บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๒)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๒)

————————————–

กรวดน้ำอิมินาแปล (๖)

————————

ข้ออภิปรายบางประการ

ข้ออภิปรายประการแรกก็คือ คำแปลที่เป็นกาพย์ยานีฉบับของสวนโมกข์นั้น คนรู้บาลีฟังแล้วจะเห็นได้ว่า ท่านแปลเท่าตัวและแปลได้ตรงตัวโดยตลอด มีคำแปลเสริมบ้างก็เล็กน้อย 

ตัวอย่างเช่น –

…………………..

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน

ด้วยบุญนี้อุทิศให้

อุปชฺฌายา คุณุตฺตรา

อุปัชฌาย์ผู้เลิศคุณ

อาจริยูปการา จ

แลอาจารย์ผู้เกื้อหนุน

มาตา ปิตา จ ญาตกา.

ทั้งพ่อแม่แลปวงญาติ

สุริโย จนฺทิมา ราชา

สูรย์จันทร์แลราชา

คุณวนฺตา นราปิ จ

ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ

พฺรหฺมมารา จ อินฺทา จ

พรหมมารและอินทราช

โลกปาลา จ เทวตา 

ทั้งทวยเทพและโลกบาล

…………………..

นับเป็นความสามารถที่พิเศษจริงๆ ขอน้อมคารวะไว้ ณ ที่นี้

…………..

ประการต่อมาคือ บทกรวดน้ำอิมินานี้ค่อนข้างยาว จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่มีอุตสาหะที่จะท่องจำ

ค่านิยมที่ผมเห็นว่าทำลายศักยภาพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่งก็คือ การกางหนังสืออ่าน

เมื่อมีหนังสือให้กางอ่านได้ง่ายๆ ความอุตสาหะที่จะท่องให้จำได้ก็เป็นอันไม่มีไม่เกิด – จะต้องท่องให้เหนื่อยยากทำไม กางหนังสืออ่านสะดวกกว่าเป็นไหนๆ

“มนต์” และถ้อยคำต่างๆ ที่จะพึงสวดสาธยายก็จึงมีอยู่แต่ในหนังสือ แต่ไม่มีอยู่ในจิตใจ ซึ่งก็เท่ากับเบี่ยงเบนไปจากหลักการของการสวดมนต์ 

หลักการของการสวดมนต์ก็คือ-มนต์ต้องอยู่ในใจ ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ

…………..

….. มีเงินแต่ให้เขากู้

มีความรู้อยู่ในสมุดไม่เป็นผล

มีเมียอยู่ต่างย่านบ้านตำบล

ถึงคราวจนจะต้องการรำคาญแค้น

…… (จำมาจากของเก่า) ……

…………..

เวลานี้แม้แต่คำอธิษฐานเวลาปล่อยปลาก็คิดเองอธิษฐานเองไม่เป็น ต้องอ่านตามโผที่คนขายปลาทำไว้บริการ

คำอธิษฐานไม่ได้ออกมาจากใจ 

แต่ออกมาจากแผ่นกระดาษ!

สมัยก่อน ในขณะที่คนไทยสวดมนต์จากบทที่ท่องได้ ฝรั่งสวดมนต์โดยวิธีถือกระดาษคนละแผ่นแล้วอ่านจากแผ่นกระดาษ 

เวลานี้คนไทยสวดมนต์โดยวิธีถือกระดาษเหมือนฝรั่งกันแล้ว

มนต์อยู่ในแผ่นกระดาษ ไม่ได้มีอยู่ในใจ!

ขออนุโมทนากับท่านที่มีอุตสาหะตั้งใจอัญเชิญมนต์และบทสวดต่างๆ ให้เข้ามาสถิตอยู่ในหัวใจ

ผมท่องพาหุงได้เมื่ออายุเกือบ ๑๐ ขวบ

ท่องพระคาถาชินบัญชรได้เมื่ออายุเกือบ ๔๐

เพื่อนที่รู้จักพระคาถาชินบัญชรมาพร้อมๆ กัน เวลานี้พระคาถาชินบัญชรของเขาก็ยังอยู่ในแผ่นกระดาษ เวลาจะ “สวด” ต้องเอากระดาษมากาง แต่พระคาถาชินบัญชรของผมอยู่ในใจ สวดออกมาจากหัวใจ 

เวลาเจอบทสวดยาวๆ อย่างพระคาถาชินบัญชร หรืออย่างบทกรวดน้ำอิมินา เคล็ดในการท่องจำก็คือ ท่องวันละวรรค

ท่องวันละวรรคเท่านั้นพอ 

น้อย แต่ไม่หนักแรง

ช้า แต่ชัวร์

บทกรวดน้ำอิมินามี ๓๒ วรรค ใช้เวลาเดือนหนึ่งกับอีก ๒ วันก็ท่องจบ 

เผื่อเหลือเผื่อขาด ตีเสียว่า ๒ เดือนท่องจบ 

ให้เวลาทบทวนอีก ๒ เดือน 

ให้เวลาเต็มๆ ๖ เดือน ท่องได้คล่อง 

หลังจากนั้นเราก็เป็นอิสระ ไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของแผ่นกระดาษอีกต่อไป

บทนี้อีก บทนั้นอีก บทโน้นอีก อัญเชิญมาสถิตในใจ ใช้วิธีเดียวกัน

สวดมนต์ออกมาจากหัวใจวิเศษกว่ากางหนังสืออ่านอย่างไร บอกกันไม่ได้ ต้องลองเอง ทำเอง แล้วก็จะรู้เอง

…………..

ยังมีข้ออภิปรายอีกประการหนึ่ง-ใครแต่งบทกรวดน้ำอิมินา 

ขอยกเอาไปพูดตอนหน้าครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๔:๐๒

………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *