เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๔)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๔)
————————————–
ยะถา+สัพพี (ต่อ)
เมื่อจบบท “ยะถา” พระรูปที่ ๒ จะรับว่า “สัพพี …” แล้วพระสงฆ์ทั้งหมดจะสวดพร้อมกันต่อไป
คำเต็มๆ ของบท “สัพพี” มีดังนี้ –
เขียนแบบบาลี:
…………………………..
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ
สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย
สุขี ทีฆายุโก ภว.
…………………………..
เขียนแบบคำอ่าน:
…………………………..
สัพพีติโย วิวัชชันตุ
สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัต๎วันตะราโย
สุขี ทีฆายุโก ภะวะ.
…………………………..
แปลเป็นคำๆ:
สพฺพีติโย = อันว่าความจัญไรทั้งปวง
(สพฺพ = ทั้งปวง + อีติ = ความจัญไร = สพฺพีติ แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหูพจน์ = สพฺพีติโย)
วิวชฺชนฺตุ = จงบำราศไป
สพฺพโรโค = อันว่าโรคทั้งปวง
(เต = ของท่าน)
วินสฺสตุ = จงหายไป
อนฺตราโย = อันว่าอันตราย
มา ภวตุ = จงอย่ามี
เต = แก่ท่าน
(ตฺวํ = อันว่าท่าน)
สุขี = เป็นผู้มีความสุข
ทีฆายุโก = เป็นผู้มีอายุยืนนาน
ภว = จงเป็น
…………..
แทรกความรู้เกี่ยวกับรูปศัพท์:
คำว่า “ภวตฺวนฺตราโย” (ภะวัต๎วันตะราโย) แยกศัพท์เป็น ภวตุ + อนฺตราโย
–ตุ + อนฺ– = –ตฺวนฺ– (ต๎วัน) ต กับ ว ออกเสียงควบกัน แบบเดียวกับ คว ในคำว่า “ควาย” (ไม่ใช่ คะ-วาย และไม่ใช่ คาย หรือ ฟาย)
ลองอ่าน “ตุอัน” เร็วๆ จะได้เสียงเป็น ตวน
เพราะฉะนั้น –ตฺวนฺ– (ต๎วัน) ออกเสียงตรงๆ เป็น ตวน ก็ได้
“ภวตฺวนฺตราโย” จึงอ่านว่า พะ-วัด-ตวน-ตะ-รา-โย
เหตุที่ต้องประสมศัพท์กันเช่นนี้ (บาลีไวยากรณ์เรียก “สนธิ”) ก็เพื่อลดจำนวนพยางค์
เรื่องชักยาว กัดฟันอ่านหน่อย เพื่อความรู้
กล่าวคือ บท “สัพพี” ท่านแต่งเป็นคำกลอน ภาษาบาลีเรียก “คาถา” หรือ “ฉันท์” กลอนชนิดนี้มีวรรคละ ๘ คำหรือ ๘ พยางค์
สพฺ–พี–ติ–โย – วิ–วชฺ–ชนฺ–ตุ ลองนับดู จะได้ ๘ พยางค์ วรรคอื่นก็เช่นกัน
ครั้นมาถึงวรรค “มา เต ภวตฺวนฺตราโย” ถ้าเขียนตามปกติก็ควรจะเป็น “มา เต ภวตุ อนฺตราโย” (ดูเทียบกับที่แปลเป็นคำๆ ข้างต้น)
มา – เต – ภ-ว-ตุ อนฺ-ต-รา-โย ลองนับดู จะเป็น ๙ พยางค์ เกินจากที่กำหนด ผิดกติกาของกลอนชนิดนี้
ท่านจึงต้องใช้วิธี “ยุบพยางค์” คือเอา “ตุ” ที่ “ภวตุ” กับ “อัน”ที่ “อนฺตราโย” มารวมกันเป็น “ตวน” (ไม่เชื่อลองอ่าน “ตุอัน” เร็วๆ ดู)
“มา เต ภวตฺวนฺตราโย”
อ่านว่า มา – เต – ภะ-วัด-ตวน-ตะ-รา-โย
คราวนี้นับดูใหม่ จะเหลือ ๘ พยางค์ ตรงตามกติกา
นี่คืออัจฉริยะเล็กๆ ของบาลี!
…………..
แปลรวม:
…………………………..
ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป
โรคทั้งปวง (ของท่าน) จงหาย
อันตรายอย่ามีแก่ท่าน
ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน
…………………………..
ข้อควรทราบ:
บท “สัพพี…” ๔ วรรค (หนึ่งคาถา) นี้ ถ้าสวดในงานที่เป็นพิธีการ นิยมสวดซ้ำ ๓ เที่ยว คือพอถึง “… ทีฆายุโก ภะวะ” ก็ย้อนกลับไปที่ “สัพพีติโย …” อีก จนครบ ๓ รอบ
พอจบรอบที่ ๓ ถึง “… ทีฆายุโก ภะวะ” ก็จะต่อด้วย “อะภิวาทะนะสีลิสสะ …” (อธิบายแล้วในตอนที่ ๐๒๐) โดยไม่หยุด คือสวดติดต่อกันไปเลย
แต่ถ้าเป็นการสวดตามปกติ คือไม่ใช่สวดในงาน หรือเป็นงานแบบลำลอง หรืองานที่ต้องเร่งรัด ก็จะสวดเที่ยวเดียว พอถึง “… ทีฆายุโก ภะวะ” เที่ยวแรกก็ต่อด้วย “อะภิวาทะนะสีลิสสะ …” ไปเลย
ถ้าไม่รู้ทีกันหรือเข้าใจไม่ตรงกัน มักจะเกิด “เตะ” กันตรงนี้ได้บ่อยๆ คือพระบางรูป “… ทีฆายุโก ภะวะ” แล้วจะย้อนไปที่ “สัพพีติโย …” อีก เพราะคิดว่าเป็น “สัพพี ๓ เที่ยว” บางรูปจะ .. “อะภิวาทะนะสีลิสสะ …” ไปเลย เพราะคิดว่าเป็น “สัพพีเที่ยวเดียว” ทำให้กึกกักกันนิดหน่อย แต่เสียงข้างไหนดังกว่า หรือท่านประธานสงฆ์เสียงแข็งกว่า ก็จะโอนไปตามนั้น
…………..
แถมอีกหน่อยหนึ่ง
มีคำพูดกันมาเก่าว่า “ยะถาให้ผี สัพพีให้คน” ใครเคยได้ยินบ้าง หมายความว่าอย่างไร?
ตามความหมายในบท “ยะถา” (อธิบายแล้วในตอน ๐๒๒) จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จึงมีคำกล่าวว่า “ยถาให้ผี”
ผู้ที่อุทิศส่วนบุญ ถ้ามีการกรวดน้ำ ก็ต้องเริ่มกรวดคือรินน้ำออกจากเต้ากรวดน้ำตั้งแต่พระเริ่มว่าบท “ยะถา”
ตามความหมายในบท “สัพพี” จะเห็นได้ว่าเป็นการอำนวยพรให้แก่เจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมในพิธี จึงมีคำกล่าวว่า “สัพพีให้คน”
เพราะฉะนั้น จึงต้องกรวดน้ำให้เสร็จเมื่อพระว่าบท “ยะถา” จบ นั่นคือเมื่อพระขึ้นบท “สัพพี” ก็วางเต้ากรวดน้ำและประนมมือรับพร ถ้า “สัพพี” แล้วยังกรวดน้ำเรื่อยไป ก็เท่ากับพระอำนวยพรแล้ว แต่ยังไม่รับนั่นเอง
เวลาฟังพระสงฆ์อนุโมทนา ยะถา–สัพพี ควรรู้ความหมายและรู้วิธีปฏิบัติในการกรวดน้ำ-รับพร แล้วตั้งจิตเจตนาให้ถูกต้องและปฏิบัติให้ถูกวิธี ดังนี้ ก็จะได้ชื่อว่าฉลาดในการทำบุญ คือได้ทั้งบุญคือความดี และได้ทั้งกุศลคือความฉลาด ซึ่งย่อมจะดีกว่าทำไป-หรือทำตามๆ กันไป-โดยไม่รู้ความหมาย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๗:๒๘
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๕)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๓)