เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๖)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๖)
————————————–
กรวดน้ำย่อ
เมื่อบำเพ็ญบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว ชาวเราย่อมนิยมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติ คำกรวดน้ำเป็นภาษาบาลี มีทั้งแบบยาวและแบบย่อ
คำกรวดน้ำย่อที่นิยมใช้กัน ว่าดังนี้ –
เขียนแบบบาลี:
…………………………..
อิทํ เม ญาตินํ โหตุ
สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.
…………………………..
เขียนแบบคำอ่าน:
…………………………..
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย.
…………………………..
แปลเป็นคำๆ:
อิทํ = (ปุญฺญผลํ) อันว่า (ผลบุญ) นี้
โหตุ = จงมี
ญาตินํ = แก่ญาติทั้งหลาย
เม = ของข้าพเจ้า
ญาตโย = อันว่าญาติทั้งหลาย
สุขิตา = เป็นผู้มีความสุข
โหนฺตุ = จงเป็น
แปลรวม:
…………………………..
ขอผลบุญนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
…………………………..
บางตำราว่า “อิทํ เม” นั้น ถ้ากรวดน้ำหลายคนให้เปลี่ยนเป็น “อิทํ โน”
“เม” กับ “โน” ต่างกันอย่างไร?
“เม” แปลว่า “ของข้าพเจ้า” = ข้าพเจ้าคนเดียว
“โน” แปลว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” = ข้าพเจ้าหลายคน
“เม” กับ “โน” รากศัพท์เดียวกัน คือ “อมฺห” (อำ-หะ หรือ อำ-หมะ) ลงวิภัตติปัจจัยตามหลักบาลีไวยากรณ์แล้วเปลี่ยนรูปต่างกัน (อย่าลืม: บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย)
ต้องการให้แปลว่า “ของข้าพเจ้า”
“อมฺห” เปลี่ยนรูปเป็น “เม”
ต้องการให้แปลว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”
“อมฺห” เปลี่ยนรูปเป็น “โน”
“อมฺห” เหมือน I
“เม” เหมือน my
“โน” เหมือน our
ในคำกรวดน้ำย่อนี้ คำที่มักสับสนก็คือ “โหตุ” กับ “โหนฺตุ”
วิธีแก้ก็คือ จับหลักไว้ว่า –
“โหตุ” = โห+ตุ เป็นคำกริยาเอกพจน์ (เอกวจนะ)
“โหนฺตุ” = โห+อนฺตุ (เวลาประสมคำ อ- ไม่ปรากฏ) เป็นคำกริยาพหูพจน์ (พหุวจนะ)
อิทํ เม ญาตินํ โหตุ
“อิทํ” (เติม “ปุญฺญผลํ” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “โยค”) เป็นประธานในประโยค เป็นเอกพจน์ กริยาจึงต้องเป็นเอกพจน์เช่นเดียวกัน คือ “โหตุ”
สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย.
“ญาตโย” (ญาติทั้งหลาย) เป็นประธานในประโยค เป็นพหูพจน์ กริยาจึงต้องเป็นพหูพจน์เช่นเดียวกัน คือ “โหนฺตุ”
หรือจะใช้วิธีจำแบบทหารเกณฑ์ก็ได้ —
โห แรก โห-
โห สอง โหน-
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๔:๑๒
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๗)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๕)