เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๓)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๓)
————————————–
ศีลห้า: ว่าเป็น แปลถูก ปฏิบัติได้
…………………………..
(๑) ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(๒) อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(๔) มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(๕) สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
…………………………..
เขียนแบบบาลี:
…………………………..
(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(๒) อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(๔) มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(๕) สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
…………………………..
คนรุ่นเก่า แม้จะไม่ใช่คนที่ฝักใฝ่ในทางธรรม แต่ส่วนมาก “ว่า” ศีลห้าได้คล่อง เวลารับศีลว่าตามพระได้คล่องไม่ติดขัด
แต่คนรุ่นใหม่ชักจะ “ว่า” ศีลห้าไม่ได้ ว่าได้บ้างก็ตะกุกตะกัก ไม่คล่อง เหตุทั้งนี้เป็นเพราะความอุตสาหะที่จะท่องจำลดน้อยถอยลง
น่าจะมีการกำหนดว่า คุณสมบัติพื้นฐานข้อหนึ่งของชาวพุทธคือ สามารถ “ว่า” คำสมาทานศีลห้าได้ด้วยตนเอง
วิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยให้จำศีลห้าได้ง่ายขึ้นก็คือ เรียนรู้คำแปล
ลองมาเรียนรู้กันดู
…………………
ในคำสมาทานศีลห้า คำที่มีซ้ำกันทั้ง ๕ ข้อก็คือ “เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ”
เขียนแบบคำอ่านเป็น “เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ”
มีคำบาลีอยู่ ๓ คำ คือ “เวรมณี” “สิกฺขาปทํ” “สมาทิยามิ”
มาทำความรู้จักเป็นคำๆ ไป
(๑) “เวรมณี” (เวระมะณี) แปลว่า “เจตนางดเว้น” หรือจะแปลสั้นๆ ว่า “การงดเว้น” (abstaining from [ — ], abstinence) ก็ได้
ใครที่เคยกล่าวคำสมาทานศีลคงจะเคยได้ยินหรืออาจจะเคยพูดคำว่า
ปาณาติปาตาเว…
อทินนาทานาเว…
มุสาวาทาเว…
“เว” พยางค์ท้ายนั่นแหละคือคำที่ตัดมาจาก “เวรมณี” คำนี้ เป็นการแยกศัพท์ผิดคำหรือให้น้ำหนักคำผิดที่ ทำนองเดียวกับ “ปัญจะ สีลา นิยาจามะ” ที่เคยอธิบายมาแล้วในตอนก่อนๆ (แยกคำถูกคือ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ)
(๒) “สิกฺขาปทํ” (สิกขาปะทัง) แปลว่า “หัวข้อสำหรับฝึกศึกษา” หมายถึง ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขาปท” เป็นภาษาอังกฤษว่า set of precepts, “preceptorial,” code of training; instruction, precept, rule (สิกขาบท, “คำสอน”, หลักเกณฑ์ของการศึกษา; คำสั่งสอน, ระเบียบ, ข้อบังคับ)
“สิกฺขาปทํ” หรือ “สิกฺขาปท” ก็คือที่เราใช้ว่า “สิกขาบท”
นึกออกไหม เวลาพระสึก ก็จะมีคนใช้คำพูดว่า “ลาสิกขาบท”
พระสึกไม่ใช่ “ลาสิกขาบท”
คำที่ถูกต้องคือ “ลาสิกขา”
ความแตกต่างระหว่าง “สิกขา” กับ “สิกขาบท” :
– “สิกขา” คือ ระบบวิถีชีวิตทั้งปวงตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เช่นวิถีชีวิตสงฆ์ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา วิถีชีวิตชาวพุทธต้องมีทาน ศีล ภาวนา
– “สิกขาบท” คือ บทบัญญัติ หรือศีลข้อหนึ่งๆ อันเป็นส่วนย่อยในสิกขา
เทียบกับกฎหมาย:
“สิกขา” คือพระราชบัญญัติทั้งฉบับ
“สิกขาบท” คือ “มาตรา” แต่ละมาตราในพระราชบัญญัติฉบับนั้น
พระสึกคือ “ลาสิกขา”
“ลาสิกขา” คือลาจากวิถีชีวิตสงฆ์ ไม่ดำเนินชีวิตอย่างพระอีกต่อไป
คำกล่าวลาสึกก็บอกไว้ชัด “สิกขัง ปัจจักขามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา”
แต่เวลาเอามาพูดหรือเขียน ก็ยัง (ตะบี้ตะบัน) บอกว่า “ลาสิกขาบท” อยู่นั่นแล้ว
การไม่รู้ ไม่รับรู้ ไม่ใฝ่ใจที่จะรู้ เป็นเช่นนี้เองหนอ
อนึ่ง โปรดเข้าใจว่า คำว่า “สิกฺขาปทํ” ในที่นี้เป็นคำเดียวสำเร็จรูปแล้ว เวลาแปลก็แปลรวมกันทั้งคำว่า “หัวข้อสำหรับฝึกศึกษา” ไม่ต้องแยกคำว่า “สิกฺขา” ไปอธิบายทีหนึ่ง แยกคำว่า “ปทํ” ไปอธิบายอีกทีหนึ่ง (เคยเห็นบางท่านทำเช่นนั้น)
“สิกฺขา” มีความหมายอย่างไร ถ้าอยากอธิบายก็อธิบายไป
“ปทํ” มีความหมายอย่างไร ถ้าอยากอธิบายก็อธิบายไป
แต่เมื่อรวมกันเป็น “สิกฺขาปทํ” คำเดียวกันแล้ว ย่อมมีความหมายเฉพาะเป็นต่างหากออกไปจาก “สิกฺขา” คำเดียว หรือ “ปทํ” คำเดียว
(๓) “สมาทิยามิ” (สะมาทิยามิ) เป็นคำกริยา (กิริยา) ลงท้ายด้วย –มิ เป็นการบังคับว่า “ประธาน” ในประโยคต้องเป็น “อหํ” (อะหัง) = อันว่าข้าพเจ้า
“สมาทิยามิ” แปลทับศัพท์ว่า “สมาทาน” คือรับเอามาปฏิบัติ (to take with oneself, to take upon oneself, to undertake)
คำว่า “สมาทิยามิ” หลายท่านได้ยินเสียงแล้วจินตนาการไปเองว่า คือ “สมาธิ” บางทีเขียนคำนี้เป็น “สมาธิยามิ” ไปเลยก็มี
โปรดทราบว่า “สมาทิยามิ” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “สมาธิ” เป็นคนละคำกัน ไม่ควรลากเอามาเกี่ยวกันโดยไม่จำเป็น
ทีนี้ก็แปลเป็นคำๆ
…………………………..
อหํ = อันว่าข้าพเจ้า
สมาทิยามิ = ย่อมสมาทาน
สิกฺขาปทํ = ซึ่งสิกขาบท
เวรมณี = คือการงดเว้น… (งดเว้นอะไร ก็ดูคำข้างหน้าต่อไป)
…………………………..
ได้ความเฉพาะคำแปลว่า –
ข้าพเจ้า ย่อมสมาทาน ซึ่งสิกขาบท คือการงดเว้น…
แปลรวมความว่า –
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคือการงดเว้น…
ตอนหน้ามาศึกษาเรื่องที่งดเว้นแต่ละเรื่อง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๓:๒๘
……………………………………
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๔)
……………………………………
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๒)