บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๗)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๗)

————————————–

ข้อพิจารณาในคำบูชาพระ

คำบูชาพระปกติที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ –

…………………………….

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ.

อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ.

อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ.

…………………………….

ตรงคำว่า “ปูเชมิ” มีบางสำนักหรือบางคนนิยมใช้คำว่า “อะภิปูชะยามิ” คือว่าเป็น –

…………………………….

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ.

อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ.

อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ.

…………………………….

ถามว่า “ปูเชมิ” กับ “อะภิปูชะยามิ” มีความหมายต่างกันอย่างไรหรือไม่

ตอบว่า โดยเจตนาแห่งการบูชาแล้วมีค่าเท่ากัน แต่โดยอรรถรสของภาษาต่างกันเล็กน้อย

ปูเชมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอบูชา

อะภิปูชะยามิ” (เขียนแบบบาลี: อภิปูชยามิ) แปลว่า “ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่ง” 

ชาวพุทธบูชาพระ ก็ล้วนแต่ตั้งใจบูชาอย่างเต็มที่ เรียกว่าถอดหัวใจออกถวายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเจตนาเป็นอย่างนี้ จะว่า “ปูเชมิ” หรือ “อะภิปูชะยามิ” ย่อมมีค่าเท่ากัน

เครื่องบูชาสักการะอาจชวนให้รู้สึกต่างกัน –

บางคนมีเพียงมือสิบนิ้ว

บางคนมีดอกไม้ธูปเทียน

บางคนนอกจากมีดอกไม้ธูปเทียนแล้วยังมีของอื่นๆ เพิ่มเข้าไปอีกด้วย

ใครมีความสามารถจัดหาเครื่องบูชาสักการะได้แค่ไหน ก็บูชาไปตามกำลังแห่งตนๆ ย่อมควรแก่การอนุโมทนาสาธุทั้งสิ้น และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกัน ขอให้นึกถึงภาษิตของท่านผู้รู้ที่ว่า – 

…………………………….

นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ

อปฺปกา นาม ทกฺขิณา

ตถาคเต วา สมฺพุทฺเธ

อถ วา ตสฺส สาวเก.

เมื่อจิตเลื่อมใส

ในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า

หรือในสาวกของพระองค์ก็ตาม

ทักษิณาคือของบูชาไม่ชื่อว่าน้อยเลย

ที่มา: ปีตวิมาน วิมานวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๔๗

…………………………….

จะใช้ “ปูเชมิ” หรือ “อะภิปูชะยามิ” เลือกเอาตามอัธยาศัย หรือตามหลักนิยมของสำนักนั้นๆ หรือพื้นถิ่นนั้นๆ 

……………..

แต่ที่ควรสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ บางสำนักหรือบางคนใช้เป็น “ปูเชมะ” หรือ “อะภิปูชะยามะ” ตรงนี้น่าพิจารณา 

หลักที่เรารู้กันก็คือ คนเดียว “-มิ” หลายคน “-มะ

ปูเชมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอบูชา

ปูเชมะ” แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชา

ถามว่า เวลาบูชาพระ เราต้องบูชาพร้อมกัน หรือว่าต่างคนต่างบูชา แต่ทำในเวลาเดียวกัน?

ในทัศนะของผม การบูชาพระนั้นต่างคนต่างบูชา ดูจากของจริง เวลาไปทำบุญวันพระ ใครไปถึงวัดก่อนก็เข้าไปบูชาพระก่อน ใครมาทีหลังก็บูชาทีหลัง ไม่ต้องรอกัน แต่ครั้นถึงตอนทำเป็นพิธีการเราจึงทำพร้อมกัน แต่เฉพาะส่วนที่เป็นการบูชาพระก็ควรจะเป็นอย่างที่ว่า-ต่างคนต่างบูชา แต่ทำในเวลาเดียวกัน

แล้วถ้าพิจารณาต่อไปอีก ถึงคำบูชาพระตอนหลัง คือตอนที่ว่า –

…………………………….

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ. (กราบ)

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ. (กราบ)

…………………………….

โปรดสังเกตว่า คำกิริยายืนพื้น คือ – 

พระพุทธ – “อะภิวาเทมิ” ไม่ใช่ “อะภิวาเทมะ

พระธรรม – “นะมัสสามิ” ไม่ใช่ “นะมัสสามะ” 

พระสงฆ์ – “นะมามิ” ไม่ใช่ “นะมามะ” 

ถ้าตอนต้น ใช้ว่า “ปูเชมะ” หรือ “อะภิปูชะยามะ

ตอนหลังก็ควรจะต้องเป็น “อะภิวาเทมะ” … จึงจะสอดคล้องกัน

แต่ก็ไม่มีที่ไหนเปลี่ยนจาก “อะภิวาเทมิ” เป็น “อะภิวาเทมะ” …

เพราะฉะนั้น เมื่อตอนหลังยืนพื้นเป็น –มิ (อะภิวาเทมิ, นะมัสสามิ, นะมามิ) ตอนต้นก็ควรจะเป็น –มิ (ปูเชมิ หรือ อะภิปูชะยามิ) ด้วย จึงจะสอดคล้องกัน 

จะให้ตอนต้นเป็น “-มะ” แต่ตอนหลังเป็น “-มิ” หรือ “-มะ” มั่ง “-มิ” มั่ง ด้วยเหตุผลอันใดกันเล่า

……………..

ยังมีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ คำบูชาพระตั้งแต่ “อิมินา สักกาเรนะ …” จนถึง “… สังฆัง นะมามิ” รวมทั้งหมดนี้ แต่เดิมเรียกกันว่า “คำบูชาพระ” หรือ “คำบูชาพระรัตนตรัย” 

แต่มาเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ ก็มีผู้จัดแจงแบ่งเป็น ๒ ท่อน 

ตั้งแต่ “อิมินา สักกาเรนะ …” จนถึง “… สังฆัง ปูเชมิ” เรียกว่า “คำบูชาพระรัตนตรัย”

ตั้งแต่ “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา …” จนถึง “… สังฆัง นะมามิ” เรียกว่า “คำนมัสการพระรัตนตรัย” บางฉบับก็เรียกว่า “คำกราบพระรัตนตรัย”

ดังจะให้เข้าใจว่า “บูชา” กับ “นมัสการ” หรือ “กราบ” เป็นการกระทำคนละอย่างกัน

ควรทราบว่าแต่เดิมท่านไม่ได้เรียกแยกแบบนี้ ท่านเรียกรวมกันไปว่า “คำบูชาพระ” หรือ “คำบูชาพระรัตนตรัย” คนรุ่นเรามาเรียกแยกเพื่ออะไรหรือด้วยเหตุผลอะไร ควรมีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือด้วยความมั่นใจ ไม่ควรทำตามๆ กันไปแล้วก็บอกกันว่า ไม่รู้สิ ก็เห็นเขาว่ากันอย่างนี้นี่ ฉันก็เลยว่าตามเขา

มีข้อสังเกตแถมอีกนิดหนึ่ง เวลากล่าวคำบูชาพระ ถ้าเริ่มต้นด้วย “อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง … ธัมมัง … สังฆัง ปูเชมิ” ก็จะต้องกล่าวต่อไปว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา …” จนถึง “… สังฆัง นะมามิ” เป็นอันจบการบูชาพระ จะไม่จบอยู่แค่ “… สังฆัง ปูเชมิ” 

แต่ก็มีบางที บางคน บางเวลา ตัดตอนเอาตั้งแต่ “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา …” คือไม่เอา “อิมินา สักกาเรนะ …” แบบนี้ก็นิยมกันอยู่มากพอสมควร

ได้ข้อยุติว่า คำบูชาพระมี ๒ ตอน 

ตอนแรก “อิมินา สักกาเรนะ …” 

ตอนหลัง “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา …” 

(๑) อาจตัดตอนเอาเฉพาะตอนหลัง “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา …” ก็ได้ 

(๒) แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยตอนแรก “อิมินา สักกาเรนะ …” ต้องว่าจนจบตอนหลังเสมอ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๑:๓๗

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *