บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๙)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๙)

————————————–

ความหมายของคำสรุปศีล

เมื่อพระท่านให้ศีลจบข้อสุดท้ายแล้ว ท่านจะว่าคำสรุปอานิสงส์ศีล คือคำบาลีที่ว่า –

…………………………..

สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ …… สีเลนะ  โภคะสัมปะทา

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ …. ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

…………………………..

เพราะเป็นคำที่พระท่านว่า เราไม่ได้ว่า เราส่วนมากก็จึงไม่ได้สนใจว่าพระท่านจะว่าอะไร แปลว่าอะไร ยิ่งถ้าจะให้เราว่าด้วยแล้ว ยิ่งหายห่วง คือว่าไม่ได้ และไม่มีใครคิดว่าทำไมจะต้องว่าได้ เพราะเป็นเรื่องของพระท่านว่า ไม่ใช่หน้าที่เราว่า

แต่เมื่อพระท่านว่าให้เราฟัง ไม่ได้ว่าให้เทวดาฟัง เพราะฉะนั้น เรียนรู้ความหมายไว้สักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียเวลาเปล่า

………………..

คำสรุปศีลนั้น ไม่ใช่คำพูดตามปกติธรรมดา แต่เป็นคำที่พูดออกมาเป็นกลอน

คำว่า “กลอน” ภาษาบาลีท่านเรียกว่า “คาถา” หรือ “ฉันท์” (คาถา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคำศักดิ์สิทธิ์ที่เสกเป่าหรือท่องบ่นแล้วเกิดอาคมขลัง เป็นคนละความหมายกัน)

กลอนหรือคาถาที่เป็นคำสรุปอานิสงส์ศีลนี้ แบ่งได้เป็น ๔ วรรค มีคำวรรคละ ๘ พยางค์ (พยางค์ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ เช่นคำว่า “นะโม” “นะ” เป็นพยางค์หนึ่ง “โม” เป็นพยางค์หนึ่ง) กลอนชนิดนี้นิยมเขียนบรรทัดละ ๒ วรรคดังที่เขียนข้างต้นโน้น แต่ถ้าจะให้เห็นชัดขึ้น ก็ต้องลองเขียนบรรทัดละ ๑ วรรค ก็จะเป็นดังนี้

…………………………..

สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ

สีเลนะ  โภคะสัมปะทา

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ

ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

…………………………..

ลองนับพยางค์ดู จะเห็นว่า แต่ละวรรคมี ๘ พยางค์ (ตัส๎มา นับเป็น ๒ พยางค์)

วรรคที่ ๑ – สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ 

แปลว่า บุคคลไปถึงสุคติภูมิได้ (ไปเกิดในที่ดีๆ) ก็เพราะศีล 

วรรคที่ ๒ – สีเลนะ  โภคะสัมปะทา 

แปลว่า  จะถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติได้ ก็เพราะศีล

วรรคที่ ๓ – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ 

แปลว่า จะถึงความดับทุกข์คือพระนิพพานได้ ก็เพราะศีล

วรรคที่ ๔ – ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย. 

แปลว่า เพราะฉะนั้น จึงควรทำศีลให้บริสุทธิ์สะอาด (คือควรรักษาศีลไว้ให้ดี) 

๓ วรรคที่ขึ้นต้นว่า “สีเลนะ …” เป็นการแสดงอานิสงส์ของศีล 

วรรคสุดท้าย เป็นคำเตือนให้ตั้งใจรักษาศีล

………………..

หาความรู้ต่อไปอีกหน่อย

เท่าที่ได้ยินมา และเห็นญาติโยมปฏิบัติกันทั่วไป พระท่านจะว่า – สีเลนะ  สุคะติง ยันติ – แล้วหยุดนิดหนึ่ง 

ญาติโยมรับว่า “สาธุ” 

พระว่าต่อ – สีเลนะ  โภคะสัมปะทา – หยุด 

ญาติโยมรับว่า “สาธุ” 

แล้วพระท่านก็จะว่า  สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย  ญาติโยมก็รับว่า “สาธุ” 

เป็นอันเสร็จการรับศีล

การให้ศีล รับศีล ตั้งแต่ – นะโม  พุทธัง  ปาณา.. จนถึง สุรา.. เป็นเรื่องที่โยมว่าตามพระ (เว้นตอนที่พระท่านว่า  ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง โยมรับว่า อามะ  ภันเต)

แต่ตอนสรุปอานิสงส์ศีลนี้ ไม่ใช่โยมว่าตามพระ แต่เป็นเรื่องที่พระกับโยมสนทนากัน คล้ายๆ ถามตอบกัน

ถ้ารู้คำแปลจะเข้าใจข้อเท็จจริงได้ชัดเจนขึ้น

ในภาษาบาลี เวลาสนทนากัน มีคำที่ผู้น้อยพูดกันติดปากเพราะใช้บ่อยที่สุดอยู่ ๓ คำ คือ –

๑ “สาธุ” แปลว่า ดีแล้ว, ถูกต้องแล้ว, ใช่แล้ว เป็นการแสดงความศรัทธาเลื่อมใส ชื่นชม หรือเห็นชอบด้วยกับถ้อยคำที่คู่สนทนาพูดมา

๒ “อามะ  ภันเต” ตรงกับคำว่า ครับผม ใช่ครับท่าน เจ้าค่ะท่าน ใช่เจ้าค่ะ มีความหมายว่า ยอมรับว่ามี ยอมรับว่าเป็นจริงตามที่ถาม หรือยอมรับรู้ตามที่พูดมา หรือรับปากว่าจะทำตามที่คู่สนทนาบอก 

จำไว้สั้นๆ ว่า “อามะ ภันเต” คือ รับรอง รับรู้ รับปาก

๓ “นัตถิ  ภันเต” ตรงกับคำว่า ไม่มีครับท่าน ไม่ใช่ครับท่าน ไม่มีเจ้าค่ะ ไม่ใช่เจ้าค่ะ มีความหมายว่า ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นตามที่พูดหรือตามที่ถาม คือเป็นคำตอบปฏิเสธ

หลายท่านที่เคยเข้าไปอยู่ในโบสถ์ตอนมีพิธีอุปสมบท คงจะพอระลึกได้ว่า มีคำที่นาคผู้บวชตอบคำถามของพระคู่สวดอยู่ ๒ คำ คือ “อามะ  ภันเต” กับ “นัตถิ  ภันเต” ก็คือคำเดียวกับ ๒ คำที่ว่ามานี้แหละ

คราวนี้ขอให้พิจารณาคำแปลของคำสรุปอานิสงส์ศีล 

ตามคำแปล จะเห็นได้ว่าวรรคที่ ๑ ถึงวรรคที่ ๓ เป็นการบอกถึงอานิสงส์ของศีล เป็นการกล่าวความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เมื่อพระท่านว่าจบแต่ละวรรค ญาติโยมจึงควรจะกล่าวตอบว่า “สาธุ” ซึ่งมีความหมายว่า เลื่อมใส ชื่นชม หรือเห็นชอบด้วย กับพระพุทธพจน์ที่พระท่านนำมากล่าว

แต่พอมาถึงวรรคที่ ๔ สุดท้าย – ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย – วรรคนี้มิได้กล่าวแสดงอานิสงส์ของศีล แต่เป็นคำที่พระท่านแนะนำ หรือเตือนสติให้ญาติโยมตั้งใจรักษาศีลกันให้ดี วรรคนี้จึงต้องรับว่า “อามะ  ภันเต” ซึ่งเป็นคำรับรองหรือรับปากว่าจะปฏิบัติตาม 

ถอดความเป็นคำสนทนาชัดๆ จะเข้าใจได้ดีขึ้น –

พระ: ศีลช่วยให้ไปสวรรค์นะโยม

โยม: ใช่แล้วครับท่าน (สาธุ)

พระ: ศีลช่วยให้รวยได้นะโยม

โยม: ใช่แล้วครับท่าน (สาธุ)

พระ: ศีลช่วยให้ไปนิพพานก็ได้นะโยม

โยม: ใช่แล้วครับท่าน (สาธุ)

พระ: แล้วโยมจะรักษาศีลกันได้ไหม?

โยมจะตอบว่าอย่างไรจึงจะถูกต้องตามที่ควรเป็น?

ถ้าตอบว่า “สาธุ” ก็คือ –

พระ: แล้วโยมจะรักษาศีลกันได้ไหม?

โยม: ใช่แล้วครับท่าน 

ถ้าตอบว่า “อามะ  ภันเต” ก็คือ –

พระ: แล้วโยมจะรักษาศีลกันได้ไหม?

โยม: ได้ครับท่าน 

ถ้าตอบว่า “นัตถิ  ภันเต” ก็คือ

พระ: แล้วโยมจะรักษาศีลกันได้ไหม?

โยม: ไม่ได้ครับท่าน

นัตถิ  ภันเต” นั้นตัดทิ้งไปเลย เพราะถ้ารักษาไม่ได้เราจะมาขอศีลรับศีลกันทำไม

ถ้าตอบว่า “สาธุ” ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กับสำนวนไทยที่ว่า – 

ไปไหนมา” 

สามวาสองศอก” 

ดังนั้น พระสงฆ์ที่ท่านรู้หลักเหตุผลในเรื่องนี้ ท่านจะว่าหยุดเป็นวรรคๆ ครบทั้ง ๔ วรรค เป็นการเปิดโอกาสให้ญาติโยมกล่าวคำรับได้ทุกวรรค คือ รับ “สาธุ” ๓ ครั้ง รับ “อามะ ภันเต” ๑ ครั้ง 

๓ วรรคข้างต้น รับว่า “สาธุ” วรรคสุดท้ายรับว่า “อามะ ภันเต

การปฏิบัติในตอนสรุปอานิสงส์ศีลที่ถูกต้อง จึงควรเป็นดังนี้ 

พระสงฆ์ว่า

สีเลนะ สุคะติง ยันติ (หยุด) 

ญาติโยมรับพร้อมกันว่าสาธุ” 

สีเลนะ  โภคะสัมปะทา (หยุด) 

ญาติโยมรับพร้อมกันว่าสาธุ” 

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ (หยุด) 

ญาติโยมรับพร้อมกันว่าสาธุ” 

ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย. (จบ)

ญาติโยมรับพร้อมกันว่าอามะ  ภันเต” 

ความเป็นจริงที่ปฏิบัติกันอยู่ส่วนมากก็คือ เมื่อถึงบท – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ – พระท่านไม่หยุดให้โยมรับว่า “สาธุ” แต่ท่านจะว่าติดกันไปเลยว่า – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย – ญาติโยมก็เลยต้องไปรับว่า “สาธุ” เอาตอนจบทีเดียว ไม่ได้รับว่า “อามะ  ภันเต” ตรงวรรคที่ว่า – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ 

เคยได้ยินบางแห่ง จบแล้วรับว่า “สาธุ  อามะ  ภันเต” คือเอาสองคำมารวมรับไปทีเดียว วิธีนี้ก็พอแก้ขัดไปได้ แต่ไม่สวย สู้แบ่งวรรคให้ชัดเจนไปเลยไม่ได้

จึงขอถวายความเห็นต่อพระคุณเจ้าทั้งปวงว่า เมื่อว่าคำสรุปศีลถึง – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ – ขอได้โปรดหยุดตรงวรรคนี้ด้วย เพื่อให้ญาติโยมรับว่า “สาธุ” แล้วจึงต่อด้วย – ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

และขอเสนอต่อญาติโยมทั้งหลายว่า เมื่อพระทานหยุดตรง – สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ – ก็ขอให้รับพร้อมกันว่า “สาธุ” และเมื่อท่านจบตรงคำว่า – ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย – ก็ขอให้รับพร้อมกันว่า “อามะ  ภันเต” (ไม่ใช่ สาธุ)

เหตุผลมีเป็นประการใด โปรดย้อนไปอ่านมาแต่ข้างต้นอีกทีก็แล้วกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๖:๐๖

—————–

ตามไปอ่านบทความทั้งหมดของนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ได้ที่ลิงก์นี้:

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *