บาลีวันละคำ

อภิชาตบุตร (บาลีวันละคำ 463)

อภิชาตบุตร

อ่านว่า อะ-พิ-ชาด-ตะ-บุด

บาลีเป็น “อภิชาตปุตฺต” อ่านว่า อะ-พิ-ชา-ตะ-ปุด-ตะ

ประกอบด้วย อภิ + ชาต + ปุตฺต

อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เฉพาะ, ข้างหน้า, ยิ่ง

ชาต” โดยทั่วไปแปลว่า เกิด, งอก, บังเกิดขึ้น, ผลิตขึ้น แต่เมื่อใช้ในประโยค มีความหมายเพิ่มขึ้นอีกเป็นว่า – แท้จริง, ตามธรรมชาติ, จริง, ดี, ใช้ได้

อภิ + ชาต = อภิชาต มีความหมายเฉพาะว่า เกิดมาดี, ถือกำเนิดในตระกูลผู้ดี, กำเนิดดี, ประพฤติดี, เป็นผู้ดี

ปุตฺต” ภาษาไทยใช้ว่า “บุตร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ) “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม” “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู

ความหมายที่เข้าใจกันคือ ลูกชาย, เด็ก, ผู้สืบสกุล

อภิชาต + ปุตฺต = อภิชาตปุตฺตอภิชาตบุตร มีความหมายว่า บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่าบิดามารดา

พระพุทธศาสนาแสดงบุตรไว้ 3 ประเภท ดังนี้ –

1. อภิชาตบุตร (บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา, ลูกที่ดีกว่าเลิศกว่าพ่อแม่ – superior-born son)
2. อนุชาตบุตร (บุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา, ลูกที่เสมอด้วยพ่อแม่ – like-born son)
3. อวชาตบุตร (บุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา, ลูกที่ทราม – worse-born son)

– อภิชาตบุตรในทางโลก คือลูกที่เรียนสูงกว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า หรือมีทรัพย์สินเงินทองมากกว่าพ่อแม่

– อภิชาตบุตรในทางธรรม คือลูกที่มีคุณธรรมสูงกว่าพ่อแม่

: เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นได้

21-8-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย