เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๑)
————————————–
กรวดน้ำอิมินาแปล (๕)
เมื่อตอนที่แล้วอธิบายคำกรวดน้ำอิมินาในคาถาบทที่ ๖ –
อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา
สลฺเลโข วิริยมฺหินา
มารา ลภนฺตุ โนกาสํ
กาตุญฺจ วิริเยสุ เม.
มีจิตตรงและสติ
ทั้งปัญญาอันประเสริฐ
พร้อมทั้งความเพียรเลิศ
เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย
๒ วรรคแรกอธิบายไปแล้ว ยังค้างอยู่ ๒ วรรคหลัง คือ –
…………..
มารา ลภนฺตุ โนกาสํ
กาตุญฺจ วิริเยสุ เม.
โอกาสอย่าพึงมี
แก่หมู่มารสิ้นทั้งหลาย
เป็นช่องประทุษร้าย
ทำลายล้างความเพียรจม
…………..
แปลเป็นคำๆ:
จ = อนึ่ง
มารา = อันว่ามารทั้งหลาย
โน ลภนฺตุ = จงอย่าได้
โอกาสํ = ซึ่งโอกาส, ซึ่งช่องทาง
กาตุํ = เพื่อจะกระทำ
(อนฺตรายํ = ซึ่งอันตราย)
วิริเยสุ = ในความเพียรทั้งหลาย
เม = ของข้าพเจ้า
…………..
(๗) พุทฺธาทิปวโร นาโถ
ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม
นาโถ ปจฺเจกพุทฺโธ จ
สงฺโฆ นาโถตฺตโร มมํ
พระพุทธผู้บวรนาถ
พระธรรมที่พึ่งอุดม
พระปัจเจกะพุทธ สม-
ทบพระสงฆ์ที่พึ่งผยอง
…………..
“พระพุทธผู้บวรนาถ” แปลจากคำว่า “พุทฺธาทิปวโร นาโถ”
“พระธรรมที่พึ่งอุดม” แปลจากคำว่า “ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม”
“พระปัจเจกะพุทธ สม-” แปลจากคำว่า “นาโถ ปจฺเจกพุทฺโธ จ”
“ทบพระสงฆ์ที่พึ่งผยอง” แปลจากคำว่า “สงฺโฆ นาโถตฺตโร มมํ”
แปลเป็นคำๆ:
พุทฺธาทิปวโร = อันว่าท่านผู้ประเสริฐสุดมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
นาโถ = เป็นที่พึ่ง (นาโถ ทุกคำแปลเช่นเดียวกันนี้)
ธมฺโม = อันว่าพระธรรม
วรุตฺตโม = เป็นธรรมประเสริฐสูงสุด (วร = ประเสริฐ อุตฺตโม = สูงสุด)
ปจฺเจกพุทฺโธ = อันว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า
สงฺโฆ = อันว่าพระสงฆ์
อุตฺตโร =ผู้ยอดยิ่งกว่า (นาโถตฺตโร = นาโถ + อุตฺตโร)
มมํ = ของข้าพเจ้า
อธิบาย+อภิปราย:
๑ คาถานี้ถ้าแปลตามหลักการแปลโดยยกศัพท์ จะต้องแปลรวบเป็นชุดดังนี้ –
พุทฺธาทิปวโร มมํ นาโถ (โหติ) จ = อันว่าท่านผู้ประเสริฐสุดมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า (ย่อมเป็น) ด้วย
ธมฺโม วรุตฺตโม มมํ นาโถ (โหติ) จ = อันว่าพระธรรม เป็นธรรมประเสริฐสูงสุด เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า (ย่อมเป็น) ด้วย
ปจฺเจกพุทฺโธ มมํ นาโถ (โหติ) จ = อันว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า (ย่อมเป็น) ด้วย
สงฺโฆ อุตฺตโร มมํ นาโถ (โหติ) จ = อันว่าพระสงฆ์ ผู้ยอดยิ่งกว่า เป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า (ย่อมเป็น) ด้วย
ในคาถามี “มมํ” (ของข้าพเจ้า) อยู่คำเดียว แต่มี “นาโถ” (เป็นที่พึ่ง”) ๔ คำ “มมํ” กับ “นาโถ” เกี่ยวข้องกัน คือ “ที่พึ่งของข้าพเจ้า” จึงต้องเติม “มมํ” ควบกับ “นาโถ” ทุกคำ
“จ” (จะ = และ, –ด้วย) ก็มีคำเดียว แต่กินความหมดทั้งประโยค เพราะฉะนั้น ข้อความมีกี่ประโยคก็ต้องเติม “จ” เข้าไปด้วยทุกประโยค
เรื่องนี้เป็นวิชาการลึกหน่อย ท่านที่ไม่มีพื้นกรุณาผ่านไป หรือ “อ่านพอเป็นอุปนิสัยปัจจัย” เท่านั้น
๒ คำที่มีปัญหามากที่สุดคือ “พุทฺธาทิปวโร” ซึ่งแยกศัพท์เป็น พุทฺธ (พระพุทธเจ้า) + อาทิ (เป็นต้น) + ปวโร (ประเสริฐสุด)
ความในคาถานี้มุ่งจะกล่าวถึง “พระรัตนตรัย” คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเสริมเข้ามา) พระพุทธเจ้าก็ควรจะหมายถึง “พระพุทธเจ้า” โดดเด่นเฉพาะพระองค์ คือพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นมาเรียงลำดับต่อจากพระพุทธเจ้าไปอีก
แต่คำว่า “อาทิ” ทำให้เกิดปัญหา เพราะ “มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น” ก็ต้องมีท่านผู้อื่นมาต่อลำดับไปจากพระพุทธเจ้าอีก เพียงแต่ละไว้ฐานเข้าใจ
กลายเป็นว่า ในพระรัตนตรัยนี้ “พระพุทธ” ไม่ได้มีแต่พระพุทธเจ้า แต่มีท่านผู้อื่นด้วย ซึ่งโดยหลักการแล้วย่อมจะไม่ใช่เช่นนั้นเลย
ทางออกอยู่ตรงที่ว่า คำว่า “พุทฺธาทิปวโร” นี้ บางฉบับเป็น “พุทฺธาธิปวโร” คือ –ธิ– ธ ธง ไม่ใช่ –ทิ– ท ทหาร
ถ้าเป็น “พุทฺธาธิปวโร” (คือ –ธิ– ธ ธง) ก็มองเห็นทางออก นั่นคือแยกศัพท์เป็น พุทฺโธ + อธิปวโร ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ โอ ที่ พุทฺโธ (พุทฺโธ > พุทฺธ) ทีฆะ อะ ที่ อธิ- เป็น อา (อธิ > อาธิ)
: พุทฺโธ > พุทฺธ + อธิปวโร = พุทฺธาธิปวโร
การลบสระหน้าแบบนี้มีตัวเทียบอยู่ในคาถาบทต่อไปนั่นเอง นั่นคือคำว่า “มาโรกาสํ”
“มาโรกาสํ” คือ มารา (อันว่ามารทั้งหลาย) + โอกาสํ (ซึ่งโอกาส)
: มารา > มาร + โอกาสํ = มาโรกาสํ
ที่ต้องเป็น “มารา” (พหูพจน์) ก็เพราะคำกริยาคือ “ลภนฺตุ” (จงได้) เป็นพหูพจน์ เพราะฉะนั้น “มาโรกาสํ” จึงไม่ใช่ มาโร + โอกาสํ แต่เป็น มารา + โอกาสํ – ฉันใด
“พุทฺธาธิปวโร” ก็ฉันนั้น จึงไม่ใช่ พุทฺธา + อธิปวโร ทั้ง “อธิปวโร” และ “นาโถ” เป็นเอกพจน์ยันอยู่ชัดๆ เพราะฉะนั้น “พุทฺธาธิปวโร” จึงเป็น พุทฺโธ + อธิปวโร = พุทฺธาธิปวโร
และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีคุณศัพท์อย่าง ๒ คำเสมอกัน คือ
พุทฺโธ อธิปวโร นาโถ
ธมฺโม วรุตฺตโม นาโถ
สงฺโฆ อุตฺตโร นาโถ
ตามความเห็นของผม สรุปว่า คำนี้ “พุทฺธาธิปวโร” (-ธิ– ธ ธง) เหมาะสมถูกต้องกว่า “พุทฺธาทิปวโร” (-ทิ– ท ทหาร)
…………..
(๘) เตโสตฺตมานุภาเวน
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.
[ทสปุญฺญานุภาเวน
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.]
ด้วยอานุภาพนั้น
ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง
ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง
อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ.
…………..
“ด้วยอานุภาพนั้น” แปลจากคำว่า “เตโสตฺตมานุภาเวน”
“ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง” แปลจากคำว่า “มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา”
“ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง” แปลจากคำว่า “ทสปุญฺญานุภาเวน”
“อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ” แปลจากคำว่า “มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา”
แปลเป็นคำๆ:
อุตฺตมานุภาเวน = ด้วยอานุภาพอันสูงสุด
เตสํ = แห่งพระรัตนตรัยแหล่านั้น (เตสํ ลบนิคหิตเป็น เตส + อุตฺตม-)
มารา =อันว่ามารทั้งหาย
มา ลภนฺตุ = จงอย่าได้
โอกาสํ = ซึ่งโอกาส
ทสปุญฺญานุภาเวน = ด้วยอานุภาพแห่งบุญทั้งสิบอย่าง
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา = (แปลเหมือนข้างต้น)
อธิบาย:
“ทสปุญฺญา-” บุญทั้งสิบอย่างคืออะไร ท่านไม่ได้บอกไว้ จึงต้องสันนิษฐาน ในที่นี้ขอสันนิษฐานว่า คือบุญอันเกิดจากวิธีทำบุญ ๑๐ ประการ ที่เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” คือบุญที่เกิดจากทานเป็นลำดับต้น จนถึงบุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรงเป็นลำดับที่สิบ
คำกรวดน้ำอิมินาที่เผยแพร่และท่องกันได้ทั่วไปนั้น จบลงแค่ –
เตโสตฺตมานุภาเวน
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.
แต่ฉบับของสวนโมกข์ที่มีคำแปลด้วยมีต่อไปอีก ๒ วรรค คือ –
…………..
ทสปุญฺญานุภาเวน
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.
อธิบายกรวดน้ำอิมินาแปลสิ้นกระแสความตามประสงค์เพียงเท่านี้
แต่ข้ออภิปรายบางประการยังมีอีก ซึ่งจะได้นำเสนอในตอนหน้า
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๐:๔๙
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๒)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๐)