บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๓)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๓)

————————————–

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.

เขียนแบบบาลี:

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ.

ที่คุ้นกันมากและ “ว่า” กันบ่อยก็คือตอนรับศีล พอพระท่านว่า นะโม ตัสสะ … ๓ จบแล้ว ก็จะต่อด้วย – พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. เป็นประโยคสมบูรณ์ คือมีประธาน กริยา กรรม ครบทั้ง ๓ ส่วน

คจฺฉามิ เป็นกริยา คำว่า “กริยา” เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์ไทย แต่ในหมู่นักเรียนบาลีนิยมใช้ว่า “กิริยา”

……………..

แวะตรงนี้นิดหนึ่ง

“กิริยา” เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์คือคำที่ทำหน้าที่เป็นตัวแสดงอาการในประโยคด้วย เป็นคำที่ไม่เกี่ยวกับไวยากรณ์ หมายถึงกิริยาอาการทั่วไปด้วย

ส่วน “กริยา” ในภาษาไทยเป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์อย่างเดียว ไม่ใช่คำที่หมายถึงกิริยาอาการทั่วไป 

เช่นจะใช้ว่า –

เขามีกริยามารยาทเรียบร้อย – อย่างนี้ไม่ได้ 

ต้องใช้ว่า เขามีกิริยามารยาทเรียบร้อย

ปฏิกริยา – อย่างนี้ไม่ได้

ต้องใช้ว่า ปฏิกิริยา 

……………..

คจฺฉามิ เป็นคำกริยา (หรือกิริยา) และเป็นตัวบ่งบอกถึง “ประธาน” ในประโยคด้วย ทั้งนี้เพราะ –มิ ที่ คจฺฉามิ เป็นคำบังคับให้ต้องขึ้น “อหํ” (อะหัง) เป็นประธานแม้จะไม่มีคำว่า “อหํ” ปรากฏอยู่ก็ตาม

สูตรง่ายๆ:

……………..

คำกริยาลงท้าย –มิ ประธานต้องเป็น “อหํ” (I) (เอกพจน์)

คำกริยาลงท้าย –มะ ประธานต้องเป็น “มยํ” (We) (พหูพจน์)

……………..

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. แปลทีละศัพท์ ดังนี้ – 

อหํ อันว่าข้าพเจ้า (คงจำได้ที่บอกไว้ในตอนก่อน – ประธานในประโยค เวลาแปลโดยพยัญชนะนิยมเหน็บคำว่า “อันว่า” เข้าไปด้วย) 

คจฺฉามิ ย่อมถึง

พุทฺธํ ซึ่งพระพุทธเจ้า

สรณํ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

……………..

ได้ความเฉพาะคำแปลว่า –

ข้าพเจ้า ย่อมถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

แปลรวมความว่า –

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง

……………..

หลักภาษาแบบง่ายๆ:

คำกริยาในภาษาบาลีมี ๒ ประเภท คือ กิริยาอาขยาต (-อา-ขะ-หฺยาด -ขะ- ออกเสียงครึ่งเสียง) และ กิริยากิตก์ (-กิด)

คจฺฉามิ เป็นกิริยาอาขยาต แปลว่า “ย่อมไป” ก็ได้ “ย่อมถึง” ก็ได้ 

พุทฺธํ (ซึ่งพระพุทธเจ้า) รูปคำเดิม ( = ศัพท์เดิม) เป็น พุทฺธ อ่านว่า พุด-ทะ แปลว่า “พระพุทธเจ้า” 

พุทฺธ” ผ่านกระบวนการลงวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺธํ” อ่านว่า พุด-ทัง แปลว่า “ซึ่งพระพุทธเจ้า

โปรดสังเกต มีคำว่า “ซึ่ง” เหน็บเข้ามาด้วย ไม่ใช่ “พระพุทธเจ้า” เฉยๆ

พุทฺธ” เปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺธํ” ทำหน้าที่เป็น “กรรม” ในประโยค

“กรรม” ในทางไวยากรณ์หมายถึง “สิ่งที่ถูกกระทำ” ในที่นี้คือ “ถูกถึง”

พุทฺธ” ถ้าเปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺโธ” ที่เราคุ้นตากันดี ก็จะทำหน้าที่เป็น “ประธาน” ในประโยค ต้องแปลว่า “อันว่าพระพุทธเจ้า” ไม่ใช่ “ซึ่งพระพุทธเจ้า

ในที่นี้เป็น “พุทฺธํ” ไม่ใช่ “พุทฺโธ” 

จึงต้องแปลว่า “ซึ่งพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่ “อันว่าพระพุทธเจ้า

ต้องการให้แปลว่า “อันว่า-” ก็ลงวิภัตติปัจจัยตัวหนึ่ง

ต้องการให้แปลว่า “ซึ่ง-” ก็ลงวิภัตติปัจจัยอีกตัวหนึ่ง

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” – นี่คือหลักของกระบวนการลงวิภัตติปัจจัย ทำให้คำนามเปลี่ยนรูปและเปลี่ยนคำแปลไปตามที่ต้องการ 

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ. – ยังไม่จบ

พักครึ่งเวลาก่อน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔

๐๙:๕๗

……………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *