บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๓)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๓)

————————————–

กรวดน้ำอิมินาแปล (๗)

————————

ข้ออภิปรายบางประการ-ใครแต่งบทกรวดน้ำอิมินา 

กรวดน้ำอิมินาขึ้นต้นว่า –

“อิมินา  ปุญฺญกมฺเมน

อุปชฺฌายา  คุณุตฺตรา

อาจริยูปการา  จ …”

บ่งบอกให้รู้ว่า ผู้แต่งบทกรวดน้ำนี้มีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมของชาววัดโดยแท้ รู้ได้จากการที่ยก “อุปัชฌาย์อาจารย์” ขึ้นเป็นประธานในหมู่ผู้ที่ตั้งใจอุทิศส่วนบุญให้

“อุปัชฌาย์อาจารย์” เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในวิถีชีวิตชาววัด 

“อุปัชฌาย์เหมือนพ่อ อาจารย์เหมือนพี่” – ท่านถือกันมาอย่างนั้น

คนรุ่นใหม่คุ้นกับคำว่า “อาจารย์” แต่น่าจะไม่คุ้นกับคำว่า “อุปัชฌาย์” แม้กระนั้น “อาจารย์” ตามความหมายของคนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่ตรงกับ “อาจารย์” ของคนรุ่นเก่า

“อุปัชฌาย์” คือภิกษุผู้นำกุลบุตรเข้าสู่สังคมสงฆ์และเป็นผู้รับรองต่อสงฆ์ว่าจะทำหน้าที่ปกครองดูแลอบรมสั่งสอนกุลบุตรนั้นให้อยู่ในสังคมสงฆ์ด้วยความเรียบร้อย 

ไม่มีพระอุปัชฌาย์ ก็บวชเป็นพระไม่ได้ พระอุปัชฌาย์จึงเสมือน “พ่อ” ผู้ให้กำเนิดในวิถีชีวิตสงฆ์

ส่วน “อาจารย์” ตามความหมายของคนรุ่นเก่า ท่านหมายถึงภิกษุที่ทำหน้าที่เป็น “พระกรรมวาจาจารย์” และ “พระอนุสาวนาจารย์” ที่เราเรียกกันว่า “พระคู่สวด” ในพิธีอุปสมบท คำลงท้ายชื่อก็บ่งชัดว่าเป็น “อาจารย์” และโดยมากก็จะเป็นผู้ที่พระอุปัชฌาย์มอบหมายให้ช่วยทำหน้าที่แนะนำสั่งสอนพระใหม่อย่างที่เรียกว่าช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ คนรุ่นเก่าที่อยู่ในวัฒนธรรมชาววัดจึงถือว่าพระคู่สวดนั่นแหละคือ “อาจารย์” และจึงถือกันว่า “อาจารย์เหมือนพี่”

ชายไทยรุ่นเก่าจะต้องเข้ามาสัมผัสชีวิตชาววัดด้วยกันทุกคน อันเป็นที่มาของค่านิยมที่ว่า คนบวชแล้วเป็นคนสุก คนยังไม่ได้บวชเป็นคนดิบ ซึ่งค่านิยมนี้ยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้-แม้จะจืดจางลงไปจนเกือบจะสูญหมดแล้วก็ตาม

นี่คือ “อุปัชฌาย์อาจารย์” ที่ระบุไว้ในบทกรวดน้ำอิมินา ซึ่งเป็นร่องรอยที่บอกให้รู้ว่า ผู้แต่งบทกรวดน้ำอิมินาเป็นผู้ที่เติบโตมาในวัฒนธรรมชาววัด

และน่าจะสันนิษฐานได้ด้วยว่า แต่งในขณะที่เป็นพระนั่นเอง

และจากลีลา ถ้อยคำ สำนวน ผมสันนิษฐานว่า ท่านผู้แต่ง ถ้าไม่ใช่พระวชิรญาณภิกขุ (คือบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) ก็น่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชสา ปุสสเทวะ

“ลีลา ถ้อยคำ สำนวน” คืออะไร คืออย่างไร บอกยาก คนที่คุ้นกับคำบาลี สนุกกับการอ่านและแปลบาลี จะรู้สึกได้เอง แต่อธิบายให้เข้าใจยาก

ยกตัวอย่าง-ซึ่งยกแล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้มองเห็นหรือเปล่า-เช่นบทสุดท้ายในคาถาพาหุง ซึ่งมีผู้เชื่อว่าบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ น่าจะทรงแต่งเติม —

…………………………..

เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา

โย วาจโน ทินทิเน สรเตมตนฺที

หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ

โมกฺขํ สุขํ อธิคเมยฺย นโร สปญฺโญ.

…………………………..

“สรเตมตนฺที” (สะระเตมะตันที) ก็คือ สรเต (ระลึกถึง) + อตนฺที (ไม่เกียจคร้าน

จะใช้เป็น “สรเต  อตนฺที” ตรงๆ เลยก็ได้ ไม่ผิดคณะฉันท์ แต่ท่านไม่เอา ต้องสนธิกัน แล้วลง อาคม ได้รูปเป็น “สรเตมตนฺที” จึงจะสวย – นี่คือลีลาของท่าน

“หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ” (หิต๎วานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ) “จุปทฺทวานิ” คือ (จะ) (และ, -ด้วย) + อุปทฺทวานิ (อุปัทวะทั้งหลาย) คำนี้จะเป็น “อุปทฺทวานิ” ตรงๆ เลยก็ได้ ไม่ผิดคณะฉันท์ แต่ท่านไม่เอา ต้องเติม “” เข้าไปสนธิกับ “อุปทฺทวานิ” เป็น “จุปทฺทวานิ” – นี่ก็คือลีลาของท่าน

ในบทกรวดน้ำอิมินาก็พบคำที่มีลีลาคล้ายๆ กันแบบนี้ อย่างน้อยก็ ๓ แห่ง –

โวมตํ” = โว (โว้ย) + อมตํ (พระนิพพาน)

โนกาสํ” = โน (ไม่, อย่า) + โอกาสํ (โอกาส)

มาโรกาสํ” = มารา (มารทั้งหลาย) + โอกาสํ (โอกาส)

…………..

นี่เป็นเพียงทัศนะของผมคนเดียว นักเรียนบาลีท่านอื่นๆ อาจจะไม่เห็นแบบนี้ แต่มีทัศนะเป็นอย่างอื่นก็ได้ 

และเรื่องนี้ควรเข้าใจให้ตรงกันว่า ในแง่วิชาการเราสามารถถกเถียงโต้แย้งเห็นต่างกันได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่าถ้าคนหนึ่งว่าอย่างนี้แล้ว คนอื่นแย้งไม่ได้ ตรงกันข้าม การเห็นต่าง การยกเหตุผลมาโต้แย้งกันที่ทำด้วยกุศลจิต ย่อมจะนำมาซึ่งข้อยุติที่ถูกต้องดีงาม อันจะพึงถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ร่วมกันของพวกเรา

ผมอยากให้นักเรียนบาลีของเรามีฉันทะในการศึกษาสืบค้นวรรณกรรมบาลีที่นอกเหนือไปจาก “บาลีในแบบเรียน”

น่าเสียดายที่เวลานี้สำนักเรียนบาลีในบ้านเราตั้งเป้าหมายแห่งความสำเร็จไว้ที่จำนวนผู้สอบได้ ชนิดที่ว่า-มุ่งไปที่ตรงนั้นเพียงจุดเดียว

จริงอยู่ ผู้บริหารสำนักเรียนไม่ว่าจะในระดับใดๆ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะรอชื่นชมกับจำนวนผู้สอบได้ที่ตนปลุกปั้นขึ้นมาด้วยความเหนื่อยยาก 

นั่นก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน ควรอนุโมทนา 

แต่ผมอยากให้เรา “ต่อยอด” ออกไปอีก คือตั้งตารอชื่นชมกับจำนวนนักเรียนบาลีที่สอบได้แล้วมีฉันทะอุตสาหะศึกษาสืบค้นต่อไปอีก เช่นศึกษาสืบค้นวรรณกรรมบาลีที่มีอยู่ในบ้านเรา ก้าวหน้าต่อไปจนถึงพระไตรปิฎกเป็นที่สุด สำนักไหนทำกันมากเท่าไร ก็ชื่นชมยินดีกันมากขึ้นเท่านั้น

ทำอย่างไร-นักเรียนบาลีบ้านเราเมื่อสอบได้ชั้นสูงสุดแล้วจะไม่เก็บคัมภีร์เข้าตู้ หากแต่ยังจะก้าวหน้าต่อไปอีกบนถนนสายบาลี

ทำอย่างไร-แนวคิดที่ว่า “เป็นไปตามอัธยาศัย” จึงจะหมดไป แล้วเกิดแนวคิดใหม่ว่า นักเรียนบาลีชนิดที่เรียนจบแล้วมุ่งหน้าศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมบาลีต่อไปจนกระทั่งถึงพระไตรปิฎกนั้น เราสามารถ “สร้าง” และ “ส่งเสริม” ขึ้นมาได้อีก นอกเหนือไปจากวิธีรอให้เกิดขึ้นเองตามอัธยาศัยหรือตามบุญตามกรรม

ปัญหานี้ ไม่ควรพูดว่า-ขอฝากไว้ให้ช่วยกันคิด

แต่ต้องพูดว่า-พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคิดและต้องช่วยกันทำ

ระดับของปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ “ควร” หากแต่อยู่ที่ “ต้อง” ครับ

…………..

เป็นอันว่าจบชุด “กรวดน้ำอิมินา” ตอนหน้าว่ากันเรื่องอื่นต่อไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๗:๐๕

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *