บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๐)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๐)

————————————–

กรวดน้ำอิมินาแปล (๔)

ตอนนี้เป็นอิมินาท่อน ๒ หรือท่อนหลัง

(๔) อิมินา ปุญฺญกมฺเมน

อิมินา อุทฺทิเสน จ 

ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว

ตณฺหุปาทานเฉทนํ. 

ด้วยบุญนี้ที่เราทำ

แลอุทิศให้ปวงสัตว์

เราพลันได้ซึ่งการตัด

ตัวตัณหาอุปาทาน

…………..

“ด้วยบุญนี้ที่เราทำ” แปลจากคำว่า “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” 

“แลอุทิศให้ปวงสัตว์” แปลจากคำว่า “อิมินา อุทฺทิเสน จ” 

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน = ด้วยการทำบุญนี้ด้วย

อิมินา อุทฺทิเสน = ด้วยการอุทิศส่วนบุญนี้ด้วย

ในตัวบทมี “” ตัวเดียว แต่เวลาแปลยกศัพท์หรือ “แปลโดยพยัญชนะ” จะต้องใส่ “” ควบที่ “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” ด้วย

“เราพลันได้ซึ่งการตัด” แปลจากคำว่า “ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว” 

“ตัวตัณหาอุปาทาน” แปลจากคำว่า “ตณฺหุปาทานเฉทนํ” (คำว่า “เฉทนํ” แปลว่า “การตัด” แปลไปแล้วในวรรคก่อน)

แปลเป็นคำๆ:

เจว = อนึ่งแล (อันนี้แปลตามมติของผมเอง)

อหํ = อันว่าข้าพเจ้า (ขิปฺปาหํ: ขิปฺปํ + อหํ)

สุลเภ = พึงได้ด้วยดี

ตณฺหุปาทานเฉทนํ = ซึ่งการตัดตัณหาและอุปาทาน

ขิปฺปํ = พลัน

…………..

(๕) เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา

ยาว นิพฺพานโต มมํ 

นสฺสนฺตุ สพฺพทาเยว

ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว. 

สิ่งชั่วในดวงใจ

กว่าเราจะถึงนิพพาน

มลายสิ้นจากสันดาน

ทุกทุกภพที่เราเกิด

…………..

“สิ่งชั่วในดวงใจ” แปลจากคำว่า “เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา” 

“กว่าเราจะถึงนิพพาน” แปลจากคำว่า “ยาว นิพฺพานโต มมํ” 

“มลายสิ้นจากสันดาน” แปลจากคำว่า “นสฺสนฺตุ สพฺพทาเยว” 

“ทุกทุกภพที่เราเกิด” แปลจากคำว่า “ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว” 

แปลเป็นคำๆ:

ธมฺมา = อันว่าสภาพทั้งหลาย 

หมายเหตุ: ธมฺมา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “ธรรมะ” คือคุณธรรมความดีงาม แต่หมายถึงสภาวธรรม คือ “สิ่ง” หรือ “สภาพ” ทั่วไป

หินา = อันเลวทราม 

หมายเหตุ: คำเดิมคือ “หีนา” แต่เนื่องจากพยางค์ “หี-” อยู่ในตำแหน่งที่ต้องเป็นคำเสียงสั้น (คำลหุ) จึงใช้วิธี “รัสสะ” คือทำเสียงยาวให้เป็นเสียงสั้น วิธีเช่นนี้เรียกว่า “ฉันทานุรักษ์” มีความหมายว่า “รักษาคำประพันธ์ให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์

เพิ่มเติมอีกนิดเป็นความรู้ คำในชุดนี้ตามแนวพระอภิธรรมมี ๓ คำ คือ –

หีน (ฮี-นะ) = อย่างเลว

มชฺฌิม (มัด-ชิ-มะ) = อย่างกลาง

ปณีต (ปะ-นี-ตะ) = อย่างดี

ยาว = เพียงใด

นิพฺพานโต = แต่พระนิพพาน

มมํ = แห่งข้าพเจ้า

= ตราบจนข้าพเจ้าได้บรรลุพระนิพพาน

สนฺตาเน = (อันมีอยู่) ในสันดาน (คือในจิตใจ)

เย = เหล่าใด

(เต ธมฺมา = อันว่าสภาพทั้งหลายเหล่านั้น)

นสฺสนฺตุ = จงหายไป

สพฺพทาเยว = ในกาลทั้งปวงนั่นเทียว (สพฺพทา + เอว)

(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า)

ชาโต = เกิดแล้ว

ยตฺถ = ในภพใด

ภเว ภเว = ในภพ ในภพ > ทุกๆ ภพ ทุกๆ ชาติ 

= ทุกๆ ภพ ทุกๆ ชาติที่ข้าพเจ้าเกิด

…………..

(๖) อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา

สลฺเลโข วิริยมฺหินา 

มารา ลภนฺตุ โนกาสํ

กาตุญฺจ วิริเยสุ เม. 

มีจิตตรงและสติ

ทั้งปัญญาอันประเสริฐ

พร้อมทั้งความเพียรเลิศ

เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย

…………..

“มีจิตตรงและสติ

ทั้งปัญญาอันประเสริฐ” แปลจากคำว่า “อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา” 

“พร้อมทั้งความเพียรเลิศ

เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย” แปลจากคำว่า “สลฺเลโข วิริยมฺหินา” 

อุชุจิตฺตํ = อันว่าจิตที่ตรง

สติปญฺญา = อันว่าสติและปัญญา

สลฺเลโข = อันว่าการขัดเกลากิเลส

วิริยมฺหินา = ด้วยความเพียร

…………..

อภิปราย: คำที่มีปัญหาคือ “วิริยมฺหินา” ปัญหาก็คือรูปคำเดิมของศัพท์นี้คืออะไร แล้วทำไมจึงเป็น “วิริยมฺหินา” 

ขอยอมรับว่าผมยังเข้าไม่ถึงศัพท์นี้ ที่แปล “วิริยมฺหินา” ว่า “ด้วยความเพียร” นั้น เป็นการเดา คือเดาเอาว่า “วิริย” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) วิภัตตินามที่สาม เอกวจนะ คือ “นา” 

: วิริย + นา แปลง นา เป็น มฺหินา จึงได้รูปเป็น “วิริยมฺหินา” 

“สลฺเลโข วิริยมฺหินา” แปลว่า “การขัดเกลากิเลสด้วยความเพียร” 

“การขัดเกลากิเลสด้วยความเพียร” หมายความว่า “ความเพียรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส” ตรงกับคำแปลว่า “พร้อมทั้งความเพียรเลิศ เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย”

เรารู้กันว่า วิภัตตินามนั้นเมื่อประกอบกับศัพท์แล้วแปลงรูปเป็นต่างๆ แทบทุกวิภัตติ ปัญหาก็คือ “นา” วิภัตติ แปลงเป็น “มฺหินา” มีหรือไม่? ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่าเป็นการแปลโดยเดา 

ในตำราบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่นักเรียนบาลีบ้านเราเรียนกันเป็นมาตรฐานนั้น ไม่มีบอกว่า “นา” วิภัตติ แปลงเป็น “มฺหินา” แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าตำราบาลีไวยากรณ์ที่เราเรียนกันนั้นคัดมาจากตำราใหญ่อีกชั้นหนึ่งและคัดมาเท่าที่พระองค์ท่านผู้รจนาเห็นว่าจำเป็น หมายความว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่เราไม่ได้เรียน

ผมจึงหวังว่า ผู้ที่ได้เรียน “บาลีใหญ่” น่าจะมีคำตอบให้ได้

ถ้า “นา” วิภัตติ แปลงเป็น “มฺหินา” ไม่มีในตำราบาลีไวยากรณ์ฉบับใดๆ ทั้งสิ้น ทฤษฎี “วิริยมฺหินา” มาจาก วิริย + นา วิภัตติ นี้ ก็ผิดโดยสิ้นเชิง และต้องหาที่มาที่ไปกันใหม่

…………..

อีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า “วิริยมฺหินา” มาจาก วิริย + อหีน

อหีน” (อะ-ฮี-นะ) แปลว่า “ไม่เลวทราม” หมายถึง “ดี” อธิบายโดยรวบรัดว่า วิริย + อหีน เปลี่ยนรูป “วิริยมฺหีน” + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = วิริยมฺหีนา 

พยางค์ -หี- อยู่ในตำแหน่งที่ต้องเป็นคำเสียงสั้นเช่นเดียวกับ “หินา” คำก่อนโน้น จึงรัสสะ อี เป็น อิ

วิริย + อหีน = วิริยมฺหีน + อา = วิริยมฺหีนา > วิริยมฺหินา แปลว่า “ความไม่เลวทรามแห่งวิริยะ” = ความดีแห่งความเพียร

ทฤษฎีนี้น่าฟัง และมีความเป็นไปได้สูง 

แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบที่จะตัดสินได้เด็ดขาดอยู่ที่-มีตำราบาลีไวยากรณ์อธิบายศัพท์นี้ไว้หรือไม่ หรือว่ามีผู้รู้ได้เคยอธิบายศัพท์นี้ไว้อย่างไรบ้างหรือไม่

ขอแรง ขอร้องนักเรียนบาลีเข้ามาช่วยกันบูรณาการด้วยนะครับ จะได้เป็นองค์ความรู้ร่วมกันของชาวเรา

ตอนหน้า อิมินาแปลคงจะจบได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๑๘

………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *