บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๐)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๐)

————————————–

อะภิวาทะนะสี… ไม่ใช่คำให้พร

เวลาไปทำบุญหรือไปงานที่นิมนต์พระมาสวดมนต์ ตอนท้ายของพิธีจะเป็นการอนุโมทนาที่เราคุ้นกันดี คือเรียกกันว่า ยะถา-สัพพี ท่อนท้ายของสัพพีจะเป็นบทที่ขึ้นต้นว่า อะภิวาทะนะสี… แล้วก็ลงท้ายว่า อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง

เวลานี้ พระที่ยืนให้พรข้างถนนเมื่อมีคนใส่บาตรก็นิยมใช้บท อะภิวาทะนะสี… เป็นบทให้พรกันทั่วไป

เราท่านทั้งหลายก็พากันเข้าใจทั่วไปหมดว่า อะภิวาทะนะสี… เป็นคำให้พร

ศึกษาเรียนรู้คำแปลกันสักหน่อยก็จะเข้าใจได้ว่า อะภิวาทะนะสี… เป็นบทแสดงธรรม ไม่ใช่คำให้พร

ดูบทเต็มๆ กันก่อน

เขียนแบบบาลี –

…………………………..

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ  วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร  ธมฺมา  วฑฺฒนฺติ

อายุ  วณฺโณ  สุขํ  พลํ.

…………………………..

เขียนแบบคำอ่าน –

…………………………..

อะภิวาทะนะสีลิสสะ

นิจจัง  วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร  ธัมมา  วัฑฒันติ

อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง.

…………………………..

ที่มา: สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๘

…………..

เป็นอันว่าคำที่เราเรียกกันว่าบทให้พรนี้เป็นพระพุทธพจน์ คือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า มีมาในพระไตรปิฎก และท่านอธิบายความหมายไว้ในคัมภีร์อรรถกถา คือคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ เรื่องอายุวัฒนกุมาร 

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นแบบเรียนที่ภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีจะต้องเรียนและต้องสอบผ่านจึงจะมีสิทธิ์เป็น “มหา”

ศึกษาคำบาลีเป็นคำๆ กันก่อน

(๑) “อภิวาทนสีลิสฺส” (อะภิวาทะนะสีลิสสะ) 

คำเดิมคือ “อภิวาทนสีลี” แปลว่า “ผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ” หมายถึง มีอุปนิสัยเคารพนับถือผู้อื่น 

อภิวาทนสีลี” เอาไปแจกวิภัตติ (บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) เปลี่ยนรูปเป็น “อภิวาทนสีลิสฺส” แปลว่า “แก่ผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ” (เพิ่มคำว่า “แก่” ในคำแปล)

(๒) “นิจฺจํ” (นิจจัง) แปลทับศัพท์ว่า “เป็นนิตย์” (บาลี: นิจฺจ สันสกฤต: นิตฺย)

(๓) “วุฑฺฒาปจายิโน” (วุฑฒาปะจายิโน)

คำเดิมคือ “วุฑฺฒาปจายี” แปลว่า “ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นปกติ” หรือ “ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ 

วุฑฺฒาปจายี” แจกวิภัตติ เปลี่ยนรูปเป็น “วุฑฺฒาปจายิโน” 

นิจฺจํ  วุฑฺฒาปจายิโน” แปลว่า “แก่ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ 

(๔) “จตฺตาโร  ธมฺมา” (จัตตาโร  ธัมมา) 

ธมฺมา = อันว่าธรรมทั้งหลาย 

จตฺตาโร = สี่ประการ 

จตฺตาโร  ธมฺมา = ธรรมทั้งหลายสี่ประการ หมายถึง ผลที่พึงปรารถนา ๔ อย่าง

(๕) “วฑฺฒนฺติ” (วัฑฒันติ) 

เป็นคำกริยา แปลว่า “ย่อมเจริญ” (กำลังเจริญอยู่ และเจริญอยู่เสมอๆ)

ผลที่พึงปรารถนา ๔ ประการมีอะไรบ้าง ท่านก็ขยายความไว้ในวรรคสุดท้าย คือ “อายุ  วณฺโณ  สุขํ  พลํ.” (อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง) 

อายุ = มีอายุยืนนาน

วณฺโณ = มีผิวพรรณผ่องใส (หรือมีเกียรติยศชื่อเสียง)

สุขํ = มีความสุขสบายใจ

พลํ = มีพลานามัยดี สุขภาพแข็งแรง

…………..

แปลสั้นๆ เท่าตัว –

ธรรมสี่ประการ 

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

…………..

ทำไมจึงบอกว่า อะภิวาทะนะสี… เป็นบทแสดงธรรม ไม่ใช่คำให้พร?

เหตุผลอยู่ที่คำว่า “วฑฺฒนฺติ” (วัฑฒันติ) ซึ่งแปลว่า “ย่อมเจริญ

ถ้าเป็นคำให้พร คำนี้จะต้องเป็น “วฑฺฒนฺตุ” (วัฑฒันตุ) ซึ่งแปลว่า “จงเจริญ

คำให้พรที่เราคงจะคุ้นกันดี คือ ทีฆายุโก โหตุ … 

ไม่ใช่ ทีฆายุโก โหติ … 

ทีฆายุโก โหตุ … แปลว่า จงมีอายุยืนนาน … เป็นการแสดงเจตนาให้พร เพราะใช้คำว่า “โหตุ” แปลว่า “จงเป็น

ถ้าเป็น … ทีฆายุโก โหติ … แปลว่า ย่อมมีอายุยืนนาน … ก็จะเป็นคำพูดกลางๆ ไม่ได้แสดงเจตนาให้พร

อีกคำหนึ่ง – ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง … ท่อนจบของบทอนุโมทนาที่เราคุ้นกันดี แปลว่า “ขอสรรพมงคลจงมี …” อย่างนี้คือคำให้พร ใช้คำว่า “ภะวะตุ = จงมี

…………..

ทีนี้มาดู “ย่อมเจริญ” กับ “จงเจริญ” มีนัยต่างกันอย่างไร

ย่อมเจริญ” คือบอกหลักความจริง ว่าถ้าใครทำอย่างนี้ (มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์) ก็จะเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นการแสดงธรรม คือแสดงความจริงเป็นกลางๆ ว่าใครทำอย่างไรก็ย่อมได้อย่างนั้น

จงเจริญ” เป็นการบังคับเจาะจงให้เป็นไปตามเจตนา ซึ่งในข้อความนี้ถ้าเป็น “วฑฺฒนฺตุ = จงเจริญ” ข้อความก็จะเป็นว่า –

…………………………..

บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

จงเจริญด้วยธรรมสี่ประการ 

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

…………………………..

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะผิดความจริง

ผิดความจริงอย่างไร?

ความจริงก็คือ ใครมีปกติไหว้กราบอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ เขาก็ย่อมจะเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครไปให้พรว่าขอให้ได้อย่างนั้น เขาก็ได้ของเขาอยู่แล้ว

อุปมาเหมือนข้าราชการปฏิบัติราชการเป็นปกติ สิ้นเดือนก็ย่อมได้รับเงินเดือนตามปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครไปให้พรว่า “ขอจงได้รับเงินเดือนเถิด” 

คำว่า “บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์” จึงเป็นการแสดงเหตุ 

และคำว่า “ธรรมสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญ” จึงเป็นการแสดงผล

“อะภิวาทะนะสีลิสสะ …  อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” เป็นการแสดงข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นความจริงที่เป็นกลางๆ จึงนับว่าเป็นการแสดงธรรม ไม่ใช่แสดงเจตนาจะให้พรแก่ใคร

พระท่านแสดงธรรมให้เราฟังว่า ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะได้ผลอย่างนี้ๆ คือท่านแสดงหลักธรรมอย่างหนึ่งเพื่อให้เราเอาไปปฏิบัติ

แต่คนทั้งหลายไปจับเอาคำว่า “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” มาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำให้พร

สนใจเฉพาะ “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” ซึ่งเป็นผล

แต่หลักปฏิบัติที่เป็นเหตุ คือ “มีปกติไหว้กราบอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์” เราไม่ได้สนใจ 

เมื่อก่อนนี้คงจะอ้างได้ว่า – ก็เพราะฟังไม่รู้เรื่อง

ตอนนี้รู้เรื่องแล้ว 

คิดจะสนใจเอาไปปฏิบัติกันมั่งไหม?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๓๔

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *