บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๖)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๖)

————————————–

อิติปิ  โส 

————————

สวดได้ แปลได้ เข้าใจความหมาย

อิติปิ  โส” มีคำบาลีอยู่ ๓ คำ คือ “อิติ” “ปิ” “โส” 

(๑) “อิติ” อ่านว่า อิ-ติ เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม 

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(๑) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้ 

(๒) ว่าดังนี้ 

(๓) ด้วยประการนี้ 

(๔) ชื่อ 

(๕) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น) 

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้) 

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ) 

(๒) “ปิ” เป็นคำจำพวกนิบาตเช่นเดียวกัน ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “ปิ” ว่า “แม้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิ” เป็นภาษาอังกฤษไว้หลายคำ ขอยกมาเสนอในที่นี้เพื่อประกอบความรู้ โปรดสังเกตว่าบางข้อใช้คำแปลซ้ำกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน ความหมายก็ย่อมจะต่างกันไปด้วย

(1) also, and also, even (ด้วย, และ, ถึงกระนั้น) 

(2) even, just so (ถึงแม้, เช่นนั้นทีเดียว) 

(3) but, however, on the other hand, now [continuing a story] (แต่, อย่างไรก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง, บัดนี้ [ดำเนินเรื่องให้ติดต่อกัน]) 

(4) although, even (แม้ว่า, ถึงแม้ว่า) 

(5) perhaps, it is time that, probably (บางที, พอจะ, อาจจะ) 

(๓) “โส” เป็นคำสรรพนามชนิด “วิเสสนสัพพนาม” คือสรรพนามที่ขยายคำนามทั่วไป 

โส” คำเดิมคือ “” (เรียกกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “ตะ-ศัพท์” แปลว่า “นั้น” (คนนั้น เรื่องนั้น สิ่งนั้น ฯลฯ)

” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โส” 

ในคำว่า “อิติปิ  โส” นี้ “โส” เป็นคำขยายคำว่า “ภควา” คือเป็น “โส  ภควา” แปลว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

ขยายความ :

อิติปิ  โส” เป็นคำขึ้นต้นพระพุทธคุณที่เราสวดกันคุ้นปาก คือ —

…………………………..

อิติปิ  โส  ภควา  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน  สุคโต  โลกวิทู  อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ  สตฺถา  เทวมนุสฺสานํ  พุทฺโธ  ภควาติ.

…………………………..

อิติปิ  โส  ภะคะวา  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  วิชชาจะระณะสัมปันโน  สุคะโต  โลกะวิทู  อะนุตตะโร  ปุริสะทัมมะสาระถิ  สัตถา  เทวะมะนุสสานัง  พุทโธ  ภะคะวาติ.

…………………………..

อิติปิ  โส” แปลว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น…” 

เวลาแปลพระพุทธคุณท่านให้เอาคำว่า “อิติปิ” (แม้เพราะเหตุนี้) ไปควบเข้ากับพุทธคุณทุกบท คือเป็น —

อิติปิ  อรหํ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลสสิ้นเชิง

อิติปิ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (วิธีตรัสรู้และพระธรรมที่ตรัสรู้ไม่มีครูอาจารย์สอนพระองค์มาก่อน)

อิติปิ  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้แจ้ง) และจรณะ (ความประพฤติถูกต้องดีงาม)

อิติปิ  สุคโต = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้เสด็จไปดี คือไปเพื่อประกาศความดี เสด็จไปได้อย่างดี

อิติปิ  โลกวิทู = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้รู้จักโลกอย่างแจ่มแจ้ง

อิติปิ  อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้ฝืกสอนคนที่สมควรฝึก ทรงเป็นผู้ฝึกสอนที่ยอดเยี่ยม

อิติปิ  สตฺถา  เทวมนุสฺสานํ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นครูผู้สอนของเหล่าเทวดาและมนุษย์

อิติปิ  พุทฺโธ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

อิติปิ  ภควา = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระภควา คือผู้มีโชค ผู้ทรงจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์

คำแสดงพระพุทธคุณแต่ละบทกล่าวไว้พอเป็นแนว ผู้ใฝ่รู้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้อีกด้วยตนเอง

…………..

อิติปิ  โส” เป็นบทแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระคุณบทนั้นๆ (รวม ๙ บท) ด้วยเหตุผลอะไร เป็นการจูงใจให้ตามไปศึกษา เสมือนเป็นการ “ท้าพิสูจน์” ให้เห็นประจักษ์แก่ใจว่า ถ้าใครจะเคารพนับถือพระพุทธเจ้าก็ต้องมีเหตุผลที่เพียบพร้อมว่าเหตุใดจึงเคารพนับถือ เคารพนับถือเพื่อประโยชน์อะไร 

นักเล่นคาถานิยมเอาบท “อิติปิ  โส” ไปสวดแปลงรูปเป็นต่างๆ เชื่อกันว่าจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์ แต่ส่วนมากมักไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระพุทธคุณแต่ละบทว่ามีความหมายอย่างไร และความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดมีได้ด้วยเหตุผลอะไร 

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า “อิติปิ  โส” เขียน “อิติปิ” แยกกับ “โส” 

อิติปิ  โส

ไม่ใช่ “อิติปิโส

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๔:๐๕

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *