บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๘)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๘)

————————————–

ศีลห้า: ว่าได้ แปลถูก ปฏิบัติได้ (ต่อ)

…………………………..

(๕) สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกฺขาปะทัง สะมาทิยามิ. 

…………………………..

ศีลข้อนี้ คำพูดติดปากคือ “สุรา”

พูดยาวออกไปอีกหน่อยก็ว่า “สุราเมระยะ” หรือ “สุราเมรัย”

บางคนพูดตัดคำเป็น “สุราเม-”

คำเต็มๆ คือ “สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐาน” ซึ่งคนส่วนมากพูดไม่คล่อง

วิธีที่จะพูดได้คล่องก็คือ ลองหัดแยกคำให้ถูกและลงน้ำหนักเสียงให้ถูก

สุรา – คำหนึ่ง

เมระยะ – คำหนึ่ง

มัชชะ – คำหนึ่ง

ปะมาทัฏ – คำหนึ่ง

ฐานา – คำหนึ่ง

สุรา-เมระยะ-มัชชะ-ปะมาทัฏ-ฐานา

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา

เห็นไหม ไม่ยากเลย

คราวนี้ก็แปลความหมายเป็นคำๆ

(๑) “สุรา” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “เครื่องดื่มอันพรานป่าชื่อสุระปรุงขึ้นครั้งแรก

(2) “เครื่องดื่มที่ไหลไป” 

(3) “เครื่องดื่มที่ยังผู้คนให้ดื่ม” (คือทำให้ติดแล้วต้องดื่มเรื่อยไป)

(4) “เครื่องดื่มที่ทำให้ผู้ดื่มเป็นคนกล้า

จำความหมายสั้นๆ แบบคำพูดติดปากก็ได้ “สุราแปลว่าเหล้า” 

(๒) “เมระยะ” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ของเป็นเหตุให้มึนเมา

(2) “ของที่ยังความมึนเมาให้เกิด

เมระยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “เมรย” ก็คือที่เราเรียกทับศัพท์ว่า เมรัย 

ความแตกต่างระหว่างสุรากับเมรัยก็คือ –

สุรา” เครื่องดื่มที่ต้มกลั่นแล้ว

เมรัย” เครื่องดื่มหมักดอง คือไม่ได้ต้มกลั่น

(๓) “มัชชะ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุบ้าคลั่งแห่งผู้คน” หมายถึง ของมึนเมา, ของที่เป็นเหตุให้มึนเมา, ความมึนเมา 

ถ้าแยกให้ชัดๆ “มัชชะ” ก็คือของเมาอื่นๆ นอกจากสุราและเมรัย

ถ้าแปลอย่างนี้ก็เป็นอันไม่ต้องสงสัยและไม่ต้องเถียงกันว่า ยาบ้า ยาอี ยาเสพติดในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่สุราเมรัย เสพแล้วผิดศีลหรือไม่

(๔) “ปะมาทัฏ” (ปะ-มา-ทัด) คำเดิมคือ “ปะมาทะ” ที่ –ทะ เป็น –ทัฏ ก็เพราะซ้อน ปฏัก เนื่องจากคำหลังขึ้นต้นด้วย ฐาน (เป็นกฎบาลีไวยากรณ์)

ปะมาทัฏ” หรือ “ปะมาทะ” แปลตามศัพท์ว่า “ความเมาทั่ว” ไขความว่า คือ “ภาวะเป็นเหตุให้บุคคลแม้จะมีความสามารถก็ไม่อาจทำกิจที่พึงทำได้ด้วยตัวเอง” 

พูดให้เห็นภาพก็คือ เมาแล้วดูไม่ได้ หมดสภาพ

(๕) “ฐานา” แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล” หมายถึง เหตุหรือสาเหตุ คือสิ่งที่ทำให้เกิดผลอื่นๆ ตามมา

คำเดิมคือ “ฐาน” (ถา-นะ) แจกวิภัตติเปลี่ยนรูปเป็น “ฐานา” อธิบายไว้แล้วในตอนที่ ๐๑๔

…………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4126625687431137

…………………………….

สุรา-เมระยะ-มัชชะ-ปะมาทัฏ-ฐานา

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา

วิธีแปลรวม :

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน แบ่งคำเป็น ๒ กลุ่ม คือ –

(๑) สุราเมรยมชฺช คำแปลตามมติเดิมว่า ของเมา (มชฺช) คือ สุรา (สุรา) และ เมรัย (เมรย)

มติใหม่ของผู้รู้บางท่านแปลว่า สุรา (สุรา) เมรัย (เมรย) และ ของเมาอื่นๆ (มชฺช)

(๒) ปมาทฏฺฐาน แปลว่า “ที่ตั้งแห่งความประมาท

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน แปลรวมกันว่า “ของเมาคือสุราและเมรัย (สุรา เมรัย และของเมาอื่นๆ) อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

…………………

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน” เป็นศีลข้อที่ ๕ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ (ศีลข้อนี้ไม่มีในอกุศลกรรมบถ)

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน” มี ๔ คือ :

(๑) มชฺชภาโว สิ่งนั้นเป็นของเมา เช่นสุราและยาเสพติดอื่นๆ

(๒) ปาตุกมฺยตาจิตฺตํ มีเจตนาจะดื่ม/เสพ

(๓) ตชฺโช  วายาโม ปฏิบัติการดื่ม/เสพ

(๔) ตสฺส  ปานํ ของเมาเข้าสู่ร่างกาย ถ้าเป็นการดื่มก็ล่วงลำคอเข้าไป

…………………………..

พูดภาษาไทยว่า –

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคืองดเว้นสุรา เมรัย และของเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

พูดเป็นภาษาบาลีว่า –

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๒๙

—————–

ตามไปอ่านบทความทั้งหมดของนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ได้ที่ลิงก์นี้:

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *