บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๑)

————————————–

ตอบคำถาม: อะภิวาทะนะสี… ไม่ใช่คำให้พร

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๙)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4135303146563391

…………………………….

ในตอนที่แล้ว – “อะภิวาทะนะสี… ไม่ใช่คำให้พร” มีผู้แสดงความสงสัยบางประการ ขอนำมาแถลงไขเพื่อความเข้าใจอันดีไว้ ณ ที่นี้

……………………………………….

หากเป็นการแสดงธรรม ผู้แสดงจะไม่ผิดเสขิยวัตรหรือ

……………………………………….

สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นมาก่อน ควรทราบว่า ศีลของพระเฉพาะส่วนที่มาในพระปาติโมกข์มี ๒๒๗ สิกขาบท (คือที่เรารู้กันว่าพระมีศีล ๒๒๗ ข้อ สามเณรมี ๑๐ ข้อ ฯลฯ)

“เสขิยวัตร” เป็นส่วนหนึ่งในจำนวน ๒๒๗ นั้น

เสขิยวัตรมีทั้งหมด ๗๕ สิกขาบท แบ่งตามเนื้อหาเป็น ๔ หมวด 

หมวด ๑ ว่าด้วยระเบียบการนุ่งห่มและกิริยามารยาททั่วไป เรียกว่า “สารูป” มี ๒๖ สิกขาบท

หมวด ๒ ว่าด้วยมารยาทในการขบฉัน เรียกว่า “โภชนปฏิสังยุต” มี ๓๐ สิกขาบท

หมวด ๓ ว่าด้วยระเบียบการแสดงธรรม เรียกว่า “ธัมมเทสนาปฏิสังยุต” มี ๑๖ สิกขาบท

หมวด ๔ ว่าด้วยมารยาทในการขับถ่าย แต่เรียกชื่อหมวดว่า “ปกิณกะ” แปลว่าเรื่องเบ็ดเตล็ด มี ๓ สิกขาบท

ในหมวดที่ว่าด้วยระเบียบการแสดงธรรม มีสิกขาบทหนึ่งบัญญัติไว้ว่า ภิกษุยืนอยู่ ห้ามแสดงธรรมแก่คนที่นั่ง (พระยืน คนฟังนั่ง)

ที่ยกเสขิยวัตรมาอ้างก็คืออ้างสิกขาบทนี้ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงว่า พระยืนรับบิณฑบาต คนใส่บาตรใส่เสร็จแล้วก็จะนั่งลงรับพร

ถ้าการให้พร (อะภิวาทะนะสี…) เป็นการแสดงธรรม พระยืน คนฟังนั่ง ก็ผิดสิกขาบทที่ว่านี้ 

ประเด็นที่เอาไปถกเถียงกันเรื่องพระให้พรตอนใส่บาตรก็คือ ฝ่ายไม่เห็นด้วยบอกว่า ตามแบบแผน พระฉันเสร็จแล้วจึงให้พร พระให้พรข้างถนนแบบนั้นจึงผิด

ฝ่ายเห็นด้วยบอกว่า ไม่ผิด เพราะไม่ใช่ให้พร แต่เป็นการแสดงธรรม

ฝ่ายไม่เห็นด้วยจึงแย้งกลับว่า พระยืนแสดงธรรม คนฟังนั่ง ก็ผิดเสขิยวัตร

เรื่องก็มาค้างคาอยู่ตรงนี้

…………..

เรื่องนี้ถ้ายึดถือแบบแผนเดิมก็จะไม่มีปัญหา

ภิกษุไปบิณฑบาตก็คือไปขออาหารจากชาวบ้าน แต่ขอด้วยวิธีของพระอริยะ คือยืนยิ่ง ไม่เอ่ยปากขอ จึงเกิดเป็นแบบแผนในพระพุทธศาสนาคือภิกษุออกบิณฑบาตไม่พูดไม่คุยกับใคร ไม่เอ่ยปากอะไรกับทายก

ชั้นเดิม เมื่อโยมนิมนต์ไปฉัน พระฉันเสร็จแล้วก็ลุกไปเฉยๆ ต่อมาชาวบ้านติงว่า นักบวชอื่นๆ ให้พรเมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ทำไมภิกษุจึงไม่ให้พร จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุ “กระทำอนุโมทนา” เมื่อฉันเสร็จ

“กระทำอนุโมทนา” ตามแบบแผนของภิกษุคือแสดงธรรมเป็นหลัก ให้พรเป็นส่วนประกอบ น้ำหนักของพรนั้นอยู่ที่การแสดงธรรมเป็นการให้กำลังใจให้ทายกทำ “เหตุ” เพื่อให้เกิดพรอันเป็น “ผล” ไม่ใช่ให้พรลอยๆ อย่างที่นิยมให้กันในเวลานี้ เช่น “ขอให้รวย ขอให้รวย” แต่ไม่ได้บอกว่าทำอย่างไรจึงจะรวย คือขอผล แต่ไม่สอนวิธีทำเหตุ ไปๆ มาๆ กำลังจะกลายเป็นขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล อันเป็นวิธีที่ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

…………..

ขออนุญาตเล่าประกอบว่า เมื่อผมบวชเณร พระอาจารย์ที่ปกครองผมท่านสอนตั้งแต่วันแรกว่า 

๑ ระหว่างเดินไปบิณฑบาตให้ภาวนาว่า “นามะรูปัง อะนิจจัง นามะรูปัง ทุกขัง นามะรูปัง อะนัตตา” ให้ภาวนาอย่างนี้ตลอดทางตั้งแต่ออกจากวัดจนกลับถึงวัด

๒ อย่าพูดอะไรกับญาติโยมที่ใส่บาตร เว้นไว้แต่เรื่องจำเป็น เช่นโยมถาม ก็ให้ตอบเท่าที่จำเป็น

…………..

ที่เป็นแบบแผนทั่วไปก็คือ พระไปบิณฑบาต กลับถึงวัด ฉันเสร็จแล้วจึง “กระทำอนุโมทนา” ที่เราเรียกกันไปตามความเข้าใจเอาเองว่า “ให้พร” แต่ถ้าศึกษาคำอนุโมทนาก็จะเห็นว่าเป็นการกล่าวหลักธรรมอันใดอันหนึ่งก่อนที่จะตั้งความปรารถนาดีต่อทายก

จึงเป็นแบบแผนหรือเป็นหลักที่ปฏิบัติกันมาทั่วสังฆมณฑลว่า กลับถึงวัด ฉันแล้วจึงให้พร คือกระทำอนุโมทนาตามเนื้อหาที่ว่ามานั้น

การยืนให้พรกันข้างถนนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เข้าใจว่ามีเหตุมาจาก-จะเอาใจโยม

ฝ่ายโยมก็เกิดชอบใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ก็เลยขอให้พระให้พรกันตรงที่ใส่บาตรนั่นเอง น้ำหนักของการให้พรก็ชักจะเอียงไปในทางขอให้เกิดผลจากการดลบันดาลมากกว่าเกิดผลจากการประพฤติดีปฏิบัติชอบเข้าไปทุกที

เป็นความต้องการและมุ่งจะสนองความต้องการโดยไม่ได้ศึกษาแบบแผนเดิม และไม่ได้ยืนหยัดอยู่ในหลักการเดิม และถ้ายังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ความผิดเพี้ยน-ไม่ใช่เฉพาะให้พรข้างถนนเรื่องเดียว-แม้ในเรื่องอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

ทางแก้ก็คือ ขอให้ช่วยกันศึกษา-อย่างที่กำลังศึกษากันอยู่นี้

……………………………………….

พระควรใช้บทไหนเมื่อรับบาตรแล้ว

……………………………………….

เมื่อรู้หลักหรือแบบแผนเดิมแล้ว ถอยไปตั้งหลักที่เดิม คือไม่ต้องขอพรไม่ต้องให้พรกันตรงที่ใส่บาตร กลับถึงวัดฉันเสร็จแล้วจึงอนุโมทนา ดังที่พระไทยปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ก็ไม่ต้องมีปัญหาว่าจะใช้บทไหน เพราะบทไหนๆ ก็ไม่ต้องใช้อยู่แล้ว 

ส่วนการอนุโมทนาเมื่อฉันเสร็จแล้ว ใช้บทไหนก็มีแบบแผนชัดเจนอยู่แล้ว

สั้นๆ-ไม่ต้องขอพร ไม่ต้องให้พรกันตรงนั้น ก็ไม่ต้องใช้บทไหนเลย

สำหรับญาติโยมที่ใส่บาตร ก็ขอให้ทำความเข้าใจกันใหม่ว่า บุญที่เกิดจากการใส่บาตรไม่ได้อยู่ที่พระต้องให้พรกันตรงนั้นทันที จึงไม่จำเป็นจะต้องได้พรกันทันทีตรงนั้น 

แม้พระจะไม่ให้พร เราก็ได้บุญจากทานมัยกุศลเรียบร้อยแล้วทันทีที่ทำเสร็จ

และแม้พระจะไม่ให้พร เราก็สามารถอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับแล้วได้อย่างสมบูรณ์

อาจยากหน่อยที่จะคิดเช่นนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มฝึกคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เราจะหลงทางจนกลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๓๐

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *