บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๙)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๙)

————————————–

อิสฺวาสุ: เจริญคุณพระรัตนตรัย

ได้นำเอาคุณพระรัตนตรัยมาอธิบายไว้ครบทั้ง ๓ แล้ว คือ อิติปิ โส = พระพุทธคุณ (อยู่ในตอนที่ ๐๓๖) สฺวากฺขาโต = พระธรรมคุณ (อยู่ในตอนที่ ๐๓๗) และ สุปฏิปนฺโน = พระสังฆคุณ (อยู่ในตอนที่ ๐๓๘)

ตอนนี้เห็นสมควรกล่าวสรุปเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเจริญคุณพระรัตนตรัย

นอกจาก “นโม” ที่เราชาวพุทธพูดกันติดปากแล้ว “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ” ก็เป็นคำที่ยังติดปากคนไทยพอสมควร โดยเฉพาะคนเก่าๆ เมื่อประสบเหตุหรือได้ยินข่าวอันน่าตกใจ ก็มักจะอุทานออกมาว่า “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ”

การเจริญคุณพระรัตตรัยอาจทำได้หลายวิธี กล่าวคือ –

การเจริญคุณพระรัตนตรัยเต็มรูป คือเจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ห้อง เช่นตอนสวดมนต์ก่อนนอน หรือเมื่อมีช่วงเวลาว่างปลอดโปร่งจากภารกิจหรือสิ่งกวนใจ 

เวลาวิ่งหรือเดินออกกำลัง หรือออกกำลังด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้เสียงเข้าจังหวะ ก็สามารถเจริญคุณพระรัตนตรัยเต็มรูปได้ ใครไม่เคย ลองทำดู

การเจริญคุณพระรัตนตรัยอย่างสั้น คือ –

อิติปิ  โส  ภควา  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ

สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม

สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ

การเจริญคุณพระรัตนตรัยอย่างย่อ คือ –

อิติปิ  โส,  สฺวากฺขาโต,  สุปฏิปนฺโน  

และการเจริญคุณพระรัตนตรัยอย่างสั้นที่สุด คือ “อิสฺวาสุ” (อิ-สวา-สุ) คือตัดมาเฉพาะคำแรกของบทแสดงคุณพระรัตนตรัยแต่ละห้อง คือ –

อิ” ตัดมาจาก “อิติปิ  โส  ภควา  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  …” (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า…)

สฺวา” ตัดมาจาก “สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม …” (พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว…)

สุ” ตัดมาจาก “สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ …” (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว…)

อิสฺวาสุ” จึงเรียกกันว่า “หัวใจพระรัตนตรัย” บางท่านเรียกว่า “หัวใจอิติปิโส” โดยหมายถึงว่าบทเจริญคุณพระรัตนตรัยเต็มรูปคือทั้งหมดนั้นขึ้นต้นด้วยคำว่า “อิติปิ  โส” จึงเรียกกันว่า “บทอิติปิโส” นักสวดมนต์ถ้าพูดว่า “ขึ้นอิติปิโส” ก็เป็นที่รู้กันว่าสวดบทเจริญคุณพระรัตนตรัยเต็มรูป

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการเจริญคุณพระรัตนตรัยก็คือ ต้องรู้คำเต็มหรือข้อความเต็ม พร้อมทั้งรู้ความหมายของคำหรือข้อความนั้นโดยตลอดด้วย แล้วฝึกจิตให้นึกเหนี่ยวเอาความหมายนั้นๆ มาเป็นอารมณ์

การเจริญคุณพระรัตนตรัยไม่ว่าจะแบบเต็มรูป หรือแบบสั้น แบบย่อ แบบหัวใจ เรียกได้เต็มปากว่าเป็นการเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นการปฏิบัติธรรมตามหลัก “อนุสติ ๑๐” ถึง ๓ อนุสติ ล้วนแต่เป็นมหากุศล ไม่ต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินเงินทอง คนรวยคนจนมีสิทธิ์เก็บเกี่ยวบุญนี้ได้เท่ากัน เพียงแต่รู้จักแบ่งเวลาและฝึกจิตให้คุ้น 

และเมื่อทำจนคุ้นแล้ว คราวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลา เพราะสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลาทุกสถานที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันนั่นเลย

การปฏิบัติกิจแห่งพระศาสนาด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องการที่จะต้องควักกระเป๋า จะต้องสนับสนุนใครสำนักไหนให้เด่นให้ดังให้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิต-พัฒนาชีวิตของตนเองแท้ๆ ล้วนๆ

บางทีการปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายแสนง่าย ถ้าไม่เรื่องมาก ไม่มองข้าม และถ้ารู้วิธีที่ถูกต้อง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๗:๓๖

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *