเทวดาก็คือคำเชิญเทวดาให้มาฟังธรรม เกิดจากการที่ชาวบ้านจัดงานนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์-อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงธรรม-เจ้าภาพมีน้ำใจเผื่อแผ่ถึงเทวดา อยากให้เทวดาได้บุญด้วย ก็จึงตั้งกุศลจิตเชิญเทวดามาฟังพระสวดมนต์ด้วย
…………………………..
จะเชิญใครมาร่วมงาน
เจ้าภาพหรือเจ้าของงานก็ต้องเป็นผู้เชิญ
นี่เป็นหลักสากล
…………………………..
ชั้นเดิม เจ้าภาพก็คงกล่าวคำเชิญ-คือบทชุมนุมเทวดา-ด้วยตนเอง รายไหนกล่าวเองไม่คล่อง ก็ขอแรงคนที่กล่าวคล่อง-ซึ่งก็คือชาวบ้านด้วยกันที่ทำหน้าที่พิธีกรหรือมรรคนายก-ช่วยกล่าวแทนให้
แต่ก็คงมีอยู่บ่อยๆ ที่ไปเจอชาวบ้านที่ทำหน้าที่มรรคนายกจำเป็นว่าบทชุมนุมเทวดาไม่คล่อง
เดิม พระท่านก็คงกล่าวนำให้เป็นบางคำบางตอน
นานๆ เข้า พระต้องกล่าวนำให้ทุกคำ
หนักๆ เข้า พระกล่าวเสียเอง หมดเรื่องหมดราวไป
จนในที่สุด กลายเป็นแบบแผน ชุมนุมเทวดา พระเป็นผู้กล่าว ดังภาพที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
……………….
อีกเรื่องหนึ่งที่-เมื่อก่อนไม่มี แต่เดี๋ยวกำลังเกิดขึ้น ก็คือ คำถวายสังฆทาน
เมื่อก่อนนี้-ตีเสียว่าเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เวลาถวายสังฆทานเจ้าภาพญาติโยมเป็นผู้กล่าวเองทั้งหมด พระมีหน้าที่รับ สาธุ และกล่าวคำอปโลกน์เท่านั้น
แต่เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้ เวลาถวายสังฆทาน หลายๆ วัดพระเป็นผู้กล่าวคำถวายนำให้เจ้าภาพกล่าวตามทุกคำกันแล้ว เพราะเจ้าภาพกล่าวเองไม่ได้ หามรรคนายกมาช่วยกล่าวนำให้ก็ไม่ได้ พระต้องกล่าวนำให้
ผมขอพยากรณ์ว่า อีกไม่เกินศตวรรษข้างหน้า พิธีถวายสังฆทานพระจะเป็นผู้กล่าวคำถวายให้ญาติโยมกล่าวตาม-แบบเดียวกับกล่าวคำสมาทานศีลให้โยมกล่าวตามที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้
แล้วตอนนั้นก็จะมีคนฉลาดแต่ง “คำอาราธนาสังฆทาน” ขึ้นมาเหมือนคำอาราธนาศีลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
ใครอยู่ถึงตอนนั้น ขอแรงช่วยจำคำพยากรณ์ของผมไว้ด้วยนะครับ-ขอบพระคุณล่วงหน้า
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๗:๐๒
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๓)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๑)