บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๔)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๔)

————————————–

ศีลห้า: ว่าได้ แปลถูก ปฏิบัติได้ (ต่อ)

…………………………..

(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกฺขาปะทัง สะมาทิยามิ. 

…………………………..

คำที่เป็นหลักในศีลข้อที่หนึ่งคือ “ปาณาติบาต” อ่านว่า ปา-นา-ติ-บาด แยกคำเป็น ปาณ + อติบาต 

(๑) “ปาณ” แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องเป็นอยู่ได้แห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งเป็นเครื่องให้มีลมปราณ” หมายถึง คนหรือสัตว์ที่มีชีวิต, ชีวิต, สัตว์โลก (living being, life, creature) 

นักขบธรรมะให้จำกัดความ “ปาณ” ว่า “สิ่งที่มีลมหายใจ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า “ลมหายใจ; สัตว์มีชีวิต, ชีวิต” 

(๒) “อติบาต” (อะ-ติ-บาด) แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตกล่วง” หมายถึง ทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต

ปาณาติบาต” แปลตามศัพท์ว่า “การยังสัตว์มีลมหายใจให้ตกล่วง” หมายถึง พรากสิ่งที่มีชีวิต, ปลิดชีวิต, ฆ่า, ทำลาย 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า “การทําลายชีวิตมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ, การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” 

โปรดสังเกต คำไทย “ปาณาติบาต” เขียนเป็นคำบาลีเป็น “ปาณาติปาต” (ไทย –บาต บาลี –ปาต

แต่คำบาลีในตัวศีลไม่ใช่ “ปาณาติปาต” แต่เป็น “ปาณาติปาตา” คือเป็น -ปาตา ไม่ใช่ -ปา 

ศีลทุกข้อ ก่อนถึงคำว่า “เวรมณี” จะเป็นสระ อา ทั้งนั้น

…………………………..

(๑) ปาณาติปาตา

(๒) อะทินนาทานา

(๓) กาเมสุมิจฉาจารา

(๔) มุสาวาทา

(๕) สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา

…………………………..

อันนี้เป็นไปตามกฎการผันรูปหรือการลงวิภัตติปัจจัย

สังเกตเล่นๆ แต่ได้ความรู้จริงๆ 

ภาษาไทยเราพูดว่า “ไปวัด”

แต่ภาษาบาลีต้องพูดว่า “ไปสู่วัด” คือต้องมีคำว่า “สู่” ด้วย

ภาษาไทยเราพูดว่า “เว้นการฆ่าสัตว์”

แต่ภาษาบาลีต้องพูดว่า “เว้นจากการฆ่าสัตว์” คือต้องมีคำว่า “จาก” ด้วย

ถ้า “ไป-” ต้อง “-สู่” : ไปสู่

ถ้า “เว้น-” ต้อง “-จาก” : เว้นจาก

วิภัตติปัจจัยที่มีคำแปลว่า “จาก” เมื่อลงที่คำนาม ทำให้พยางค์ท้ายกลายเป็นสระ อา

…………………………..

ปาณาติปา เป็น ปาณาติปาตา … จากปาณาติบาต

อะทินนาทา เป็น อะทินนาทานา … จากอะทินนาทาน

กาเมสุมิจฉาจาร เป็น กาเมสุมิจฉาจารา … จากกาเมสุมิจฉาจาร

มุสาวา เป็น มุสาวาทา … จากมุสาวาท

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐาน เป็น สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา … จากสุราเมรัย…

…………………………..

นี่คือที่ว่า-เป็นไปตามกฎการผันรูปหรือการลงวิภัตติปัจจัย

สังเกตไว้เป็นพื้นความรู้

………………..

ปาณาติบาต” เป็นศีลข้อที่ ๑ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ และเป็นอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ในจำนวน ๔ สิกขาบท (กรณีฆ่ามนุษย์)

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “ปาณาติบาต” มี ๕ (อ่านบาลีไม่ถนัด จำบาลีไม่ได้ ไม่ต้องกังวล ขอเพียงเข้าใจความหมาย) คือ :

(๑) ปาโณ ปาณะนั้นยังมีชีวิตอยู่

(๒) ปาณสญฺญิตา ผู้ทำรู้ว่าปาณะนั้นยังมีชีวิต

(๓) วธกจิตฺตํ มีเจตนาจะทำให้ตาย

(๔) อุปกฺกโม ลงมือทำ

(๕) เตน มรณํ ปาณะนั้นตายด้วยการกระทำนั้นโดยตรง

ข้อสังเกต :

ศีลข้อ “ปาณาติบาต” นี้ มักพูดกันเป็นคำสามัญว่า “ฆ่าสัตว์” คำว่า “สัตว์” ชวนให้นึกแคบเข้าไปเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน (animal) คือสัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ 

แต่ในทางหลักธรรมวินัยท่านจำกัดความไว้รัดกุมด้วยการใช้คำว่า “ปาณ” หมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่มีลมปราณ” คือมีลมหายใจ 

เพราะฉะนั้น สิ่งมีชีวิตที่มี “ปาณ” ทุกชนิด จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปก็ตาม ใครไปทำให้ตาย ย่อมผิดศีลข้อนี้ทั้งสิ้น 

…………………………..

พูดภาษาไทยว่า –

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

พูดเป็นภาษาบาลีว่า –

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๑:๐๒

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *