บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย

——————————-

ผมกำลังเขียนบทความชุด “เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน” ยังพูดค้างไว้เรื่องคำอาราธนาศีล ก็พอดีไปเห็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเข้าเรื่องหนึ่ง จึงขออนุญาตเอามาเขียนแทรกไว้ตรงนี้ เป็นเรื่องภาษาบาลีโดยตรง แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนค้างไว้

เรื่อง-ก็ดังที่ตั้งหัวข้อไว้ข้างต้น – บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย

ผมเชื่อว่า ใครที่เรียนภาษาไทยย่อมจะเคยได้รับรู้หลักวิชาที่ว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” กันมาแล้วทุกคน อาจจะเคยพูด เคยเอาคำนี้ไปอ้างอิง แต่บางท่านอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดว่า ที่ว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” นั้นคืออย่างไร

เรื่องก็คือ ผมได้ยินท่านผู้หนึ่งบอกว่า โรคโควิดนั้นเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท” 

ผมเห็นว่า คำที่ท่านบอกดังนี้ควรเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยกันทำความเข้าใจในคำที่ว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย”

เริ่มด้วยการทำความเข้าใจกันก่อนตรงนี้เลยว่า คำว่า “โควิโท” ที่ท่านบอกว่าเป็นภาษาบาลีเรียกโรคโควิดนั้น โปรดทราบว่า เป็นภาษาบาลีที่ลงวิภัตติปัจจัยแล้ว

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า รูปคำเดิมของคำนี้ไม่ใช่ “โควิโท” แต่เป็นอีกรูปหนึ่ง 

ตรงที่ “เป็นอีกรูปหนึ่ง” นี่แหละที่ไม่มีใครพูดถึงเลย ที่ไม่มีใครพูดถึงก็น่าจะเป็นเพราะไม่รู้และไม่เข้าใจ (ส่วนคนที่รู้และเข้าใจท่านก็ไม่พูด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะท่านเห็นว่าไม่ใช่ธุระอะไรของท่าน) และตรงนี้แหละที่มาเกี่ยวกับ “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” ตรงๆ 

รูปคำเดิมของ “โควิโท” คือ “โควิท” อ่านว่า โค-วิ-ทะ 

พูดต่อไปให้เต็มสูตรว่า “โควิท” เป็น อะ-การันต์ในปุงลิงค์ 

“โควิท” เมื่อทำหน้าที่เป็น “ประธาน” ในประโยคก็ลงวิภัตติปัจจัย เปลี่ยนรูปเป็น “โควิโท”

ควรทราบต่อไปว่า รูป “โควิโท” นี้ เป็นเอกพจน์ (ภาษาบาลีไวยากรณ์ว่า “เอกวจนะ”) ถ้าเป็นพหูพจน์ ต้องเปลี่ยนรูปเป็น “โควิทา”

และ “โควิโท” หรือ “โควิทา” เป็นรูปนี้ก็เฉพาะเมื่อเป็น “ประธาน” ในประโยคเท่านั้น ถ้าเป็น “กรรม” ในประโยค ต้องเปลี่ยนรูปเป็น “โควิทํ” (โค-วิ-ทัง) และถ้าเป็นกรรมที่เป็นพหูพจน์ ต้องเปลี่ยนรูปเป็น “โควิเท” (โค-วิ-เท)

งงละสิ – โควิทา โควิทํ โควิเท มาจากไหน ไม่เห็นมีใครพูดถึง เห็นมีแต่ “โควิโท” 

ก็นี่แหละครับคือ “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” ตรงๆ เลย

โควิโท – เมื่อเป็นประธานในประโยคและเป็นเอกพจน์

โควิทา – เมื่อเป็นประธานในประโยคและเป็นพหูพจน์

โควิทํ – เมื่อเป็นกรรมในประโยคและเป็นเอกพจน์

โควิเท – เมื่อเป็นกรรมในประโยคและเป็นพหูพจน์

เพราะฉะนั้น ที่พูดกันว่า โรคโควิดนั้นเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท” นั้น หมายความว่า คนพูดกำลังพูดถึงโรคโควิดที่ทำหน้าที่เป็นประธานที่เป็นเอกพจน์ในประโยคภาษาบาลี 

แต่เมื่อจะพูดให้เป็นคำกลางๆ ไม่ระบุว่าทำหน้าที่อะไร ก็ต้องพูดว่า – โรคโควิดนั้นเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิท” (โค-วิ-ทะ) 

ไม่ใช่ “โควิโท”

เพื่อไม่ให้งง โปรดดูคำเทียบ 

พระภิกษุสามเณร-ที่เราเรียกกันในภาษาไทยนี้เป็นภาษาบาลีสันสกฤต 

“ภิกษุ” เป็นรูปคำสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีก็เป็น “ภิกฺขุ”

“สามเณร” เป็นรูปคำบาลี 

“สามเณร” ในภาษาไทยเราอ่านว่า สา-มะ-เนน แต่ในภาษาบาลีอ่านว่า สา-มะ-เน-ระ 

“สามเณร” นี่ก็พูดให้เต็มสูตรว่าเป็น อะ-การันต์ในปุงลิงค์เหมือน “โควิท” และใช้สูตรเดียวกับ “โควิท”

สามเณโร – เมื่อเป็นประธานในประโยคและเป็นเอกพจน์

สามเณรา – เมื่อเป็นประธานในประโยคและเป็นพหูพจน์

สามเณรํ – เมื่อเป็นกรรมในประโยคและเป็นเอกพจน์

สามเณเร – เมื่อเป็นกรรมในประโยคและเป็นพหูพจน์

เวลาเราพูดกันในภาษาไทย เราก็บอกกันว่า คำว่า “สามเณร” (สา-มะ-เนน) นั้น เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สามเณร” (สา-มะ-เน-ระ) 

เพราะ “สามเณร” (สา-มะ-เน-ระ) เป็นรูปศัพท์เดิม ใช้เมื่อเอ่ยถึงเป็นกลางๆ

เราไม่ได้บอกกันว่า คำว่า “สามเณร” นั้น เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สามเณโร” – ซึ่งถ้าบอกกันอย่างนี้ก็จะเหมือนที่พูดกันว่า – โรคโควิดนั้นเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท”

………………..

สรุปว่า เมื่อจะอ้างถึงโรคโควิดที่เรียกเป็นภาษาบาลี ก็บอกกันว่า โรคโควิดนั้นเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิท” (ออกเสียงว่า โค-วิ-ทะ ไม่ใช่ โค-วิด) หรือจะสะกดเป็นไทยว่า “โควิทะ” อย่างนี้ก็ได้

ไม่ต้องไปลงวิภัตติปัจจัยให้เป็น “โควิโท” 

และขอย้ำว่า สะกดเป็น “โควิท” (-วิท ท ทหาร) หรือ “โควิทะ” ก็ต่อเมื่อกำลังพูดภาษาบาลี หรือกำลังเขียนภาษาบาลี หรือต้องการจะอ้างถึงคำบาลีกันเท่านั้น 

คนไทยพูดภาษาไทย คุยกันเป็นภาษาไทย เขียนภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เมื่อเอ่ยถึงโรคนี้ก็ยังคงเขียนเป็น “โควิด” (-วิด ด เด็ก) ตามที่เขียนกันมาและยังเขียนกันอยู่ 

ไม่ต้องลากเอา “โควิท” หรือ “โควิทะ” หรือ “โควิโท” เข้ามาปะปนด้วยแต่ประการใด

แต่ถ้าจำเป็นหรือมีศรัทธาอยากจะพูดภาษาบาลีจริงๆ ก็พูดว่า-โรคนี้เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิท” (โค-วิ-ทะ) อันเป็นรูปคำเดิม

ต่อเมื่อจะเอาคำว่า “โควิท” ไปพูดให้เป็นประโยคเป็นเรื่องเป็นราว จึงค่อยลงวิภัตติปัจจัยเป็น โควิโท โควิทา โควิทํ โควิเท หรือ โควิ- อื่นๆ อีก แล้วแต่ว่าจะให้ “โควิท” ทำหน้าที่อะไรในข้อความนั้นๆ ตามหลักเกณฑ์ทางไวยากรณ์ของภาษาบาลี-อันเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย

หวังว่าคงจะพอเข้าใจได้ชัดขึ้นนะครับว่า ที่ว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” นั้น หมายถึงอย่างไร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๐:๑๑

……………………………….

บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *